ปรากฎการณ์ “ไม้ด่าง” ไอเท็มฮอตในโลกออนไลน์

พลพัต สาเลยยกานนท์ : เรื่อง

กระแสการปลูกต้นไม้ใบด่างยังคงมีทิศทางที่ร้อนแรงและร้อนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ชนิดที่ว่าหลายต่อหลายคนทิ้งงานประจำ หันมายึดอาชีพชาวสวนชาวไร่ ปลูกต้นไม้ใบด่างสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำได้อย่างมหาศาล เพราะราคาประมูลต่อต้นพุ่งทะยานตั้งแต่
หลักหมื่นถึงหลักล้าน

จะว่าไปวงการ “ไม้ด่าง” ก็มีความคล้ายคลึงกับวงการ “พระเครื่อง” ตรงที่ว่า หากเนื้อใช่ ลายชัด พิมพ์นิยม ก็เป็นที่ต้องการของผู้ที่สนใจ แบบต้องแย่งกันใส่ราคาเพื่อให้ได้มาครอบครองเป็นเจ้าของ

เช่นเดียวกันกับไม้ด่าง ที่ด่างยังไงให้แพง ก็จะมีหลายรูปแบบอีก เพราะการด่างโดยปกติของต้นไม้ก็มีอัตราส่วนที่น้อยอยู่แล้ว และถ้ายิ่งด่างแล้วสวยอีก ยิ่งแพงเข้าไปใหญ่

ต้นไม้ใบด่าง บางต้นก็มีปัจจัยให้เกิดใบด่างตามธรรมชาติ หรือเกิดจากการกลายพันธุ์ เพราะในธรรมชาติต้นไม้ส่วนใหญ่จะมีใบสีเขียว ส่วนต้นไม้ด่างบางต้นจะเป็นยีนเด่นที่ขยายพันธุ์ง่ายและโตเร็วก็จะราคาไม่แพง

เนื่องจากต้นที่เกิดใหม่ก็จะด่างเหมือนพ่อพันธุ์หรือแม่พันธุ์แบบไม่ต้องลุ้น ซึ่งการที่ต้นไม้มีใบด่างจะได้จากเม็ดสีบริเวณใบทั้งสีขาว ครีม เหลือง ชมพู แดง ทำให้สวนมีสีสันสดใสมากยิ่งขึ้น นั่นจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีราคาแพง

5 ไม้ด่าง “พิมพ์นิยม”

มอนสเตอร่าด่าง

มอนสเตอร่า (Monstera) เป็นต้นไม้ที่ถูกเรียกขานว่า ราชินีไม้ใบ เพราะลักษณะรูปทรงของใบขนาดใหญ่ มันวาว มีรอยแฉกฉลุบนใบที่สวยงาม สายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ มอนสเตอร่า เดลิซิโอซ่า (Monstera Deliciosa) หรือที่รู้จักในชื่อไทยว่า พลูฉีก หรือพลูแฉก

สามารถปลูกได้ง่ายในลักษณะภูมิอากาศร้อนชื้น ลักษณะ “ใบด่าง” มีทั้งด่างเหลืองและด่างขาว มีทั้งใบจุดด่าง ๆ สีขาวกระจายคล้ายหินอ่อน ด่างสีงาขาวครึ่งใบ และด่างลงก้าน ทำให้แต่ละต้นมีเอกลักษณ์ของตัวเองไม่เหมือนกัน ยิ่งลายด่างแปลกแตกต่างก็ยิ่งมีราคาสูง

พิงค์ ปรินเซส

พิงค์ ปรินเซส เป็นไม้สกุลฟิโลเดนดรอน ใบสีเขียวเข้มมีสีชมพูด่างเป็นจุด หรือแทรกเข้ามาครึ่งใบบ้าง ค่อนใบบ้าง เป็นไม้ที่ปลูกไว้ในบ้านได้ มีอากาศถ่ายเท แสงส่องรำไร ความต้องการน้ำปานกลาง

หากเลี้ยงไว้ในที่โดนแสงสีชมพูสดบนใบก็จะซีดขาว ฟิโลเดนดรอนมีพันธุ์ด่างหลากหลายมากมาย อาทิ ฟิโลเดนดรอนมะละกอด่าง ฟิโลเดนดรอน ไวท์ไนท์ ฟิโลเดนดรอนก้ามกุ้งด่าง เป็นต้น

ยางอินเดียด่าง

ยางอินเดีย คือ มีถิ่นกำเนิดจากอินเดียและมาเลเซีย หนึ่งในไม้ประดับที่มาแรงในปีที่แล้ว ด้วยรูปทรงของใบที่ใหญ่โค้งมน บวกกับสีของใบที่เข้มสวยสูสีกับไทรใบสัก แต่ปีนี้เพิ่มความพิเศษไปอีก ด้วยการเปลี่ยนมาเป็นเจ้าของยางอินเดียด่าง มีทั้งด่างขาวและด่างชมพู ปลูกประดับในบ้านแล้วดูสวยงามไม่แพ้ต้นอื่น ๆ

พลูงาช้าง หรือพลูช้าง

เป็นต้นไม้มีลำต้นสีเขียวอ่อน ใบรูปทรงหัวใจสีเขียวด่างขาว ส่วนมากมักปลูกลงกระถางหรือเป็นไม้แขวนค่ะ ควรตั้งในที่ร่มหรือมีแดดรำไร ปลูกและดูแลง่าย

นอกจากจะเป็นต้นไม้ที่ช่วยฟอกอากาศได้แล้ว ยังเป็นไม้มงคลด้วย คนโบราณเชื่อว่าใครปลูกต้นไม้ชนิดนี้ จะนำความสงบร่มเย็น และได้รับการคุ้มครอง ความปลอดภัยแก่คนในบ้าน

กล้วยด่าง

กล้วยด่าง เป็นต้นไม้ที่กำลังเป็นที่นิยมและการซื้อขายกันในหมู่นักสะสม กล้วยด่างเกิดจากความผิดปกติในระดับพันธุกรรมที่เกิดการกลายเฉพาะจุด โดยเฉพาะใบซึ่งเกิดความสม่ำเสมอไม่เท่ากัน กลายเป็นสีสันและลวดลายที่ผิดแปลกไปจากกล้วยปกติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสีเขียวทั้งต้น

สำหรับกล้วยด่าง 3 สายพันธุ์ที่มาแรง คือ กล้วยแดงอินโดใบด่าง กล้วยหอมจำปาด่าง และกล้วยฟลอริด้าที่มีแถบด่างเขียวอ่อนสลับขาวเป็นเส้นตามแนวเส้นใบอย่างกับลายทหาร

สำหรับกรณีในวงการไม้ด่างอันร้อนแรงในช่วงที่ผ่านมากับ “กระแสล้านแตก” ของกล้วยแดงอินโด ซึ่งเป็นไม้ด่างอีกชนิดที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน โดยมีนักธุรกิจค้าพลอยจากจันทบุรี จ่ายเงินซื้อต้นไม้ดังกล่าวไปด้วยมูลค่า 10 ล้านบาท

ทำเอาวงการสั่นสะเทือนและหลายต่อหลายคนอยากจะวางทุกอย่างลง แล้วหันไปจับจอบเสียมออกไปปลูกต้นไม้เวลานี้เลยทีเดียว ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรก

จากการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนของผู้ซื้อคนดังกล่าวระบุว่า ราคาดังกล่าวเป็นการซื้อเพื่อลงทุนทำธุรกิจอย่างจริงจัง ภายหลังธุรกิจหลักของตนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ซึ่งกล้วยด่างต้นดังกล่าวมีหน่อที่ออกมาพร้อมขายต่อได้แล้ว 3 หน่อ ซึ่งมีคนจองแล้ว หน่อละ 2 ล้านบาท โดยต้นกล้วยด่างดังกล่าวจะมีไม่ต่ำกว่า 10 หน่อ จึงเชื่อว่าจะทำกำไรได้อีก

ขณะที่อีกกระแสมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีดังกล่าวไปต่าง ๆ นานา ว่าเป็นการสร้างกระแสปั่นราคาเกินจริง (ซึ่งก็มีราคาเกินตลาดไปมากจริง ๆ) แต่ในอีกมุมหนึ่งเมื่อเช็กราคาในตลาดวงการไม้ด่างเวลานี้ ไม้ด่างราคาหลักแสนหลักล้าน ก็มีไม่ใช่น้อย

จึงเป็นที่น่าสนใจว่ากระแสดังกล่าวที่มาแรงสำหรับในวงการไม้ด่างนั้น มีผู้ที่สนใจยอมจ่ายราคาดังกล่าวจริงหรือไม่

เจ้าของสวนไม้ด่างรายหนึ่งเล่าถึงที่มาที่ไปของวงการไม้ด่าง เป็นที่นิยมในกลุ่มผู้เล่นต้นไม้และนักสะสมมานานกว่า 20 ปีแล้ว แต่ที่กระแสดังกล่าวร้อนแรงอีกครั้งเกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีมาตรการควบคุมต่าง ๆ ทำให้ผู้คนมีเวลาว่างในการทำกิจกรรมที่อยู่ภายในบ้านมากยิ่งขึ้น

อีกทั้งกระแสสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดียที่มีการถ่ายภาพต้นไม้โชว์กันอย่างมากมายในทุกช่องทาง ทำให้หลายคนเห็นถึงความแปลกใหม่ สวยงามน่าสนใจ

ทั้งนี้ ราคาไม้ด่างที่มีระดับราคาหลักล้านบาทนั้นเป็นราคาที่เกิดขึ้นจริงในวงการต้นไม้ด่าง แต่จะมีราคาหลายระดับตั้งแต่หลักพันบาท ไปกระทั่งถึงหลักล้านบาท ตามความสวยงามและสายพันธุ์ของต้นไม้แต่ละต้น กว่าจะงอกงามจนสามารถขยายพันธุ์ขายได้ ล้วนเกิดจากการดูแลเอาใจใส่จากเจ้าของ กว่าจะโตต้องใช้เวลา

ยิ่งเป็นต้นไม้พันธุ์หายาก ยิ่งต้องใช้เวลาในการศึกษาข้อมูล ลองผิดลองถูกจนกว่าจะเชี่ยวชาญ ซึ่งกระแสการปั่นราคาที่สูงขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ มุมหนึ่งเป็นโอกาสของชาวสวน ส่วนอีกมุมหนึ่งก็มีนักธุรกิจที่มองเห็นโอกาสทางธุรกิจเข้ามาในวงการนี้ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นช่วงระยะสั้น

เนื่องจากผู้ที่สนใจทำธุรกิจเกี่ยวกับต้นไม้ต้องเริ่มจากการศึกษาข้อมูลก่อน การจะเข้ามาทำกำไรในระยะเวลาสั้น ๆ ไม่มีทางเป็นไปได้ อย่างน้อยต้องใช้เวลาในการศึกษาเป็นปี

กระแส “ไม้ด่าง ล้านแตก” นั้น ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่กระแสชั่วข้ามคืนสำหรับผู้เลี้ยง หรือเกษตรกรอาชีพ ต่างกับนักธุรกิจที่มองเห็นโอกาสและโดดลงมาเล่นเก็งกำไรขายต่อ ซึ่งของแบบนี้คงยากที่จะบอกว่าไม้อะไรก็ได้ แล้วมีด่างจะมีราคาเสียหมด เพราะทุกอย่างนั้น อาจจะต้องมีเรื่องราวและความสมบูรณ์ในตัว