ร่องรอยและเรื่องราว…ชีวิตชาวจีนบนแผ่นดินไทย ณ ท่าเรือกลไฟแห่งสุดท้ายของลำน้ำเจ้าพระยา

รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง ภิญโญ ปานมีศรี : ภาพ

เมื่อปลายปี 2017 โครงการ “ล้ง 1919” เปิดตัวให้ผู้คนรู้จักว่าเป็น “ท่าประวัติศาสตร์ไทย-จีน” หลังจากกลุ่มอาคาร
รูปแบบจีนและโกดังสินค้าเหล่านี้อยู่ในสภาพทรุดโทรมมานานหลายสิบปี ในปี 2019 นี้ “ล้ง 1919” จะมีอายุครบ 100 ปีพอดี ซึ่งในปีพิเศษนี้จะมีกิจกรรมฉลองพิเศษ คือ การแสดงละครเวทีกลางแจ้ง “สี่แผ่นดิน THE LEGEND MUSICAL @ LHONG 1919” ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน-15 ธันวาคมนี้ กำกับการแสดงโดย บอย-ถกลเกียรติ วีรวรรณ ซึ่งจะนำเทคนิคลูกเล่นที่แตกต่างจากในโรงละครมาใช้ให้สมกับเป็นละครเวทีกลางแจ้ง และใช้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นฉากสำคัญของเรื่อง

ในโอกาสนี้ “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ได้ขอเปิดประตูห้องห้องหนึ่งในอาคารเก่าของ “ล้ง 1919” เข้าไปนั่งคุยกับ เปี๊ยะ-รุจิราภรณ์ หวั่งหลี สะใภ้ตระกูลหวั่งหลี ผู้ปลุกอดีตท่าเรือกลไฟแห่งนี้ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ซึ่งการไปเยือนครั้งนี้ เราได้ฟังเรื่องเล่า-เรื่องราวความสำคัญของ “ล้ง” กับชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี ที่สัมพันธ์กับเรื่องราวชีวิตของคนจีนที่มาแสวงหาโอกาสทองบนแผ่นดินไทย

ก่อนจะไปฟังเรื่องเล่าจาก “เจ้าบ้าน” ขอให้ข้อมูลก่อนว่า “ล้ง 1919” มาจากชื่อเดิมว่า “ฮวย จุ่ง ล้ง” เป็นภาษาจีน มีความหมายว่า “ท่าเรือกลไฟ” สร้างเมื่อปี ค.ศ. 1850 (พ.ศ. 2393 เป็นช่วงปลายรัชกาลที่ 3) โดยพระยาพิศาลศุภผล (ชื่น พิศาลบุตร) แต่ที่นับว่าครบรอบ 100 ปีในปีนี้นั้น เป็นการเริ่มนับตั้งแต่ “ฮวย จุ่ง ล้ง” เปลี่ยนเจ้าของมาเป็นของตระกูลหวั่งหลี เมื่อปี ค.ศ. 1919 ซึ่งตัวเลขตรงนี้เองเป็นที่มาของชื่อโครงการ “ล้ง 1919”

บนพื้นที่ประมาณ 6 ไร่ของท่าเรือกลไฟแห่งนี้ประกอบด้วย หมู่อาคารแบบ “ซาน เหอ หยวน” เป็นการวางผังอาคารแบบจีนโบราณ ลักษณะอาคาร 3 หลังเชื่อมต่อกันเป็นรูปตัว U อาคารประธานข้างในสุดหันหน้าออกทางแม่น้ำ เป็นที่ตั้งของศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว เทพที่ชาวจีนเชื่อว่าเป็นผู้อุปถัมภ์การเดินเรือทะเล เมื่อคนจีนเดินทางมาถึงเมืองไทยก็จะมาสักการะขอบคุณที่ช่วยให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ ส่วนการใช้งานในยุคที่ยังเปิดท่าเรือ อาคารอีกสองหลังที่ตั้งฉากกับแม่น้ำใช้เป็นสำนักงานและร้านค้าสำหรับโชว์ตัวอย่างสินค้าที่คนจีนนำเข้ามาขาย และสุดท้ายบริเวณริมแม่น้ำเป็นโกดังเก็บสินค้า

รุจิราภรณ์เล่าว่า เมื่อร้อยกว่าปีก่อน “ฮวย จุ่ง ล้ง” แห่งนี้ เป็นท่าเรือชาวจีนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ได้รับความนิยมมากที่สุด ชาวจีนนิยมนำเรือมาเทียบท่าและลงทะเบียนชาวต่างชาติที่ท่านี้ ดังนั้น ที่นี่จึงเป็นแหล่งการค้าของสังคมชาวจีนที่รุ่งเรืองมาก

ในปี ค.ศ. 1919 ตระกูลพิศาลบุตรได้ขาย “ฮวย จุ่ง ล้ง” ให้กับ นายตัน ลิบ บ๊วย แห่งตระกูลหวั่งหลี ณ เวลานั้น ท่าเรือกลไฟ “ฮวย จุ่ง ล้ง” ไม่อยู่ในช่วงรุ่งเรืองแล้ว เพราะเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากสงครามโลก การค้าขายไม่ดีอย่างเดิม ความคึกคักที่เคยมีจึงลดน้อยลงไป

ยิ่งในเวลาต่อมาเมื่อมีการเปิดการท่าเรือแห่งประเทศไทย จึงมีผลให้ท่าเรือกลไฟ “ฮวย จุ่ง ล้ง” ลดบทบาทลงไปมาก นายตัน ลิบ บ๊วย จึงปรับท่าเรือให้เป็นอาคารสำนักงานและโกดังเก็บสินค้าสำหรับกิจการการค้าด้านการเกษตรของตระกูลหวั่งหลี ส่วนห้องในอาคารที่เคยเป็นร้านค้าก็ถูกใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนงาน-บริวารตระกูลหวั่งหลี รวมถึงคนจีนที่เข้าแล้วมายังหาที่อยู่ที่อื่นไม่ได้ก็เช่าอาศัยอยู่ที่นี่เรื่อยมา จนกระทั่งอาคารทรุดโทรมมาก ทางเจ้าของจึงเจรจาตกลงกับผู้อยู่อาศัยให้ย้ายออกเมื่อสามสี่ปีก่อน

ด้วยความที่รุจิราภรณ์อยู่ในสายงานอาชีพออกแบบสถาปัตยกรรมและออกแบบตกแต่งภายใน เธอเล็งเห็นความสำคัญของที่นี่ทั้งในแง่สถาปัตยกรรม และคุณค่าทางประวัติศาสตร์ หลังจากที่ผู้อยู่อาศัยย้ายออกหมด เธอจึงเสนอโครงการว่าอยากจะรีโนเวตที่นี่ ไม่ควรปล่อยให้อาคารและสถานที่ที่มีค่าเช่นนี้พังลงไป ซึ่งก็ได้รับความเห็นชอบ ตระกูลหวั่งหลีมอบทั้งความไว้ใจให้เธอดูแลจัดการ และมอบเงินงบประมาณสำหรับการรีโนเวตจนสำเร็จลุล่วง

“เราไม่เคยคิดว่ามันจะทำเงินมาก ถ้าไม่ทุบทิ้งแล้วขายที่ดิน หรือทำอย่างอื่น เพราะที่ดินตรงนี้ราคาแพงมาก เราก็ต้องอธิบายให้เขาฟังว่า ความสำคัญของที่นี่มันสำคัญเหลือเกิน ในทางกฎหมายแล้วมันเป็นของตระกูลหวั่งหลี แต่สำหรับดิฉันสถานที่แห่งนี้ควรจะทำให้คนไทยได้เข้ามาชมเป็นสาธารณะ เราต้องทำยังไงที่จะรักษาที่นี่เอาไว้ในฐานะที่เขาเป็นคนสุดท้ายที่เหลืออยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา อยากเก็บเขาไว้เป็นมรดกวัฒนธรรมที่หลงเหลืออยู่ เราก็ต้องดูแลรักษา ต้องลงทุนเพื่อซ่อมแซมบูรณะขึ้นมา”

การบูรณะที่นี่ใช้งบประมาณเยอะ เพราะความยาก คือ รุจิราภรณ์ต้องการเก็บความเก่า เก็บอารมณ์และเสน่ห์ของความเป็นอาคารโบราณเอาไว้ ซึ่งวิธีการรีโนเวตแบบอนุรักษ์นั้นไม่สามารถลอกของเก่าออกแล้วทาสีให้ใหม่ได้ “เราต้องทำด้วยความเคารพอาคารเดิม โดยที่ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ต่อเติม ให้ความเคารพกับศิลปะเดิม และฟื้นฟูด้วยความระมัดระวังที่สุด”

รุจิราภรณ์อธิบายความสำคัญของ “ฮวย จุ่ง ล้ง” หรือ “ล้ง 1919” ว่า ที่นี่เป็นที่ที่ชาวจีนโพ้นทะเลเข้ามาตั้งรกรากสร้างเนื้อสร้างตัว ส่วนใหญ่เจริญรุ่งเรืองแล้วก็เป็นคนไทยเชื้อสายจีนในปัจจุบัน หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าบรรพบุรุษของตัวเองเริ่มต้นเหยียบสยามที่นี่ เพราะฉะนั้น เธอมองว่า ที่นี่ไม่ใช่แค่ท่าเรือ แต่เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมชุมชนด้วย

“ความสำคัญของสถานที่แห่งนี้คือเป็นสิ่งที่บรรพบุรุษทิ้งเอาไว้ให้ ขณะนี้อายุตั้งเกือบ 180 ปี เป็นอาคารซาน เหอ หยวน เป็นท่าเรือกลไฟแห่งสุดท้ายที่เหลืออยู่ ถ้านับจากปากน้ำขึ้นไปจนถึงอยุธยา ที่อื่นไม่เหลือแล้ว ล้งเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นหนึ่งที่สำคัญมากของฝั่งธนบุรี ถ้าจะมองธนบุรีให้เห็นภาพเต็มจริง ๆ ต้องมีล้งอยู่ในนั้นด้วย ล้งเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นใหญ่ในแง่วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์”

รุจิราภรณ์ชวนเรามองภาพริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรีว่า ต้องมองตั้งแต่การตั้งถิ่นฐานหลังจากที่เสียกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าตากสินฯทรงมาก่อตั้งกรุงธนบุรี พื้นที่ชุมชนที่เจ้าเป็นผู้อุปถัมภ์เริ่มตั้งแต่บริเวณคลองบางกอกใหญ่เรื่อยลงมาจนถึงวัดเศวตฉัตร โดยเธอไล่เรียงให้เห็นภาพว่า ที่ดินบริเวณไหนเป็นของตระกูลไหน เคยมีบทบาทมีความสำคัญอย่างไรบ้าง ไล่มาจนถึงที่ดินบริเวณปากคลองสาน ซึ่งเป็นที่ตั้งของ “ล้ง”

เธอบอกว่า ที่ดินปากคลองสานเป็นชุมชนชาวจีนและชาวมอญมาก่อนที่จะมี “ฮวย จุ่ง ล้ง” ซึ่งเหตุผลที่ทำให้เชื่อว่ามีชุมชนก็เพราะว่า บริเวณนี้มีวัดทองนพคุณ และวัดทองธรรมชาติ ขนาบอยู่ “ถ้าไม่มีชุมชนจะไม่มีวัด”

“พระยาพิศาลฯใช้ที่ดินตรงนี้สร้างท่าเรือกลไฟ ‘ฮวย จุ่ง ล้ง’ ซึ่งเป็นผลพวงของการเซ็นสนธิสัญญาเบาว์ริง สมัยก่อนหน้านั้น การค้าต้องผ่านหลวงเสมอมา แต่พอเซ็นสัญญาเบาว์ริงมีผลให้การค้าเปิดสามารถเซ็นสัญญาโดยตรงได้ การค้าก็รุ่งเรืองขึ้น สมัยนั้นที่นี่ถือว่าเป็นศูนย์กลางการค้าขาย เป็นทำเลที่ฮอตที่สุด คนจีนจะมาค้าขายต้องมาที่นี่ ถ้าเป็นฝรั่งจะไปท่าอีสต์เอเชียติก”

นอกจากนั้น ที่ “ฮวย จุ่ง ล้ง” แห่งนี้ยังมีบทบาทระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและจีนเลยทีเดียว ตามที่รุจิราภรณ์เล่าว่า แต่เดิมสยามเคยส่งเครื่องบรรณาการไปถวายจักรพรรดิจีนต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยอยุธยา พอถึงสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงทราบว่า สยามถูกจัดให้เป็นรัฐชั้นรอง พระองค์จึงให้เลิกส่งบรรณาการ การค้าทางการระหว่างไทยกับจีนจึงขาดไป ดังนั้นการค้าทั้งหมดระหว่างไทยกับจีนต้องสั่งผ่านคนจีนที่อยู่ในเมืองไทย ทำให้คนจีนในไทยบางตระกูลร่ำรวยขึ้นอย่างมาก ในเวลาต่อมามีการฟื้นสัมพันธไมตรีทางการทูตขึ้นมา “ฮวย จุ่ง ล้ง” ก็มีบทบาทเคยได้เป็นสถานที่ต้อนรับทูตจีน และถูกใช้เป็นเสมือนสำนักงานหอการค้าไทย-จีน ในบางช่วงเวลา

หลังจากที่ยุติบทบาทการเป็นท่าเรือ “ฮวย จุ่ง ล้ง” ก็ถูกใช้เป็นโกดังเก็บของและที่อยู่อาศัยของบริวาร เป็นที่ของกงสีตระกูลหวั่งหลี “คนไทยอาจจะคิดว่ากงสีเป็นเรื่องของพ่อ แม่ พี่ น้อง ครอบครัวเท่านั้น แต่กงสีสำหรับคนจีนรวมถึงบริวารที่ติดตามมาจากเมืองจีนด้วย หลงจู๊ คนงาน ก็จะอยู่รวมกัน กินรวมกันที่นี่ ขณะที่เจ้าสัวอยู่ที่บ้านข้าง ๆ”

รุจิราภรณ์บอกว่า เรื่องราวที่เล่าและอธิบายมา ก็เพื่อจะให้เห็นภาพว่า “ฮวย จุ่ง ล้ง” คือที่อยู่ของคนจีน ที่มาเริ่มต้นชีวิตบนแผ่นดินไทย และ “ล้ง” เป็นที่เดียวที่ยังหลงเหลือให้เราได้ดู การมาดูล้งก็คือการมาค้นหาว่าวิถีชีวิตของคนไทยเชื้อสายจีนที่เป็นคนธรรมดา ไม่ใช่เจ้านายในวัง เขาอยู่กันยังไง

“ถ้าใครมาดู ‘ล้ง’ ก็จะรู้สึกว่า เธอสวยนะ เพราะเธอเป็นสิ่งสุดท้ายที่ยังเหลืออยู่ และสำหรับดิฉันก็อยากจะให้ล้งอยู่ต่อไป ให้คนรุ่นหลังได้เข้ามา ถ้าสนใจก็มาศึกษา มาดู มาค้นหารากเหง้าของตัวเอง คนจีนหนีความแร้นแค้นเข้ามา ต้องการจะแสวงหาอนาคตที่สดใส และที่นี่คือที่ที่เขาเริ่มต้น ซึ่งอาจจะเป็นบรรพบุรุษของคุณก็ได้” เป็นการจบเรื่องเล่าที่ชวนให้อยากเข้าไปค้นหาเรื่องราว ณ ท่าเรือกลไฟแห่งนี้ต่อ…