“วันนี้ที่รอคอย” ของคริสตชนคาทอลิก พระสันตะปาปาเยือนไทยในรอบ 35 ปี

Pope Francis arrives to lead the weekly general audience in Saint Peters Square, Vatican City, 05 June 2019. (Photo by Massimo Valicchia/NurPhoto via Getty Images)

รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง

ปัจจุบันเมืองไทยมีชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกจำนวน 388,468 คน มีเขตศาสนปกครอง (มิสซัง) 11 เขต มีพระสงฆ์ นักบวช 848 รูป มีวัด 526 แห่ง ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกกับเมืองไทยมีความสัมพันธ์กันมายาวนาน นับตั้งแต่ที่ได้เริ่มเข้ามาหว่านเมล็ดในเมืองไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ก่อนที่จะมีการสถาปนา “มิสซังสยาม” เมื่อปี ค.ศ. 1669 (พ.ศ. 2212)

ปีนี้ครบรอบ 350 ปีการสถาปนามิสซังสยาม และเป็นปีที่ดีมาก ๆ ของคริสตชนคาทอลิกที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสจะเสด็จเยือนประเทศไทย ตามคำเชิญของรัฐบาลไทย และสภาประมุขแห่งบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 20-23 พฤศจิกายนนี้ โดยการเสด็จครั้งนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการ ว่า APOSTOLIC JOURNEY OF HIS HOLINESS FRANCIS TO THAILAND ซึ่งการเสด็จมาเยือนเมืองไทยครั้งนี้เป็นเหมือนกับการที่ “พ่อเดินทางมาเยี่ยมลูก ๆ”

500 ปีคาทอลิกในไทย 350 ปี “มิสซังสยาม”

คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกเข้ามาสู่ประเทศไทยเป็นเวลามากกว่า 500 ปีแล้ว ปรากฏหลักฐานว่ามิสชันนารีคณะโดมินิกันได้เข้าสู่ประเทศไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1511 ก่อนที่คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกจะหยั่งรากอย่างมั่นคงเมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ 9 ทรงสถาปนา “มิสซังสยาม” หรือ Apostolic Vicariate of Siam เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1669 (พ.ศ. 2212) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของศาสนจักรคาทอลิกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากการเผยแพร่ศาสนาแล้ว มิสชันนารีและคริสตชนคาทอลิกได้นำวิทยาการจากตะวันตกเข้ามาช่วยพัฒนาประเทศไทยในด้านต่าง ๆ อีกทั้งยังประกอบกิจเมตตาสาธารณกุศลแก่ประชาชนโดยทั่วไป หากลองสังเกตจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์จะเห็นความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันระหว่างการเผยแพร่ศาสนาคริสต์กับความเจริญทางการศึกษา และการแพทย์-สาธารณสุข

จากก้าวแรกของคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกในสมัยกรุงศรีอยุธยาผ่านกาลเวลามาจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยเคยได้รับเสด็จสมเด็จพระสันตะปาปามาแล้ว 1 ครั้ง คือเมื่อครั้งสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 เสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะ ระหว่างวันที่ 10-11 พฤษภาคม ค.ศ. 1984 (พ.ศ. 2527) และครั้งที่ 2 ที่คริสตชนคาทอลิกรอคอยจะได้รับเสด็จสมเด็จพระสันตะปาปากำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในรอบ 35 ปี

ส่วนประมุขแห่งรัฐไทยเคยเสด็จฯเยือนสันตะสำนักแห่งนครรัฐวาติกันครั้งแรกเมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 เสด็จไปทรงเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอ ที่ 13 ระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินทวีปยุโรปเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1897 (พ.ศ. 2440) ครั้งถัดมารัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระบรมราชินีเสด็จไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 11 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1934 (พ.ศ. 2477) และครั้งล่าสุดรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จไปเข้าเฝ้านักบุญยอห์น ที่ 22 พระสันตะปาปา เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2503)

พระสันตะปาปาฟรังซิส ประมุขลำดับที่ 266

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส พระประมุขศาสนจักรโรมันคาทอลิก และพระประมุขแห่งนครรัฐวาติกัน ทรงเป็นพระสันตะปาปาลำดับที่ 266 มีพระนามเดิมว่า ฮอร์เก มาริโอ แบร์โกลิโอ ประสูติเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1936 (พ.ศ. 2479) ที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา

ด้านการศึกษา ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาเคมี จากมหาวิทยาลัยบัวโนสไอเรส และประกาศนียบัตรสาขาวิชาปรัชญาจาก Colegio Maximo San Jose ทรงเป็นอาจารย์วิชาวรรณกรรมและจิตวิทยาที่ Colegio de la Inmaculada และ Colegiodel Salvador นอกจากนั้น ทรงศึกษาวิชาเทววิทยา (theology) และดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ทางเทววิทยาที่มหาวิทยาลัย Facultades de Filosofia y Teologiade San Miguel

ด้านศาสนา พระองค์ทรงเข้าศึกษาในสามเณราลัยและได้ปฏิญาณตนเป็นนักบวชคณะแห่งพระเยซูเจ้า (เยสุอิต) เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 1958 ต่อมาทรงบวชเป็นพระสงฆ์ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 1969 สำหรับตำแหน่งสำคัญทางศาสนา ก่อนได้รับเลือกขึ้นเป็นพระสันตะปาปา พระองค์ทรงได้รับแต่งตั้งจากนักบุญยอห์นปอล ที่ 2 พระสันตะปาปาให้ดำรงตำแหน่งอาร์ชบิชอปแห่งเขตศาสนปกครองกรุงบัวโนสไอเรส ต่อมาได้รับการสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระคาร์ดินัลเมื่อปี ค.ศ. 2001

ระหว่างที่ทรงดำรงตำแหน่งอาร์ชบิชอปแห่งกรุงบัวโนสไอเรสนั้นพระองค์ทรงดำรงชีวิตแบบสมถะ เช่น มักเดินทางโดยใช้รถประจำทางหรือรถไฟฟ้าใต้ดินเพื่อไปปฏิบัติศาสนกิจและเยี่ยมเยียนคนยากจน ทรงประทับอยู่ในห้องชุดเรียบง่าย ทำอาหารด้วยพระองค์เอง ชาวบัวโนสไอเรสโดยทั่วไปรู้จักพระองค์ในนาม “คุณพ่อฮอร์เก้”

ต่อมาหลังจากที่สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 ทรงสละสมณศักดิ์เมื่อ ค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2556) พระองค์ทรงได้รับเลือกตั้งจากคณะพระคาร์ดินัลในการประชุม “คอนเคล็ฟ (conclave)” ให้ดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาสืบแทนนักบุญเปโตรหรือเซนต์ปีเตอร์เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ. 2013

เมื่อทรงตอบรับตำแหน่งพระสันตะปาปา พระองค์ทรงเลือกใช้พระนามว่า “Franciscus” ในภาษาละติน หรือ “Francis” ในภาษาอังกฤษ ซึ่งมาจากนามของนักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซีผู้ก่อตั้งคณะนักบวชฟรังซิสกัน ผู้ถือความสมถะ สนใจและเอาใจใส่ผู้ด้อยโอกาส ส่งเสริมสันติภาพ และรักษ์สิ่งแวดล้อม

จาริกเพื่อสันติภาพ-เสวนาระหว่างศาสนา

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสเสด็จเยือนไทยครั้งนี้เป็นการเสด็จเยือนตามคำเชิญของรัฐบาลไทย และสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย ซึ่งสำหรับพระองค์แล้วนี่คือการจาริกเพื่อสันติภาพ ดังคำกล่าวในการแถลงประกาศครั้งแรกที่ว่า

“สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงมีความโสมนัสยิ่งที่การเสด็จเยือนราชอาณาจักรไทยครั้งนี้เป็นการจาริกเพื่อสันติภาพ และเพื่อการเสวนาระหว่างศาสนา พระองค์จะประกอบพิธีมิสซาแบบสาธารณะ 2 ครั้ง คือ สำหรับบรรดาคริสตชนคาทอลิกทั่วประเทศ และอีกครั้งเป็นพิเศษสำหรับบรรดาเยาวชน”

อ.ชัยณรงค์ มนเทียรวิเชียรฉาย ที่ปรึกษาสมณสภาสื่อสารสังคม สำนักวาติกัน กล่าวถึงการที่สมเด็จพระสันตะปาปาเสด็จเยือนที่ต่าง ๆ ว่า พระองค์ผู้เป็นประมุข ในฐานะบิดา ต้องการจะไปเยี่ยมลูก ๆ ของพระองค์ ถึงแม้พระองค์อายุมาก และสุขภาพไม่สมบูรณ์ แต่พระองค์ปรารถนาจะไปเยี่ยมเยียนคริสตชน และประชากรทั่วโลก เพื่อจะนำสันติ ความรัก ความปรารถนาดีไปมอบให้

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงให้ความสำคัญกับสันติภาพมาก และพระองค์ทรงเน้นย้ำเสมอว่า เราทุกคนควรเสียสละตนเองเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก ไม่มีการกระทำใดที่เป็นการเสื่อมเสียเกียรติและศักดิ์ศรี หากการทำนั้นสามารถช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้รอดพ้นจากความเจ็บปวดได้ ดังที่ อ.ชัยณรงค์ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่พระองค์พยายามสร้างสันติภาพ เมื่อครั้งที่ประธานาธิบดีซูดานใต้เข้าเฝ้าพระองค์ที่วาติกัน พระองค์ทรงก้มลงจูบเท้าของเขา แล้วพูดว่า “โปรดช่วยกันสร้างสันติเถิด”

สำหรับการเสด็จเยือนไทยครั้งนี้มีกำหนดการเดินทางออกจากประเทศอิตาลี ในวันที่ 19 พฤศจิกายน เวลา 19.00 น. เดินทางถึงท่าอากาศยานทหารกองบิน 6 ดอนเมือง ในวันที่ 20 พฤศจิกายน เวลา 12.30 น. ซึ่งจะมีพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ ณ ท่าอากาศยาน จากนั้นเสด็จไปที่สถานเอกอัครสมณทูตวาติกันประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นสถานที่ประทับตลอดการเยือนประเทศไทย

ศาสนกิจเสด็จเยือนไทย

วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน

09.00 น. ทรงร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ ณ บริเวณลานด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล จากนั้นทรงพบนายกรัฐมนตรี คณะรัฐบาล ข้าราชการคณะทูตานุทูต และทรงปราศรัยภายในตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

10.00 น. เสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อมฺพโร) ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

11.15 น. เสด็จโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์เพื่อประทานโอวาทแก่บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลคาทอลิก 4
โรงพยาบาล จากนั้นเสด็จอวยพรผู้ป่วยผู้สูงอายุ ภายในอาคารร้อยปีบารมีบุญ โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ จากนั้นเสด็จกลับไปเสวยพระกระยาหารกลางวัน ณ สถานเอกอัครสมณทูตวาติกันประจำประเทศไทย

16.55 น. เสด็จเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

18.00 น. เสด็จทำพิธีบูชาขอบพระคุณ หรือพิธีมิสซา โดยสมเด็จพระสันตะปาปาทรงเทศน์ ณ สนามศุภชลาศัย

วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน

10.00 น. ทรงพบกับคณะบาทหลวงนักบวช นักพรต สามเณร ผู้ฝึกหัด ครูคำสอน และทรงปราศรัย ภายในวัดคาทอลิกนักบุญเปโตร อ.สามพราน จ.นครปฐม

11.00 น. ทรงพบบรรดาบิชอปของไทยและบิชอปของสหพันธ์สภาบิชอปแห่งเอเชีย (FABC) และทรงปราศรัย ณ สักการสถานบุญราศีนิโคลาสบุญเกิด กฤษบำรุง

11.50 น. ทรงพบคณะนักบวชเยสุอิตในประเทศไทยภายในห้องด้านหลังสักการสถานบุญราศี นิโคลาสบุญเกิด กฤษบำรุง จากนั้นเสด็จกลับไปเสวยพระกระยาหารกลางวัน ณ สถานเอกอัครสมณทูตวาติกันประจำประเทศไทย

15.20 น. ทรงพบผู้นำคริสตชนนิกายต่าง ๆ ผู้นับถือศาสนาอื่น ๆ ในประเทศไทย บรรดาผู้นำสถาบันการศึกษา คณาจารย์ นิสิตนักศึกษา พร้อมทั้งทรงปราศรัย ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

17.00 น. เสด็จทำพิธีบูชาขอบพระคุณสำหรับเยาวชน โดยสมเด็จพระสันตะปาปาทรงเทศน์ ณ อาสนวิหารอัสสัมชัญ บางรัก

วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน

09.15 น. พิธีการอำลาส่งเสด็จ ณ ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 กองบัญชาการกองทัพอากาศ อาคาร 2 ดอนเมือง

09.30 น. เครื่องบินพระที่นั่งออกเดินทางจากกรุงเทพมหานครมุ่งสู่กรุงโตเกียว

17.40 น. เสด็จถึงท่าอากาศยานกรุงโตเกียว-ฮาเนดะ มีพิธีการต้อนรับ ณ ท่าอากาศยาน