9 ข้อเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันและวัคซีน ที่เราควรรู้และเข้าใจให้ถูกต้อง

รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง

วัคซีนโควิด-19 จำนวน 200,000 โดส ซึ่งเป็นลอตแรกในแผนจัดหาและฉีดวัคซีนระยะแรกจำนวนทั้งหมด 2 ล้านโดส เข้ามาถึงเมืองไทยแล้ว เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังจากตรวจคุณภาพมาตรฐานวัคซีนเรียบร้อยแล้ว ชาวไทยที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในจังหวัดเป้าหมายตามที่กระทรวงสาธารณสุขจัด priority ไว้จะได้ฉีดก่อน

เราอยู่กับคำว่า โรคระบาด โควิด-19 และวัคซีน กันมาเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว แต่เนื่องจากเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องทางการแพทย์ จึงอาจจะเข้าใจยากสำหรับคนทั่วไป ทำให้คนมากมายในสังคมยังมีความสับสน ความไม่รู้ ความไม่เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้อยู่ ดังนั้น ในช่วงเวลาที่เรากำลังจะได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” อยากชวนทำความเข้าใจเรื่องภูมิคุ้มกันและวัคซีนกันให้มากขึ้น จากข้อมูล 9 ข้อต่อไปนี้

1.ร่างกายของคนเรามีกลไกในการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อต้านเชื้อโรค หรือสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย แบ่งเป็น 2 ระบบใหญ่ ๆ คือ

1.1 ภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด เป็นภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเองตามธรรมชาติ มีความสามารถในการป้องกันหรือทำลายจุลินทรีย์ หรือสิ่งแปลกปลอมได้ในระดับหนึ่ง โดยจะป้องกันโรคได้หลายชนิด ไม่จำเพาะเจาะจงกับเชื้อโรคชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามอายุ พันธุกรรม ฮอร์โมน และภาวะโภชนาการของแต่ละบุคคล

1.2 ภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ เป็นภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นหลังจากที่ร่างกายได้รับสิ่งแปลกปลอม โดยจะตอบสนองจำเพาะกับเชื้อโรคผ่านเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (lymphocyte) ซึ่งจะจดจําเชื้อโรคและตอบสนองได้เจาะจง รวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากขึ้นในครั้งหลัง ๆ ที่ร่างกายได้รับเชื้อ

2.การสร้างภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ (ในข้อ 1.2) ทำได้ 2 วิธีหลัก ๆ ซึ่งแต่ละวิธีมีรายละเอียดปลีกย่อยอีก คือ

2.1 การกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นเอง (active immunization) หมายถึง การให้แอนติเจนเพื่อกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคหรือแอนติเจนชนิดนั้น ซึ่งเกิดขึ้นได้ 2 กรณี คือ

– การเกิดภูมิคุ้มกันภายหลังติดเชื้อตามธรรมชาติ (active naturally acquired immunity) คือ เมื่อร่างกายได้รับเชื้อโรคตามธรรมชาติแล้วสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคชนิดนั้น

– การเกิดภูมิคุ้มกันหลังการให้วัคซีน (active artificially acquired immunity) คือ การให้วัคซีนหรือท็อกซอยด์ (toxoid) เพื่อป้องกันการเกิดโรค เมื่อร่างกายได้รับวัคซีนแล้ว วัคซีนจะไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้สร้างภูมิคุ้มกันที่สามารถป้องกันการติดเชื้อโรคชนิดนั้นได้

2.2 การให้ภูมิคุ้มกันต่อโรคโดยตรง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรค (passive immunization) คือ การให้แอนติบอดีเพื่อให้ร่างกายเกิดภูมิคุ้มกันต่อโรคชนิดนั้น ซึ่งเกิดขึ้นได้ 2 กรณี คือ

– การเกิดภูมิคุ้มกันจากการได้รับภูมิคุ้มกันโดยตรง (passive naturally acquired immunity) โดยที่ร่างกายไม่ได้สร้างเอง เช่น ภูมิคุ้มกันบางชนิดจะผ่านรกจากแม่ไปสู่ลูกได้ หรือภูมิคุ้มกันจะถ่ายทอดผ่านทาง colostrum ที่อยู่ในน้ำนมแม่ ซึ่งภูมิคุ้มกันเหล่านี้จะมีผลคุ้มครองได้ในระยะแรก ๆ ของชีวิต แล้วก็หมดไป

– การเกิดภูมิคุ้มกันจากการได้รับแอนติบอดี หรือภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (passive artificially acquired immunity) คือ ได้รับซีรั่ม หรือ gamma globulin จากคนหรือสัตว์ที่มีภูมิคุ้มกันอยู่แล้ว เช่น การฉีด equine rabies immunoglobulin (ERIG) ให้กับผู้ที่ถูกสุนัขบ้ากัด หรือการฉีด antivenom ให้กับผู้ที่ถูกงูพิษกัด

3.วัคซีนเป็นชีววัตถุ หรือแอนติเจน คือ สารที่กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทาน วัคซีนสร้างจากเชื้อโรค ซึ่งมีหลายวิธี หลายชนิด เช่น วัคซีนเชื้อตาย (killed vaccine) วัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (live attenuated vaccine) วัคซีนประเภทท็อกซอยด์ (toxoid) เป็นต้น

มักจะมีความเข้าใจผิดกันว่าวัคซีนเป็นแอนติบอดี หรือภูมิคุ้มกันโรคโดยตัวมันเอง ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ที่ถูกคือวัคซีน หรือแอนติเจน คือ เชื้อโรคที่ฉีดเข้าไป ทำให้ร่างกายได้รู้จักเชื้อแล้วกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันโรค สิ่งที่เราควรจำ คือ วัคซีนเท่ากับแอนติเจน แต่วัคซีนและแอนติเจนไม่เท่ากับแอนติบอดี

Photo by AFP

4.การออกฤทธิ์ของวัคซีนกับการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย เป็นเรื่องที่มีรายละเอียดซับซ้อน จะต้องอธิบายค่อนข้างยาวดังต่อไปนี้

ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์จะตอบสนองต่อการกระตุ้นของวัคซีน หรือแอนติเจน 2 ครั้ง เมื่อร่างกายได้รับวัคซีนหรือแอนติเจนครั้งแรก ระบบภูมิคุ้มกันจะตอบสนองโดยสร้างแอนติบอดี การตอบสนองครั้งแรกนี้เรียกว่า primary response

ระยะเวลาตั้งแต่ได้รับแอนติเจน จนกระทั่งเริ่มตรวจพบแอนติบอดีได้ เรียกว่า lag period อาจใช้เวลา 1-30 วัน หรือนานกว่านี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณ ชนิดของแอนติเจน และทางที่แอนติเจนเข้าสู่ร่างกาย

หลังผ่าน lag period ร่างกายจะสร้างแอนติบอดีขึ้นมาอย่างรวดเร็ว โดยส่วนใหญ่เป็นแอนติบอดีชนิด IgM (ภูมิคุ้มกันขนาดใหญ่ที่สุด พบในน้ำเหลืองและเลือด) และจดจำแอนติเจนนั้นไว้ แอนติบอดีชนิด IgM ที่ร่างกายสร้างขึ้นมาจะอยู่ได้ระยะหนึ่งและลดต่ำลง ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น ร่างกายจะสร้างแอนติบอดีชนิด IgG (ภูมิคุ้มกันที่พบในของเหลวในร่างกาย) ขึ้นมาด้วย ซึ่งภูมิคุ้มกันชนิด IgG จะมีระดับแอนติบอดีสูงกว่าและอยู่ในร่างกายนานกว่าชนิด IgM

เมื่อร่างกายได้รับแอนติเจนชนิดเดิมอีกครั้งที่ 2 memory cell ซึ่งจดจำแอนติเจนไว้ จะกระตุ้นให้ร่างกายตอบสนองต่อเชื้อโรคโดยสร้างแอนติบอดี รวดเร็วกว่าครั้งแรก เรียกว่า secondary response แอนติบอดีที่สร้างขึ้นในครั้งนี้จะอยู่ได้นาน และมีประสิทธิภาพมากกว่าที่สร้างขึ้นในครั้งแรก นี่คือหลักการและเป็นเหตุผลที่การฉีดวัคซีนต้องฉีดหลายครั้ง

5.การได้รับวัคซีนครั้งที่ 2 เร็วกว่ากำหนด อาจไม่กระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีเพิ่มขึ้น เนื่องจากแอนติบอดีที่เกิดขึ้นในครั้งแรกยังมีระดับสูงอยู่ ทำให้แอนติเจนที่ฉีดเข้าไปครั้งที่ 2 ไปทำปฏิกิริยากับแอนติบอดีที่อยู่ในร่างกายหมด ทำให้เชื้อโรคในวัคซีนตายหรืออ่อนแอจนไม่มีประสิทธิภาพที่จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีอีก ดังนั้น หากมีเหตุให้ไม่สามารถไปรับวัคซีนตามวันที่แพทย์กำหนดได้ ก็ไม่ควรไปก่อนกำหนด ให้ไปหลังกำหนดจะเป็นประโยชน์กว่า

6.คนที่ได้รับเชื้อโรค (ทั้งโดยธรรมชาติ และโดยการฉีดวัคซีน) เข้าไปแล้ว จะเกิดภูมิต้านทานโรค หรือแอนติบอดี ในระดับที่มากหรือน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคน ซึ่งคนที่ร่างกายเกิดภูมิต้านทานน้อยจะไม่สามารถต้านทานหรือป้องกันโรคได้ สำหรับกรณีโรคโควิด-19 ยังไม่ทราบตัวเลขขั้นต่ำว่าร่างกายต้องมีภูมิคุ้มกันเท่าใดจึงจะป้องกันโรคได้ เนื่องจากเป็นโรคใหม่ และเพิ่งมีการใช้วัคซีนไม่นาน จึงยังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย

7.ภูมิคุ้มกันหรือภูมิต้านทานโรคที่ร่างกายสร้างขึ้นหลังจากฉีดวัคซีน มีทั้งแบบที่คงอยู่ตลอดชีวิต และแบบที่หมดไป บางโรค เช่น โปลิโอ บาดทะยัก ที่เราฉีดวัคซีนเพียงครั้งเดียวก็ป้องกันไปตลอด นั่นคือภูมิคุ้มกันแบบที่คงอยู่ตลอดชีวิต แต่บางโรค เช่น ไข้หวัดใหญ่ เป็นภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นแล้วหมดไป จึงเห็นว่าการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ต้องฉีดทุกปี

8.กรณีภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 เป็นภูมิคุ้มกันแบบที่เกิดขึ้นแล้วหมดไป และยังไม่ทราบว่าภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจะคงอยู่นานแค่ไหน เท่าที่มีข้อมูลจากการติดตามอาการของผู้ที่ติดเชื้อแล้วเกิดภูมิต้านทานแบบที่เกิดเองตามธรรมชาติ พบว่าเมื่อผ่านไประยะหนึ่ง ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นนั้นลดลงจนหมดไป ส่วนภูมิคุ้มกันโควิด-19 ที่เกิดจากการได้รับวัคซีนนั้น ยังไม่ทราบว่าจะคงอยู่นานเท่าใด นักวิจัยกำลังศึกษาวิจัยเพื่อหาคำตอบนี้

9.คำที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันอีกคำหนึ่งที่ควรรู้จัก คือ “ภูมิคุ้มกันระดับชุมชน” หรือ herd immunity ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ประเทศต่าง ๆ อยากไปให้ถึงในเร็ววัน

“ภูมิคุ้มกันระดับชุมชน” หรือ herd immunity คือ ภาวะที่เมื่อในชุมชนมีประชากรที่ได้รับวัคซีนและเกิดภูมิคุ้มกันเป็นจำนวนมากพอแล้ว จะทำให้ไม่เพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อ และไม่เกิดการแพร่กระจายโรคได้อีก ซึ่ง herd immunity จะเกิดได้ ก็ต่อเมื่อโรคนั้นเป็นโรคที่ติดต่อจากคนสู่คนเท่านั้น ถ้ามีแหล่งโรคอื่น อย่างเช่น เป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ ก็ไม่สามารถทำให้เกิด herd immunity ได้

———————-


แหล่งข้อมูลอ้างอิง
http://guruvaccine.com โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
– ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค โดย นพ.หิรัญวุฒิ แพร่คุณธรรม สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค และ นพ.ชนินันท์ สนธิไชย กองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร
https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/