แกะรอยประวัติศาสตร์ K-Pop จากยุคแรกเริ่ม จนถึงกระแส “Blackpink in Your Area”

ธนพงษ์ พุทธวนิช : เรื่อง

ครั้งหนึ่งมหาอำนาจตะวันตกอย่างสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา เคยส่งออกวัฒนธรรมร่วมสมัยและดนตรีจนมีศิลปินได้รับความนิยมตราตรึงในความทรงจำคนทั่วโลก ผลงานของเหล่าศิลปินจากโลกตะวันตกแทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิตคนทั่วไปมาเป็นเวลายาวนาน แต่หลายทศวรรษที่ผ่านมา ศิลปินที่นำวัฒนธรรมร่วมสมัยเข้ามาในวิถีชีวิตคนวงกว้างมากขึ้นเป็นศิลปินจากประเทศเกาหลีใต้

สำหรับแฟนเพลงในภูมิภาคเดียวกันคงพอทราบถึงความนิยมของศิลปินจากเกาหลีใต้ ภายใต้นิยามที่เรียกว่า “K-pop” อันย่อมาจาก Korean pop ที่นับตั้งแต่กระแสจุดดังเปรี้ยงปร้างในต้นยุค 1990s ศิลปิน K-pop กระจายเข้าไปอยู่ในตลาดตะวันตก และเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

Photo by GEOFFROY VAN DER HASSELT / AFP


ในระยะ 2 ปีมานี้ ฐานแฟนเพลง K-pop ขยายตัวในระดับที่น่าจับตา Korea Foundation เอ่ยถึงตัวเลขฐานแฟนเพลงเกาหลีทั่วโลกในปี 2019 ระบุว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 11% คิดเป็นเกือบ 100 ล้านคน

รอบปีที่ผ่านมา ไม่ได้มีเพียงกระแส BTS อันเป็นกลุ่มศิลปินชายที่ความนิยมแพร่หลายไปถึงฝั่งอเมริกา ยังมี Blackpink (แบล็กพิงก์) เป็นกลุ่มศิลปินหญิงที่สร้างความนิยมในระดับโลก มีบทบาทและพื้นที่ในวงการบันเทิงอุตสาหกรรมดนตรี ไปจนถึงวิถีชีวิตของคนหลายรุ่น ยิ่งเมื่อ Blackpink กลับมาพร้อมกับผลงานใหม่ก็เกิดปรากฏการณ์ที่น่าสนใจหลายแง่

“ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ชวนสำรวจอิทธิพลของวัฒนธรรมร่วมสมัยจากเกาหลี ย้อนกลับไปทำความรู้จัก-เข้าใจ K-pop ยุคแรกเริ่ม มาสู่คลื่นศิลปินหลายระลอกที่ล้วนมีผลต่อฐานแฟนเพลงจนส่งอิทธิพลต่อคนในหลายสังคม หรือแม้แต่อิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศของเกาหลีใต้เอง

Photo by Ed JONES / AFP


จาก K-pop ยุคเริ่มสร้างชื่อ…สู่ยุคอินเทอร์เน็ต

เมื่อปี 2012 เพลง Gangnam Style ของ Psy (ไซ) แรปเปอร์เกาหลีโด่งดังเป็นพลุแตก เรียกได้ว่าเป็นไวรัลครั้งใหญ่อีกหนหนึ่งในโลก แต่หากมองลึกและย้อนหลังไปกว่านั้น ดนตรี K-pop ก่อตัวขึ้นก่อนหน้านั้นราว 2 ทศวรรษและเติบโตไต่กราฟความนิยมเรื่อยมา

ในปี 1987 เป็นจุดสิ้นสุดของรัฐบาลทหารในเกาหลีใต้ ปีต่อมามีจัดโอลิมปิกฤดูร้อนที่โซล ประเทศเกาหลีใต้ มหกรรมกีฬาครั้งนั้นมีส่วนช่วยให้วัฒนธรรม (ร่วมสมัย) ของเกาหลีใต้กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง

คอลัมนิสต์และกูรูสายวัฒนธรรมร่วมสมัยหลายรายระบุว่า ยุคตั้งต้นของกระแส K-pop (หมายถึง K-pop ยุคใหม่นับจากหลังการสิ้นสุดรัฐบาลทหารปลายยุค 1980s) เริ่มราวต้นยุค 1990s หากให้แน่ชัดกว่านั้น พอจะบอกได้ว่า ราวปี 1992 ตามความคิดเห็นของมาร์ก เจมส์ รัสเซลล์ (Mark James Russell) นักเขียนจากตะวันตกซึ่งอาศัยในเกาหลี มาร์กถึงกับระบุเดือนได้ว่ากระแสถูกจุดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 1992 เมื่อ Seo Taiji and Boys (ซอ แทจี แอนด์ บอยส์) ทริโอสัญชาติเกาหลีใต้ออกอัลบั้มแรก

เพลง “I Know” ของพวกเขาติดชาร์ตอันดับต้น ๆ นานนับปี ผลงานของ Seo Taiji and Boys เป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนให้กับอุตสาหกรรมดนตรีเกาหลี นับตั้งแต่นั้นมา K-pop ก็เริ่มเติบโตอย่างต่อเนื่อง

หลังจากยุค Seo Taiji and Boys หนึ่งในสมาชิกของกลุ่มอย่างยาง ฮยอน-ซอก (Yang Hyun-suk) ก็ก่อตั้งบริษัท YG Entertainment ในปี 1996 บริษัทนี้คือต้นสังกัดของ Psy ในยุคหนึ่ง และมีศิลปินดังในสังกัดอีกมากมาย หลายปีหลังมานี้ศิลปินอีกรุ่นที่สร้างชื่อให้บริษัทก็คือ Blackpink นั่นเอง

นอกจาก YG แล้ว ค่ายเพลงอื่นในเกาหลีต่างก่อตัวขึ้นในช่วงยุค 1990s อันเป็นยุคที่วัฒนธรรมร่วมสมัยในเกาหลีเริ่มเข้าสู่ช่วงหาแง่มุมแปลกใหม่แตกต่างไปจากเดิม อี ซู-มาน (Lee Soo-man) โปรดิวเซอร์ที่เคยไปศึกษาในสหรัฐอเมริกาก็สร้างกลุ่ม SM Entertainment ในปี 1995 และ JYP Entertainment ที่ตั้งโดย “ลุงผัก” หรือพัก จิน-ย็อง (Park Jin-young) ก็เริ่มต้นเมื่อปี 1997

วัฒนธรรมร่วมสมัยของเกาหลีไม่ได้ประสบความสำเร็จเพียงแค่หมวดดนตรีเท่านั้น มาร์ก เจมส์ รัสเซลล์ เล่าอีกว่า พวกเขามาพร้อมภาพยนตร์ด้วย เรียกได้ว่าเกาหลีใต้จัดชุดวัฒนธรรมร่วมสมัยโด่งดังไปไกลต่อเนื่อง อันตามมาด้วยกระแสแฟชั่น ฯลฯ อาจกล่าวได้ว่า วัฒนธรรมร่วมสมัยจากเกาหลีใต้คือกระแสที่ส่งอิทธิพลต่อวิถีชีวิตทั้งในประเทศและต่างแดน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ตบูม เครือข่ายการติดต่อสื่อสารและกระแสเกมทำให้อุตสาหกรรมดนตรีเกาหลีต้องปรับตัว บางบริษัทผลักดันให้ศิลปินไปทำงานเชิงพาณิชย์ควบคู่กับการแสดง ยิ่งเมื่อมีเครื่องมืออย่างอินเทอร์เน็ต ที่กำลังพัฒนาและแพร่กระจายอย่างก้าวกระโดด ช่วงต้นยุค 2000s เรื่อยมาจนถึงกำเนิดแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์มีส่วนขับดันให้โลกเชื่อมต่อถึงกันได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น Psy และคลื่นศิลปินเกาหลีรายใหญ่จึงแพร่กระจายผลงานสู่โลกตะวันตกได้มากขึ้น เราจึงเห็นได้ว่า พื้นที่สื่อ สังคมมีพื้นที่ให้ K-pop อย่างมีนัยสำคัญ

Photo by Ed JONES / AFP

ความสำเร็จ Blackpink กับกระแส Blackpink in Your Area

หลังจาก Seo Taiji and Boys วงแตก มาสู่ YG Entertainment กลิ่นอายและอิทธิพลของฮิปฮอปส่งผลเชื่อมโยงเป็นลูกโซ่มาถึงแนวทางของบริษัท ตามความเห็นของคอลัมนิสต์ด้านวัฒนธรรมร่วมสมัย ศิลปินจากบริษัท YG เน้นภาพลักษณ์ cool แบบฮิปฮอป ในอัตราส่วนที่เหลื่อมล้ำกว่าภาพลักษณ์ cute หรือน่ารัก ดีเอ็นเอนี้เชื่อมโยงมาสู่ศิลปินหลายรายในบริษัท

ตลาดในสหรัฐอเมริกามีศิลปิน K-pop ที่เป็นหัวหอกอยู่ 2 รายคือ BTS และ Blackpink การแพร่กระจายไปสู่สหรัฐอเมริกาและเอเชีย อย่างก้าวกระโดดนี้ Korea Foundation มองว่า ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือการเติบโตของเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และช่องทางแพลตฟอร์มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสังคมออนไลน์ หรือแพลตฟอร์มคอนเทนต์อันหลากหลาย นำโดย YouTube ไปจนถึงผู้ให้บริการสตรีมมิ่งสื่อบันเทิงที่นำวัฒนธรรมเกาหลีออกสู่ตลาดวงกว้าง ตัวอย่างที่ชัดคือภาพยนตร์ Parasite ซึ่งกวาดรางวัลจากเวทีฝั่งตะวันตก รวมถึงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมครั้งประวัติศาสตร์จากเวทีออสการ์

ปี 2018 Blackpink ทำสถิติเป็นศิลปินหญิงเกาหลีที่มีซิงเกิลเปิดตัวติดชาร์ตในสหรัฐ อันดับสูงสุดในประวัติศาสตร์ จากเพลง “Ddu-Du Ddu-Du” ตั้งแต่นั้นมา Blackpink สร้างฐานแฟนเพลงอย่างต่อเนื่อง และเพิ่งขึ้นแสดงในเทศกาลโคเชลล่า (Coachella) เทศกาลดนตรีระดับโลก เมื่อปี 2019 ถือเป็นศิลปิน K-pop หญิงกลุ่มแรกที่ได้ขึ้นเวทีนี้

กราฟของ Blackpink ไม่เคยตก นับตั้งแต่ความนิยมก่อตัวในปี 2016 มาถึงการร่วมงานกับเลดี้ กาก้า (Lady Gaga) สู่ช่วงปล่อยเพลงล่าสุด How You Like That ซึ่งตั้งแต่เริ่มปล่อยเพลงก็ทำลายสถิติหลายข้อ

กระแสที่ฉุดไม่อยู่ สู่อิทธิพลทางธุรกิจ สังคม และวัฒนธรรม

จากรายงานของสมาพันธ์ผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียงระหว่างประเทศ (IFPI) ระบุว่า ตลาดดนตรีในเกาหลีในปี 2018 อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านจากผู้เล่นที่มีศักยภาพสู่ “ผู้เล่นรายยักษ์” ในปีต่อมา โดยฟันเฟืองที่ผลักดันกระบวนการเปลี่ยนผ่านก็คือกระแส K-pop ซึ่งนำมาโดย BTS และ Blackpink

เมื่อปี 2018 ตัวเลขจากรายงานตลาดดนตรีทั่วโลกโดย IFPI เผยว่า ตลาดดนตรีเกาหลีมีรายได้เพิ่มขึ้น 17.9% อยู่ในอันดับ 6 จาก 10 อันดับแรกของโลก ในขณะที่ตัวเลขยอดขายชิ้นงานบันทึกเสียงแบบที่จับต้องได้ในทั่วโลกลดลง 10.1% ยอดขายในประเทศเกาหลี, ญี่ปุ่น และอินเดียกลับเพิ่มขึ้น

ตัวเลขเหล่านี้คงพอทำให้เห็นภาพการเติบโตของ K-pop ได้ ในตลาดนี้ Blackpink (และ BTS) ถูกมองว่าเป็น “ผู้เล่นหลัก” สำหรับ Blackpink ถูกสื่ออเมริกันขนานนามว่าเป็น “ศิลปิน K-pop หญิงที่โด่งดังมากสุดในโลก” หากมองในแง่ผลงานหรือเชิงสถิติ คงไม่มีใครปฏิเสธคำกล่าวข้างต้นได้ ผลงานและการทำลายสถิติหลายครั้งของ Blackpink คือเครื่องการันตีอิทธิพลของยักษ์ใหญ่วงการ K-pop ในระดับนานาชาติได้

ความนิยมระดับนี้ทำให้วงปรากฏอยู่ในพื้นที่เชิงพาณิชย์กลุ่มอื่น โดยเป็นทั้งพรีเซ็นเตอร์สินค้า ไปจนถึงเป็นผู้นำแฟชั่น ดังเช่นกรณีของลิซ่า (Lisa) สมาชิกชาวไทยที่โด่งดังถึงขีดสุด เมื่อไปปรากฏในงานแฟชั่นหลายงานก็ถูกรายงานว่าโดดเด่นออกมาอย่างชัดเจน

แรงบันดาลใจสู่ชุมชน Blink ทั่วโลก

K-pop ไม่เพียงทำให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมดนตรีและกิจการเชิงพาณิชย์ของเกาหลี แต่ยังทำให้เกิด “ชุมชน” ของวัฒนธรรมร่วมสมัยทั้งในโลกจริงและโลกออนไลน์ สไตล์ของ Blackpink ที่ถูกออกแบบเรียบเรียงฝึกซ้อมเตรียมพร้อมมาอย่างดีตั้งแต่บุคลิก งานดนตรี การแสดงบนเวที และท่าเต้น หรือแม้แต่ในมุมนอกเหนือจากงาน อย่างเรื่องการวางตัว ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในวงทำให้เหล่า “บลิงก์” (Blink-ชื่อเรียกแฟนของ Blackpink)
มักให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า ชอบ “ทุกอย่าง” ของวง กล่าวโดยย่อคือ Blackpink มีองค์ประกอบครบถ้วนสำหรับการเป็นกลุ่มศิลปินหญิง

นอกจากบทบาทในนามวง สมาชิกแต่ละคนก็มีงานเดี่ยว อย่างเช่น ลิซ่า ที่ร่วมรายการเรียลิตี้โชว์ Youth With You ก็ช่วยสร้างสีสันให้กับรายการจากบทบาท “เมนเทอร์” หรือโค้ชผู้ให้คำปรึกษาแก่ศิลปินฝึกหัด ซึ่งมาร่วมแข่งขันเพื่อโอกาสเป็นศิลปินในอนาคต การปรากฏตัวในรายการนี้แทบจะเป็นการย้ำภาพว่า ลิซ่าเป็น “ต้นแบบ” ให้กับผู้ร่วมแข่งขัน


และสำหรับเพลงล่าสุดอย่าง How You Like That ผลงานนี้สร้างสถิติมากมาย ยากที่จะสาธยายในที่นี้ได้หมด ไม่ใช่แค่ในระดับตะวันตก Blackpink ยังสร้างสถิติในจีน ก้าวข้ามบริบทเชิงสังคมในพื้นที่ไปได้ และสร้างฐานแฟนในสื่อสังคมออนไลน์จีนแล้ว แต่กรณีนี้การขยายลึกไปกว่านี้อาจต้องจับตาในอนาคต จนกว่าจะถึงวันนั้น K-pop และหัวหอกอย่าง Blackpink ยังมีศักยภาพในการเติบโตและสร้างแรงบันดาลใจอีกมากในหลายแง่มุม