คุยกับ “เศรษฐา ทวีสิน” แฟนหงส์ที่ไม่ตื่นเต้นกับการที่ลิเวอร์พูลจะคว้าแชมป์ลีกในรอบ 30 ปี

ฟุตบอลเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก และหนึ่งในสโมสรฟุตบอลที่มีแฟนบอลมากอันดับต้น ๆของโลก คือ สโมสรลิเวอร์พูล เจ้าของฉายา “เครื่องจักรสีแดง” (Red Machine) ที่คนไทยเรียกกันว่า “หงส์แดง” มากกว่า ลิเวอร์พูลมีแฟนบอลราว 600 ล้านคนกระจายอยู่ทั่วโลก เฉพาะที่อยู่ในเมืองไทยก็มากถึง 4 ล้านกว่าคน

ในจำนวนแฟนทีมหงส์แดงหลายล้านคนที่ว่านี้ มีคนหนึ่งชื่อ เศรษฐา ทวีสิน นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังแห่งแสนสิริ ที่สนใจฟุตบอลอย่างจริงจัง และเป็นคนที่มองฟุตบอลในเชิงคอมเมอร์เชียลได้คมและลึก ซึ่งเขาเคยนำแง่มุมที่น่าสนใจเกี่ยวกับกีฬาฟุตบอลมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านฟังในคอลัมน์ “เศรษฐากับกีฬา” ในหนังสือพิมพ์สยามกีฬารายวัน ต่อเนื่องกว่า 3 ปี และได้นำมารวมเล่มตีพิมพ์หนังสือชื่อเดียวกันด้วย

ณ เวลานี้ สโมสรลิเวอร์พูลภายใต้การคุมทีมของผู้จัดการทีมชาวเยอรมันนาม เยอร์เก้น คลอปป์ (Jurgen Klopp) กำลังจะคว้าถ้วยแชมป์พรีเมียร์ลีกครั้งแรก นับตั้งแต่ลีกสูงสุดของอังกฤษเปลี่ยนมาใช้ชื่อพรีเมียร์ลีก ซึ่งนี่เป็นการคว้าแชมป์ลีกสูงสุดครั้งแรกในรอบ 30 ปีของทีมสีแดงแห่งเมืองลิเวอร์พูล จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่งที่ “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” จะถือโอกาสอันน่าตื่นเต้นนี้ไปพูดคุยกับ เศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เกี่ยวกับเรื่องที่เขาชอบและเคยบอกว่า “ชอบคุย” มากที่สุด

Q : คำถามแรก อยากให้คุณเศรษฐาเล่าจุดเริ่มต้นความสนใจกีฬาฟุตบอล

เริ่มตั้งแต่สมัย 50 กว่าปีก่อน ที่โรงเรียนผมเล่นกีฬาฟุตบอล มันเริ่มต้นจากตัวเองชอบเล่นอะไรก่อน ทุกวันนี้ยังเล่นอยู่นะ สมัยก่อนมีหนังสือ “สตาร์ ซอคเก้อร์” ที่เราอ่านข่าว แน่นอนเราก็ถูกชี้นำโดยสื่อ และสมัยก่อนปลายยุค 1970s ต้นยุค 1980s ทีมที่ยิ่งใหญ่ก็คือ ทีมลิเวอร์พูล แต่จริง ๆ แล้วผมเป็นคนสนใจทีมที่เล่นสนุกมากกว่า ถ้าถามทีมที่เชียร์ก็คือ เชียร์ลิเวอร์พูล แต่ผมมั่นใจว่าผมเป็นแฟนลิเวอร์พูลที่ดูฟุตบอลได้แบบมีความเป็นกลาง และเข้าใจว่าอะไรถูกอะไรผิด

Advertisment

Q : ที่บอกว่าชอบทีมเล่นสนุก แปลว่าตอนนี้อาจมีทีมอื่นที่ชอบอีก

Advertisment

แน่นอน ตอนนี้แมนฯซิตี้เล่นสนุกสุด ผมเพิ่งไปดูมานัดกับสเปอร์ส แมนฯซิตี้เล่นบอลสวยสุด สนุกสุด มีความหลากหลาย มีอะไรหลาย ๆ อย่าง เพียงแต่เขาพลาดหลายอย่าง เช่น เซ็นเตอร์ฮาล์ฟเจ็บ และให้ แว็งซองต์ กอมปานี (Vincent Kompany) ซึ่งเป็นกัปตันทีมรีไทร์ไป แล้วแฟร์นานดินโญ่ (Fernandinho) ที่เป็นกลางรับก็ต้องถอยไปเล่นเซ็นเตอร์ อะไรเหล่านี้ทำให้ความลงตัวไม่มี แต่เขามีความหลากหลาย อย่างเช่น ความเร็วก็มีทั้งมาห์เรซ (Riyad Mahrez) ทั้งสเตอร์ลิง (Raheem Sterling) คนดึงจังหวะเก่ง ๆ ก็มีทั้งดาบิด ซิลบา (David Silva) เควิน เดอ บรอยน์ (Kevin De Bruyne) ซึ่งมันมีความหลากหลายกว่า ศูนย์หน้าธรรมชาติอย่าง อเกวโร (Sergio Aguero) ก็พร้อม ผมว่าเขามีความพร้อม

Q : ที่ชอบลิเวอร์พูลเพราะว่าตอนนั้นลิเวอร์พูลรุ่งเรืองและเล่นสนุกสุด

ดุดัน เล่นฟุตบอลได้สนุก เร้าใจ แต่ผมยืนยันเลยว่า ผมดูบอลได้อย่างเป็นกลาง ไม่ใช่ว่าเป็นแฟนพันธุ์แท้แล้วคุยด้วยเหตุด้วยผลไม่ได้ อย่างเรื่องแมนฯยูฯที่ซื้อเฟอร์นันเดส (Bruno Fernandes) มา แล้วเรียกกันว่า “นิวโรนัลโด้” ใจเย็น ๆ นิดนึง เวลาคนเราบ้าอะไรก็อยากให้ดี แต่ว่าสิ่งที่คุณอยากให้เป็นกับสิ่งที่มันเป็น คุณต้องแยกให้ถูกมันถึงจะสนุก ถึงจะเข้าใจโลกความเป็นจริงสมัยนี้โซเชียลมีเดียสำคัญมาก พวกนักเตะเก่ง ๆ เขามีฟอลโลเวอร์เท่าไหร่ อำนาจตรงนี้สามารถทำเงินให้เขาได้มาก ทำให้นักเตะมีความเป็นตัวเองสูง คนสำคัญที่สุดที่มีบทบาทในการควบคุมก็คือโค้ช ถ้าโค้ชไม่เก่ง บารมีไม่ถึง มันไม่มีทางคุมพวกนี้ได้หรอก นักเตะเองก็รู้ว่าทีมที่ดีจริง ๆ ต้องมีโค้ชที่ดี ถ้าโค้ชไม่ดีเขาจะมาทำไม โซลชาร์ ผมว่าเอ่ยชื่อแล้วนักเตะดี ๆ เขาไม่อยากมา

สมัยนี้กีฬามันถูกเปลี่ยนแปลงไปมากด้วยอำนาจของโซเชียลมีเดีย หรืออำนาจในการหาตังค์ของนักเตะนอกสนาม มันเป็นธรรมดาของโลกที่เปลี่ยนไป ฉะนั้น วงการกีฬาก็ต้องเปลี่ยนไป สมัยก่อนชื่อสโมสรดี ลิเวอร์พูล แมนฯยูฯใครก็อยากมา แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ใช่ เขาดูเจ้าของทีมก่อน ดูโค้ชก่อน สนามใหญ่ไหม อยู่ที่ไหน เมืองใหญ่ ๆ มีอิทธิพลในการที่จะทำให้นักเตะย้าย เพราะมันมีเรื่องครอบครัว การใช้ชีวิต ฉะนั้น เมืองอย่างลอนดอน ทีมจะมีภาษีในการดึงดูดนักเตะชั้นยอด ก็เป็นธรรมดาของธุรกิจการกีฬาที่มันเปลี่ยนแปลงไป โลกมันเปลี่ยนไปเยอะ จากเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว มีเรื่องเงินที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดมหาศาล อะไรเหล่านี้ผมว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องกีฬาพอสมควร

Q : อยากให้เปรียบเทียบลิเวอร์พูลจากยุคที่เริ่มชอบมาจนถึงยุคนี้

ผมว่าเปรียบเทียบอย่างนี้ดีกว่าว่า กีฬาที่มันเปลี่ยนแปลงมันเปลี่ยนอะไรไปบ้าง ซึ่งมันก็ใช้ได้กับทุกทีม อิทธิพลเรื่องเงินมีความสำคัญสูงอันดับหนึ่งเลย อย่างนักเตะสมัยก่อน คืนก่อนแข่งยังกินเหล้า ยังเที่ยวดึกอยู่ แต่เดี๋ยวนี้นักเตะทุกคนดูแลตัวเองดี เพราะมันเห็นใน performance ผมว่าวิทยาศาสตร์การกีฬา วิทยาศาสตร์การอาหาร เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเยอะมาก ทำให้นักเตะต่างจากสมัยก่อน สมัยก่อนใช้ระบบการเล่น 4-2-4 ไม่ต้องวิ่งทั่วสนาม แต่เดี๋ยวนี้เป็นระบบ total football ทุกคนวิ่งขึ้นลงหมด แต่เปลี่ยนแปลงยังไงก็เหมือนกัน ทุกทีมพยายามมุ่งมั่นเอาชนะทั้งนั้น ซึ่งคนที่มีบทบาทสำคัญในการวางแผนการเล่นมันก็แล้วแต่โค้ชแต่ละคน

Q : มองว่าคลอปป์แตกต่างจากผู้จัดการทีมคนก่อน ๆ ยังไงบ้าง อะไรคือจุดเด่นที่ทำให้เขาพาทีมประสบความสำเร็จ

ผมว่าทุกคนก็มีความต่าง คลอปป์เขาพาดอร์ตมุนด์เข้าชิงแชมเปี้ยนส์ลีก เป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของบาเยิร์น มิวนิก เขาได้เปรียบในแง่ของชื่อเสียง เขามาด้วยชื่อเสียงที่เป็นคนประสบความสำเร็จมาแล้ว เพราะฉะนั้น นักเตะต้องเคารพ เขามีบารมี โค้ชต้องมีบารมี ถ้ามีบารมีทุกอย่างมันง่ายหมด และเขามี technical skill ที่ดี เขามีการบริหารจัดการที่ดี เขากระตุ้นเร้าใจตลอด ผมว่าเขามี passion มีความหิวกระหายตลอด

Q : มองว่าลิเวอร์พูลจะรักษามาตรฐานระดับนี้ต่อไปได้ไหม ต้องมีหรือต้องทำอะไรบ้างถึงจะรักษาความสำเร็จไว้ได้

ผมคิดว่ามีทั้งขึ้นทั้งลงครับ แต่ไม่รู้จะนานขนาดไหน ก็ขึ้นอยู่กับโชคกับการบาดเจ็บของนักเตะ ขึ้นอยู่กับการที่เราลงทุนในอะคาเดมี่ด้วย ซึ่งตอนนี้หลายทีมก็ลงทุนสูง และการที่ทีมจะทำยังไงให้นักเตะรุ่นใหม่มีพื้นที่เล่นบ้าง ไปเป็นพันธมิตรกับสโมสรเล็ก ๆ เพื่อที่จะส่งเด็กไปให้เขายืมตัวหรือเปล่า มันเป็นธุรกิจที่จะต้องครบวงจรพอสมควรเหมือนกัน มันมีหลายประเด็นหลายปัจจัยเหลือเกิน มาเน่ (Sadio Mane) ฟีร์มิโน่ (Roberto Firmino) ซาลาห์ (Mohamed Salah) ก็ไม่ได้อยู่ค้ำฟ้า พรุ่งนี้ ฟาน ไดจ์ค (Virgil van Dijk) ถูกซื้อตัวไปก็จบ จะมีฟาน ไดจ์ค 2 หรือเปล่า ถ้าเป็นโค้ชที่มีบารมีเยอะ ๆ คนก็อยากมาอยู่ด้วย หรือเรื่องเจ้าของทีมจะขายไหมตอนที่ value สูงสุด รู้สึกว่าเพิ่งเซ็นสัญญากับไนกี้ไป มูลค่าสูงที่สุดเลย 80 ล้านปอนด์ต่อปี คือมันมาหมด เข้าแชมเปี้ยนส์ลีกรอบลึก ๆ ก็ได้เงินเยอะ สนามเต็มตลอดก็ได้เงินเยอะ ค่าลิขสิทธิ์ส่วนแบ่งก็สูง เงินก็สร้างเงินต่อไป ชอบหรือไม่ชอบ แฟร์หรือไม่แฟร์ก็อีกเรื่อง แต่เงินซื้อความสำเร็จได้ส่วนหนึ่ง

Photo by Paul ELLIS / AFP

Q : ถ้าลิเวอร์พูลประสบความสำเร็จต่อเนื่องสัก 3 ปี มีโอกาสที่จะขึ้นไปเป็นทีมที่มีมูลค่าสูงสุดได้หรือเปล่า

ผมว่าลำบาก มันไม่ใช่แค่ 3 ปี 5 ปี ผมว่ามันเป็นเรื่องทำเลที่ตั้งของเมืองด้วย มันเป็นเรื่องขนาดของสนามด้วย สนามลิเวอร์พูลความจุแค่ 40,000 กว่าคน ผมว่าอย่างลิเวอร์พูล 80,000 ที่นั่งก็คนเต็ม แต่ด้วยกายภาพของทำเลที่ตั้งมันไม่ได้ เมืองก็ไม่ใหญ่

Q : ถ้าจะเป็นไปได้ต้องมองไปไกลหลังจากมีการวางแผนสร้างสนามใหม่

อย่าไปมีความหวังจะเป็นทีมที่มีมูลค่าสูงสุด เป็นทีมที่ประสบความสำเร็จให้ได้และเอาชนะอย่างต่อเนื่อง แล้วมีความตั้งใจที่จะพัฒนาสโมสรหลาย ๆ อย่างดีกว่า การที่ทีมจะดีได้ ผมว่าเจ้าของทีมต้องมีวิสัยทัศน์ที่ดี ตัวอย่าง เช่น เลสเตอร์ ที่ท่านวิชัยไปทำ ท่านทำทั้งโรงพยาบาล ทั้งมหาวิทยาลัย สร้างโรงแรม สร้างหลายอย่าง ก็มีส่วนทำให้ทีมยิ่งใหญ่ขึ้น เรื่อง CSR สำคัญ ต้องสร้างเมือง ต้องให้โอกาสเด็กในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม ผมว่ามันมีองค์ประกอบเยอะ ผมจำกัดความว่า ความยิ่งใหญ่ไม่ใช่ทีมที่มีมูลค่าสูงสุด ไม่ใช่ได้แชมเปี้ยนส์ลีกเยอะสุด แต่เป็นทีมที่ตั้งอยู่บนความสำเร็จ ซึ่งความสำเร็จนี้วัดได้โดยสังคมที่สโมสรนั้นตั้งอยู่

Q : คิดว่าการเริ่มยุคทองของลิเวอร์พูลจะมีส่วนเปลี่ยนพรีเมียร์ลีกไปมากน้อยแค่ไหน

ก็ไม่เปลี่ยนนะ ผมว่าคนเราก็ต้องสู้กันไป การแข่งขันก็จะสูงขึ้น เรื่องตลาดซื้อขายนักเตะซัมเมอร์นี้น่าจะดุเดือด เพราะปีนี้ลิเวอร์พูลแต้มขาด เพราะฉะนั้น ทีมที่จะมาสู้ไม่ว่าจะเป็นแมนฯซิตี้ หรือแมนฯยูไนเต็ด ถ้าเขามี ambition เขาจะซื้อเยอะ แต่ผมบอกได้เลยนะ แมนฯยูฯถ้าไม่เปลี่ยนโค้ชก็ไม่มีใครมาหรอก

Q : อย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด พอผลงานในสนามไม่ประสบความสำเร็จ มันจะส่งผลให้ความสำเร็จทางธุรกิจตกลงในเร็ว ๆ นี้ด้วยไหม

ขึ้นอยู่กับเจ้าของทีม ผมเชื่อว่ามันเป็นอะไรที่ระยะสั้น ถ้าเจ้าของทีมมีเจตนารมณ์แน่วแน่ที่จะประสบความสำเร็จ ผลงานในสนามมันมีขึ้นมีลง ในช่วงลงคุณต้องตัดสินใจให้ถูก คุณต้องจ้างโค้ชเก่ง ๆ ก่อน คุณสมบัติอื่น ๆ คุณครบ สนามคุณดี ชื่อเสียงคุณดี เงินคุณมี ส่วนแฟนบอลต้องอย่าคาดหวังว่าปีหน้าจะกลับมาชนะเลิศ ผมว่า 5 ปีกลับมาเก่งได้ก็ดี เพราะตอนนี้อะคาเดมี่ของแมนฯยูฯไม่มีใครเลย ต้องกลับไปสร้าง ไปหาเด็กที่เก่ง ๆ มาก่อน สโมสรมี heritage ที่ดี แต่ขาดโค้ช โซลชาร์ไม่ได้เป็นโค้ชที่ไม่ดี แต่เป็นโค้ชที่ไม่ดีพอสำหรับแมนฯยูฯ เพราะสโมสรมันใหญ่เกินตัวเขา

Q : ฝั่งลิเวอร์พูลมีห่วงเรื่องไหนไหม หรืออะไรที่อยากคอมเมนต์

ผมไม่ห่วง ผมถือว่าเป็นความสนุก ผมไม่ได้เป็นฮาร์ดคอร์ แฟนที่กินไม่ได้นอนไม่หลับหรือหัวเสียเวลาเขาแพ้ นัดไหนสู้ไม่ได้ก็แพ้ก็จบ ตอนนี้ผมว่าวิธีการบริหารจัดการที่ดีก็คือ ทำยังไงให้ผู้เล่นแถวสองมีโอกาสได้เล่นบ้าง ทุกวันนี้ถ้าใครเจ็บไปจะมีตัวเล่นแทนได้ไหม มันต้องไม่หยุดพัฒนา ต้องซื้อต้องพยายามลงทุนอย่างต่อเนื่อง ถ้าผมเป็นลิเวอร์พูล ผมจะพยายามขุนอะคาเดมี่ spend เงินเยอะ ๆ พยายามไป recruit เด็กเล็ก ๆ มาอยู่ด้วย มาปลูกฝังมาฟูมฟักให้ดีสำหรับอนาคต

Q : ฟุตบอลเป็นเหมือนองค์กรธุรกิจระดับโลกขนาดใหญ่มาก คุณเศรษฐามองเห็นแนวทางการทำธุรกิจของแต่ละลีกต่างกันยังไงบ้าง

เยอรมัน เป็นลีกที่มีความลงตัวเยอะ สโมสรเป็นของคนดู เป็นมหาชนของจริง ไม่มีผู้ถือหุ้นชาวต่างชาติเยอะ เป็น national passion จริง ๆ และมีวินัยการเงินการคลัง ไม่ซื้อนักเตะสุรุ่ยสุร่าย เป็นลีกที่มีความลงตัว มีความเหมาะสม และสม่ำเสมอในแง่ของการอยู่ระดับท็อป

ฝรั่งเศส ย่ำแย่เพราะเศรษฐกิจ ทีมไม่มีสตางค์ มีอยู่ทีมเดียว คือ ปารีส แซงต์-แชร์กแมง การแข่งขันในลีกก็ไม่สูสี เด็กก็ไม่พัฒนา ไม่เข้มข้น พอไปแข่งแชมเปียนส์ลีกก็ตกรอบ

อิตาลี มีปัญหาเรื่องล้มบอล มีปัญหาเรื่องการเงิน ทีมใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จ ก็มีแต่ยูเวนตุสทีมเดียว เป็นลีกที่มีความยั่งยืน แต่เป็นลีกที่เอานักเตะวัยร่วงโรยไปอยู่เยอะ

2 ลีกที่เป็นคู่แข่งกันอยู่ตลอดเวลา เป็นเจ้าบุญทุ่มตลอดก็คือ ลาลีกา สเปน กับพรีเมียร์ลีก อังกฤษ

สเปนมีคนดูเยอะอยู่แล้ว ทีมใหญ่มี 2 ทีม คือ บาร์เซโลน่ากับเรอัล มาดริด อาจจะมีแอตฯมาดริดมาแทรกบ้าง แต่ก็ไม่ได้ เพราะ 2 ทีมมันใหญ่เกินไป มันสอดแทรกขึ้นมายาก การแข่งขันน้อยมันก็ไม่สนุก

การแข่งขันของอังกฤษมีเยอะกว่า มี 6-7 ทีมที่สามารถทำได้ มันก็สนุก และพรีเมียร์ลีกมีเสน่ห์ตรงที่มีความดุดัน เข้าบอลแรง ถึงใจ สปีดบอลเร็ว มีความเร้าใจ คนถึงชอบดูพอคนดูเยอะ ค่าลิขสิทธิ์ก็แพง ส่วนแบ่งให้สโมสรก็เยอะ มันก็มาตามสเต็ปอย่างนี้ ในแง่การบริหารธุรกิจก็ต่างกัน ผมว่าเขามีความเป็นมืออาชีพสูง เปิดกว้าง มีการแข่งขัน

Q : ถ้าเลือกบริหารสโมสรฟุตบอลได้ โดยไม่ต้องเอาเงินตัวเองไปซื้อ จะเลือกบริหารทีมไหน เพราะอะไร

ไม่มี ดูฟุตบอลสนุกกว่า ไม่เกี่ยวกับเรื่องสตางค์ แต่มันมีองค์ประกอบเยอะเหลือเกิน มันต้องเป็นงานที่ฟูลไทม์ คุณบริหารแสนสิริ คุณบริหารอะไร มี 4 เสาที่ค้ำคุณอยู่ คือ ลูกค้า สตาฟ ผู้ถือหุ้น และสังคม แล้วถ้าคุณเป็นเจ้าของทีมฟุตบอล คุณบริหารอะไรบ้าง ไม่ต่างเลย ก็มีสี่ห้าเสา นักเตะ แฟนคลับ สังคม ความคาดหวัง นักข่าว มันเยอะไปหมดมันเป็นงานที่ใหญ่ ผมคิดว่าผมมีความสามารถไม่พอที่จะทำให้มันดีได้ ถ้าทำคุณต้องพาทีมไปสู่จุดสูงสุดให้ได้ ต้องทำให้ลิเวอร์พูลยิ่งใหญ่ได้ และคำว่ายิ่งใหญ่ของผมไม่ใช่ในแง่การได้แชมเปี้ยนส์ลีก หรือได้พรีเมียร์ลีก 5 สมัยติดต่อกัน แต่คุณต้องทำให้ทีมมีภาพลักษณ์ที่ดี นักเตะไม่ด่างพร้อย ต้องมีส่วนผสมของนักเตะที่เป็น homegrown ในเปอร์เซ็นต์ที่สูง ต้องมีสนามแข่งที่ดี มีการคืนประโยชน์ให้สังคม ต้องพัฒนาเมืองที่เราอยู่ควบคู่กันไป โปรเจ็กต์นี้ไม่ใช่ 3 ปี 5 ปีแต่เป็น 10-20 ปี ผมอายุจะ 60 อยู่แล้ว ผมยอมแพ้ ไม่ไหว

Q : ดูฟุตบอลศึกษาลงลึกขนาดนี้ ได้เรียนรู้อะไรมาปรับใช้กับการทำงานของตัวเองบ้าง

มันก็เสริมกันไปซึ่งกันและกันนะ ผมว่าบางวันของคุณก็ขายดี บางวันของคู่แข่งก็ขายดี ก็เหมือนฟุตบอลที่วันนี้คุณแพ้ พรุ่งนี้คุณชนะ มันเหมือนกันคือคุณต้องตื่นขึ้นมาทำงานจะแพ้หรือชนะ คุณก็ต้องทำงานหนัก ต้องขวนขวายหาจุดแข็ง-จุดอ่อนของคุณ เจอจุดอ่อนก็ต้องพัฒนา ทำธุรกิจมันเหมือนกันหมด เพียงแต่คุณมีโอกาสจะทำอะไรเท่านั้นเอง การบริหารทีมฟุตบอล มันก็เป็นความท้าทาย ซึ่งถามว่าอยากไหม ก็อยากนะ แต่ว่าดูศักยภาพแล้ว เราอยู่ในวัยที่ทำไม่ได้แล้ว ผมว่ามัน require a lot of attention ทั้ง 2 อย่าง

Q : ตอนที่เข้าไปทำทีมชาติไทยเป็นยังไงบ้าง

คุณกิตติรัตน์ทำซะส่วนใหญ่นะ ผมก็ได้ศึกษาได้เรียนรู้ว่า เรายังอีกไกล ตอนนี้หลายอย่างก็ดีนะ แต่ก็ยังอีกไกล นักเตะดี ๆ ก็ไปหากินที่เมืองนอก เพราะว่าลีกเรามันไม่แข็งแรงพอที่จะให้เขาไปเจริญเติบโตได้

Q : การที่เรามีนักเตะออกไปเล่นลีกต่างประเทศจำนวน 3-4 คน มันเพียงพอที่จะมาช่วยพัฒนาทีมชาติของเราไหม

ถ้าพูดถึงในระยะสั้นไม่ แต่ถ้าพูดถึง inspiration นี่แน่นอนดูอย่าง เจ (ชนาธิป) ไป เด็ก ๆ หลายคนก็อยากเป็นอย่างเขา มีความมุ่งมั่น มีวินัย ขยันในการซ้อมที่อยากจะเป็นอย่างเขา

Q : การที่กองเชียร์หรือสื่อเราเชียร์กันเองมากเกินไปจนลืมมองศักยภาพจริง ๆ มันส่งผลเสียต่อการพัฒนาไหม

ไม่นะ เราก็ต้องเชียร์อย่างเต็มที่ ถึงแม้ว่าเราจะสู้เขาไม่ได้ ผมว่าคนไทยเชียร์ทีมฝรั่งเยอะเกินไปนิดนึง ก็เข้าใจนะว่าทีมไทยมันสนุกไม่เท่าฝรั่ง ผมอยากฝากไว้นิดนึงว่าเวลาทีมชาติไทยเตะก็ไปเชียร์ไปให้กำลังใจเขาหน่อย ถ้าไปเชียร์เขา เขามีกำลังใจ เขาเล่นได้ดี วันหลังแมวมองของทีมเหล่านี้ก็อาจจะเอาเขาไปเล่นก็ได้

Q : ลิเวอร์พูลกำลังจะได้แชมป์พรีเมียร์ลีก คุณตื่นเต้นเหมือนแฟนหงส์คนอื่น ๆ ไหม

ไม่เลย ปีที่แล้วผมไปดูนัดชิงแชมเปี้ยนส์ลีกที่ชนะสเปอร์ส ปีนี้ผมก็เพิ่งไปดูที่แพ้มาดริดมา ผมดูเป็นความบันเทิง ไม่ใช่เป็นอะไรที่ต้องมาเครียด หรือเป็นอะไรที่ต้องเยอะ บางคนก็เยอะเกินไปนิดนึง แล้วบางทีมันเกิดเป็นการทับถมกัน ผมว่าอย่าไปอินกับมันมากเลย ให้มันอยู่ในความเหมาะสม น้ำขึ้นก็มีน้ำลง แพ้ก็มีชนะ มันเป็นธรรมดา ผมว่าโฟกัสสิ่งที่เราเป็นอยู่ดีกว่า เรามีหน้าที่อะไร บางคนลืมไปเลย ดูฟุตบอลแข่งตี 2 ตี 3 แล้วไม่ตื่นมาทำงาน สำหรับตัวผม ถ้าเป็นนัดที่ส่งผลกับการทำงานผมไม่ดูนะ นัดกลางสัปดาห์ แชมเปี้ยนส์ลีกรอบรองผมก็ไม่ดู เสาร์อาทิตย์ถึงจะดู แต่ถ้าเป็นคู่เที่ยงคืนครึ่งผมก็ไม่ดูนะ ผมดูแค่รอบสี่ห้าทุ่ม เพราะผมมีหน้าที่ ผมนอนเร็วทำงานเช้า เรามีพนักงาน 4,000 คนที่เราต้องรับผิดชอบ

Q : แบ่งเวลาไปเตะฟุตบอลสัปดาห์ละกี่ครั้ง

ถ้าผมอยู่กรุงเทพฯ ผมอยากจะเตะอาทิตย์ละ 3 หน หรือบ่อยกว่านั้นก็ได้ถ้ามีเวลา

Q : จะบินไปดูลิเวอร์พูลนัดรับถ้วยแชมป์ไหม

ไม่เลย ไม่ไปแน่นอน ผมอยากไปดูความสนุก ผมไม่ได้ไปเพื่อดีใจ หรือไปเพื่อเซลฟี ผมไม่ใช่คนที่ต้องไปฉลอง นัดสุดท้ายสมมุติเราไปเล่นกับวัตฟอร์ด มันจะสนุกที่ไหนล่ะ ผมไปดูแมนฯซิตี้เล่นกับเลสเตอร์ขับเคี่ยวกันมันกว่า

Q : ไม่ได้คิดว่าฉันต้องไปอยู่ในประวัติศาสตร์เหรอ

ไม่ คุณไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเขาเลย คุณไม่ได้ไปซ้อมกับเขา คุณไม่ได้เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์