คุยกับ “ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโพธิ์” ในวันไร้นักท่องเที่ยว รายได้หาย คนทำมาหากินนั่งเหงา

รุ่งนภา พิมมะศรี, ศิรินภา นรินทร์ : เรื่อง-ภาพ

เป็นเวลาเกือบปีแล้วที่บรรยากาศตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ซึ่งเคยได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวหลากหลายเชื้อชาติ กลายเป็นเงียบเหงาแทบจะไร้ผู้คน วัดดัง ๆ ที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อของประเทศก็เป็นสถานที่ประเภทหนึ่งที่ได้รับผลกระทบไม่ต่างจากสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ

วันหนึ่งในเดือนมกราคม 2564 ทีมงาน “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ได้ลงพื้นที่ดูสถานการณ์วัดดังและบริเวณโดยรอบที่มีผู้ประกอบการร้านค้า รถตุ๊กตุ๊ก มอเตอร์ไซค์รับจ้าง เรือข้ามฟาก ซึ่งพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยววัด

วัดพระแก้ว ภายในพระบรมมหาราชวังมีแต่นักท่องเที่ยวชาวไทยมาหลายเดือนแล้ว และตลอดทั้งเดือนมกราคมสำนักพระราชวังก็ปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าชม บรรยากาศบริเวณโดยรอบทั้งสนามหลวง ท่าพระจันทร์ ท่าช้าง จึงเงียบเหงาผิดหูผิดตา

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือวัดโพธิ์ สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของประเทศไทยที่เคยมีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากติดอันดับโลก ยังเปิดให้เข้าชมและกราบไหว้พระได้ภายใต้มาตรการควบคุม โดยเปิดให้เข้า-ออกทางเดียว ต้องวัดอุณหภูมิ ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ และลงทะเบียนหรือเช็กอินในแอปไทยชนะก่อนทุกครั้ง

ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว วัดโพธิ์เป็นหนึ่งในสถานที่จัดแสดงผลงานศิลปะชิ้นไฮไลต์ของเทศกาล Bangkok Art Biennale 2020 ซึ่งดึงดูดผู้ชื่นชอบงานศิลปะเข้าไปในวัดได้ประมาณหนึ่ง แต่เมื่อเกิดการระบาดระลอกใหม่ วัดก็กลับสู่ภาวะเงียบจนได้ยินเสียงใบไม้แห้งปลิวไปกับพื้นเลยทีเดียว

เราได้ขออนุญาตและนัดหมายเข้าไปสัมภาษณ์สอบถามข้อมูลกับ พระราชรัตนสุนทร หรือ เจ้าคุณวินัย ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ถึงเรื่องผลกระทบที่เกิดกับวัดในช่วงโควิด

พระราชรัตนสุนทร

ท่านเจ้าคุณบอกเล่าสถานการณ์ว่า ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นมา วัดได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะวัดโพธิ์มีรายได้มาจากการท่องเที่ยวเป็นหลัก เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติรายได้ก็ขาดหายไป ส่วนชาวไทยวัดไม่ได้เก็บค่าเข้าชม จึงมีรายได้เหลือเพียงค่าดอกไม้ธูปเทียนและเงินบริจาค ดังนั้น งบประมาณที่วัดจะใช้สำหรับค่าใช้จ่ายประจำ และใช้ปฏิสังขรณ์วัดก็น้อยลง

“ถามว่าพอไหม ก็พอ ถ้าเป็นธุรกิจก็พออยู่ได้ แต่อยู่ได้ไม่กี่ปี ถ้านักท่องเที่ยวเข้ามาเราก็จะอยู่ได้ แต่ถ้านักท่องเที่ยวไม่เข้ามาเราก็อยู่ยาก เก่าก็หมด ใหม่ก็ไม่เข้ามา”

ท่านให้ข้อมูลต่อไปว่า ในช่วงที่สถานการณ์ปกติวัดโพธิ์มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเยี่ยมชมประมาณวันละ 6,000-10,000 คน เก็บค่าเข้าชมคนละ 200 บาท ดังนั้นรายได้ส่วนนี้หายไปหมด แต่ค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเป็นประจำยังคงมีอยู่ ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ เงินเดือนของพนักงานที่ดูแลวัด ซึ่งรวม ๆ อยู่ที่เดือนละประมาณ 3 ล้านบาท และยังมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาวัดด้วย

อีกทั้งวัดโพธิ์เป็นวัดที่มีภารกิจด้านอื่น ๆ คือ เป็นตัวแทนต้อนรับแขกต่างประเทศที่เข้ามาดูงานด้านศาสนาในประเทศไทย และประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของประเทศไทย อย่างเช่น ต้อนรับบารัก โอบามา เมื่อปี 2555 และเป็นตัวแทนถวายงานต้อนรับสมเด็จพระสันตปาปาเมื่อปี 2562 จึงต้องใช้งบประมาณสำหรับการจัดกิจกรรมหรือดำเนินการต่าง ๆ มากกว่าวัดทั่วไป

โรคระบาดได้ส่งผลกระทบต่อวัตรปฏิบัติของพระ-เณร และกิจกรรมในวัด ซึ่งต้องปรับให้สอดคล้องกับสถาณการณ์ ในช่วงที่มีการระบาด พระ-เณรต้องงดออกบิณฑบาต งดรับกิจนิมนต์ และวัดก็ไม่ได้ตั้งโรงครัวกลาง แต่มอบเงินให้พระ-เณรที่มีราว 200 รูป รูปละเท่ากันทุกระดับชั้นให้ทำกับข้าวฉันในกุฏิ เป็นการเว้นระยะห่างทางสังคม ส่วนกิจกรรมต่าง ๆ ในวัดก็ถูกงดเว้น ทั้งวันพระ วันธรรมสวนะ แต่กิจกรรมที่รวมตัวกันไม่เกิน 20 คนยังสามารถทำได้

ส่วนเรื่องบุคลากรนั้น วัดโพธิ์มีพนักงานและลูกจ้างประจำ ทั้งแม่บ้าน รปภ. ประมาณ 100 คน ซึ่งตั้งแต่เกิดโรคโควิด-19 ระบาดมาเป็นเวลาราว 1 ปี ส่งผลให้คนงานไม่มีงานต้องทำมากเหมือนในภาวะปกติ เหลือเพียงการทำความสะอาดเท่านั้นที่ยังต้องทำทุกวัน แต่วัดไม่ได้เลิกจ้างพนักงานเลย ทั้งยังดูแลช่วยเหลือโดยมอบเงินให้คนละ 5,000 บาทด้วย

“ถามว่าลดเงินเดือนไหม ไม่ลด แถมยังเพิ่มให้อีกเป็นค่าตกใจที่พนักงานทำงานไม่ได้ นี่คือน้ำใจของวัด”
ในระหว่างที่ไม่มีนักท่องเที่ยว วัดโพธิ์ถือโอกาสนี้บูรณปฏิสังขรณ์วัดอย่างเต็มที่ ท่านเจ้าคุณเล่าว่า วัดโพธิ์มีจุดชำรุดสึกหรอที่จำเป็นต้องซ่อมแซมทุกวัน หากเป็นช่วงที่สถานการณ์ปกติที่มีนักท่องเที่ยวก็ทำได้ไม่สะดวก ต้องซ่อมในเวลากลางคืนแทน แต่ช่วงที่ไม่มีนักท่องเที่ยวก็สามารถทำในเวลากลางวันได้

“อาตมาอยู่ที่วัดโพธิ์ 43 ปี ซ่อมทุกวัน ไม่ได้สร้างนะ เราจะเห็นว่ามาวันนี้ก็ซ่อม มาวันนี้ก็ซ่อม เพราะฉะนั้น เงินที่พวกเราทำบุญ 1 บาท 2 บาทก็เอามาบูรณปฏิสังขรณ์เพื่อให้เป็นมรดกตกทอดของลูกหลานพวกเรา”

การบูรณปฏิสังขรณ์วัดนั้นรวมไปถึงการซ่อมแซมรูปปั้นฤๅษีดัดตนท่าต่าง ๆ รวม 82 ตน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของการนวดแผนไทยที่ UNESCO ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติเมื่อเดือนธันวาคม 2562 ด้วย ทางวัดวางแผนว่าหากสถานการณ์คลี่คลาย ในเดือนตุลาคมปีนี้จะจัดงานเฉลิมฉลองการบูรณะซ่อมแซมฤๅษีแล้วเสร็จ ในงานจะเน้นให้ความรู้เรื่องสุขภาพและอธิบายกระบวนท่าต่าง ๆ ของฤๅษีดัดตน ซึ่งจะเป็นการช่วยรัฐบาลประชาสัมพันธ์เรื่องทัวร์สุขภาพด้วย

มีผู้คนมากมายหลายอาชีพที่พึ่งพิงสถานที่ท่องเที่ยว แน่นอนว่าพวกเขาเหล่านั้นได้รับผลกระทบไปพร้อม ๆ กัน

เวก แพรแก้ว มัคคุเทศก์ประจำวัดโพธิ์ ผู้ที่ใช้ชีวิตและทำมาหากินอยู่ที่วัดแห่งนี้มา 42 ปี ตั้งแต่เป็นเด็กวัดจนเติบโตขึ้นมาทำอาชีพมัคคุเทศก์ประจำวัด คือหนึ่งในบุคคลที่เห็นความเปลี่ยนแปลงและได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้

เวกให้บริการนำเที่ยวในวัดโพธิ์ด้วยอัตราค่าบริการ ชาวต่างชาติ 1 คน 300 บาท 2 คน 400 บาท หากเป็นกลุ่มราคา 500 บาท สำหรับคนไทยลดเหลือคนละ 200 บาท

เวก แพรแก้ว

ในวันที่ไม่มีนักท่องเที่ยว เขายังแต่งตัวอย่างสุภาพ ยืนส่งยิ้มและเชิญชวนด้วยน้ำเสียงคมชัดและเข้มแข็ง

เขาเปิดเผยว่า ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา รายได้ที่เคยมีวันละประมาณ 1,000 บาทหายไปเกือบหมด เงินเก็บที่มีก็ใช้ไปจนหมดแล้ว เขาถึงขั้นต้องหยิบยืมเงินญาติพี่น้องมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

เวกบอกอีกว่า ในช่วงเวลายากลำบากนี้ทำให้เขาได้เห็นน้ำใจของลูกค้าคนไทยที่แสดงความเห็นอกเห็นใจว่าจะขาดรายได้ และบางคนก็เพิ่มเงินค่านำเที่ยวให้ “คนไทยเห็นรองเท้าเก่า ๆ ก็ซื้อมาให้ เขาถามว่าลุงใส่รองเท้าเบอร์อะไร แล้วซื้อมาให้” เขาบอกพลางโชว์รองเท้าให้ดู

เมื่อร่ำลากับไกด์วัยเก๋าใบหน้าเปื้อนยิ้ม เราออกจากวัดโพธิ์เดินตามถนนมหาราชสอดส่ายสายตามองดูตามข้างทาง ร้านอาหาร ร้านขายของที่เคยคึกคักก็อยู่ในสภาพตรงกันข้าม บางร้านปิดไม่รู้ว่าชั่วคราวหรือถาวร ส่วนร้านที่เปิดก็ไม่มีลูกค้าเหมือนเคย

พ่อค้าชาวอีสานร้านรถเข็นขายอาหารปิ้งย่างกับข้าวเหนียวที่จอดอยู่ฝั่งตรงข้ามวัดบ่นว่า สถานการณ์แย่มาก เขาขายอยู่ที่นี่มากว่า 20 ปี แต่ก่อนได้กำไรวันละ 7-8 ร้อยบาท พอไม่มีคนมาเที่ยวทำให้รายได้หายไป 70-80 เปอร์เซ็นต์

เดินถัดมาอีกนิดเจอหญิงสาวร้านขายน้ำชง ถามว่า “เงียบมากไหม รายได้หายไปเท่าไหร่” เธอตอบไม่ต่างกันกับคนก่อนหน้านี้ “เงียบมาก น่าจะหายไป 70-80 เปอร์เซ็นต์”

แก๊งรถตุ๊กตุ๊กที่จอดอยู่หน้าวัดจับกลุ่มคุยกัน และตะโกนถามพวกเราว่า “ไปมั้ยครับ” คำตอบคือรอยยิ้มภายใต้หน้ากาก พร้อมส่ายหัวและโบกมือเป็นสัญลักษณ์ว่า “ไม่ไปค่ะ”

ข้ามฟากไปยังวัดอรุณราชวรารามฯที่ปกติจะมีนักท่องเที่ยวคลาคล่ำก็เจอความเงียบเหงามาตลอดช่วงโควิดระบาด และประกาศปิดวัด งดเข้าชมตั้งแต่วันที่ 6 มกราคมเป็นต้นมา

เมื่อขึ้นท่าวัดอรุณฯเราเห็นชุมชนร้านรวงโดยรอบไม่เปิดเลย ที่ประตูทางเข้าวัดปิดมีกุญแจตัวใหญ่ล็อกประตูเหล็กดัดเอาไว้ ทำได้เพียงมองลอดผ่านประตูเข้าไปมองเห็นยอดพระปรางค์ โดยมีต้นไม้บดบังสายตา

ที่ท่าเรือท่าเตียนซึ่งเป็นจุดโดยสารเรือข้ามฟากไป-กลับวัดอรุณฯนั้นเงียบเหงา ร้านขายของที่ระลึกบางร้านปิด บางร้านเปิด แต่ไม่มีผู้คนเลือกซื้อของเหมือนภาวะปกติ เรือข้ามฟากที่ปกติจะมีผู้คนใช้บริการแน่นขนัดก็เหลือเพียงเที่ยวละไม่เกิน 10 คน ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นคนในชุมชนแถวนั้น


นี่คือสิ่งที่พวกเราได้เห็น ไม่ใช่แค่ละแวกวัดโพธิ์ ท่าเตียน วัดอรุณฯ วัดพระแก้ว แต่เป็นภาพที่เห็นได้ทั่วไปเมื่อเดินออกไปตามท้องถนน โดยเฉพาะตามย่านท่องเที่ยว เห็นแล้วเศร้าในใจ ไม่รู้ว่าเราต้องเห็นสภาพเช่นนี้ไปอีกนานแค่ไหน