วิกฤต ‘บาร์เซโลนา-ยูเวนตุส’ ยุคไร้เงาดาวเตะคนดัง

อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

 

เป็นธรรมดาที่คนเราจะปรับตัวเมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลง สำหรับแฟนบอลของบรรดาทีมใหญ่ในยุโรปฤดูกาลนี้ หลายทีมต้องปรับตัวเข้าใจสภาพทีมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะกับทีมที่เคยมีดาวดังเป็นผู้เล่นคอยสร้างผลงาน และดูเหมือนว่า บางทีมจะได้รับผลกระทบและต้องปรับตัวกันมากกว่าที่คิด

ที่เห็นได้ชัดคือกรณีของบาร์เซโลนา และยูเวนตุส ซึ่งสูญเสียดาวดังอย่าง ลิโอเนล เมสซี่ และ คริสเตียโน โรนัลโด้ ในฤดูกาลเดียวกัน ผลงานของทั้งสองทีมในช่วงเริ่มต้นฤดูกาลค่อนข้างชัดเจนจากอันดับตารางในลีก จากทีมที่เคยจองหัวตารางมาโดยตลอด ในฤดูกาลนี้ หลังลงเล่นไปได้ 6 นัดแรก กลับยังวนเวียนในอันดับกลางตาราง น่าสนใจทีเดียวว่าพวกเขาจะเร่งเครื่องกลับมาในยุคที่ไร้ดาวเตะตัวชูโรงได้อย่างไรบ้าง

กรณีบาร์เซโลนา ยักษ์ใหญ่แห่งลาลีกา ในสเปน แฟนบอลส่วนใหญ่คงพอทราบสถานการณ์ปัญหาทางการเงินที่พอกมาตั้งแต่ช่วงก่อนโรคระบาด ยิ่งเมื่อเจอวิกฤตจากโควิด-19 ปัญหายิ่งโถมหนัก สุดท้ายพวกเขาต้องเสียดาวเตะในตำนานอย่างเมสซี่ หลังเปิดฤดูกาลมา ผลงานภายใต้การคุมทีมของโรนัลด์ คูมัน ออกมาน่าอึดอัดใจแฟนบอลที่เคยเห็นทีมยิ่งใหญ่มาร่วมทศวรรษ

บาร์ซ่าไม่สามารถเอาชนะทีมอย่างคาดิซ และกรานาด้า ทำได้แค่แบ่งแต้มกับทีมซึ่งมีศักยภาพและชื่อชั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ผลงานในลีก 6 นัด พวกเขาชนะ 3 เสมอ 3 รั้งอันดับ 6 ของตาราง ไม่เพียงแค่ผลงาน ฟอร์มการเล่นในสนามก็ปวดใจแฟนบอลเมื่อเห็นทีมโยนบอลยาวกันรัว ๆ โดยเฉพาะในเกมที่เสมอกับกรานาด้า 1-1 แตกต่างจากสไตล์การเล่นต่อบอลบนพื้นแบบเดิมที่สร้างชื่อและทำให้สโมสรประสบความสำเร็จมายาวนาน

แม้จะประสบความสำเร็จในการตามตีเสมอคู่แข่งและแบ่งแต้มได้ แต่แน่นอนว่า แฟนบอลและนักวิจารณ์ต่างตั้งคำถามกับทีมของคูมัน ที่เล่นราวกับเป็นทีมกลางตารางในลีกอังกฤษซึ่งมักใช้วิธีโยนบอลยาวกัน โลกลูกหนังยังรู้สึกแปลกหูแปลกตากับการเล่นของบาร์ซ่า ที่เอาผู้เล่นตำแหน่งกองหลังโดยธรรมชาติมายืนหน้าประตูคู่แข่งเพื่อโหม่งทำประตู คูมันอธิบายแท็กติกของเขาโดยอ้างเรื่องผู้เล่นที่มีอยู่กับสถานการณ์ในเกมที่ไม่มีพื้นที่เข้าทำมากนัก

น่าเห็นใจว่าผู้เล่นอย่าง อันซู ฟาติ ซึ่งเป็นอีกตัวเด่นของทีมยังมีอาการบาดเจ็บและเพิ่งกลับมาในเกมกับเลบันเต้ และยิงประตูได้ด้วย สถานการณ์ของคูมันเริ่มผ่อนคลายขึ้นบ้างหลังเอาชนะเลบันเต้ 3-0 แต่ก่อนหน้านั้น พวกเขาเคยไม่ชนะใคร 3 นัดติดรวมทุกรายการ หนึ่งในนั้นคือเกมยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ที่โดนบาเยิร์น มิวนิก ถลุงไป 3-0

คูมันตกที่นั่งลำบากก็จริง ด้านหนึ่งคงต้องยอมรับว่า กุนซือดัตช์รายนี้เป็น “ส่วนหนึ่ง” ของวิกฤต ปัญหาในเชิงโครงสร้างถูกพูดถึงมานานในแง่ความผิดพลาดของการบริหารตั้งแต่ยุคโจเซฟ มาเรีย บาร์โตเมว ที่เป็นประธานระหว่างช่วงปี 2014-2020 มาจนถึงยุคนี้ โจน ลาปอร์ต้า ประธานสโมสรก็มีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ที่ไม่ลงรอยกับคูมันอีกต่างหาก

ดูเหมือนว่า ฤดูกาลของบาร์เซโลนา เมื่อไม่มีนักเตะที่ยิงได้มากกว่า 40 ลูกในแต่ละฤดูกาลจะยากลำบากยิ่งขึ้นไปอีก แน่นอนว่า ผู้เล่นระดับเมสซี่ที่หายไปจากทีมส่งผลต่อเกมโดยรวม ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ต้องยอมรับความจริง และพยายามปรับตัว ประเด็นสำคัญคือ การปลดกุนซือต้องจ่ายเงินค่าชดเชยหลักสิบล้านยูโร และนั่นทำให้บาร์เซโลนาเพิ่มปัญหาการเงินไปอีกข้อ แม้ว่าจะมีรายชื่อกุนซือตกเป็นข่าวมาเสียบแทนบ้างแล้วก็ตาม

ข้ามมาดูยูเวนตุส ในเซเรีย อา อิตาลี กันบ้าง ภายหลังเสียโรนัลโด้ไป ผลงานช่วงเปิดฤดูกาลก็ย่ำแย่ไม่ต่างจากบาร์เซโลนา เล่นไป 6 นัด ชนะ 2 เสมอ 2 และแพ้ 2 รั้งอันดับ 9 ของตาราง ตามหลังนาโปลี จ่าฝูงที่ฟอร์มแรง 10 คะแนน หากนับ 3 เกมแรกในลีก ทีมม้าลายเก็บได้แค่แต้มเดียวเท่านั้น

มีบางคนมองว่า การย้ายทีมของโรนัลโด้จะส่งผลดีต่อยูเวนตุส โดยทำให้การเล่นของทีมเป็นอิสระมากขึ้น แต่ดูเหมือนว่า ผู้เล่นที่ถูกคาดหวังว่าจะเข้ามาเติมเต็มหรือมารับบทบาทผสมผสานกันในแนวรุกให้มีความเป็นทีมจะยังไม่ประสบความสำเร็จในการเล่นร่วมกัน หากเทียบเท่ากับการอาศัยศักยภาพของโรนัลโด้ในทีม

เวลาอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่กุนซือทั้งหลายต้องการปรับตัว ปรับระบบ และสร้างรากฐานในทีมขึ้นมาใหม่เมื่อไม่มีขุมกำลังดาวดังอย่างเคย กุญแจสำคัญกว่าคือ งานในระดับสโมสรยักษ์ใหญ่ที่ต้องการความสำเร็จมากกว่าแค่ทำอันดับในลีก “เวลา” ที่กุนซือแต่ละรายมีล้วนจำกัดอย่างมาก ประกอบกับบางสโมสรได้รับผลกระทบจากโรคระบาดและมีปัญหาทางการเงิน การปลดและจ้างกุนซือใหม่อาจต้องตรึกตรองมากกว่าเดิม

ในระยะสั้นยังพอเป็นไปได้ว่า หากทีมดังเหล่านี้สามารถปรับตัวและสร้างระบบใหม่ขึ้นมาทดแทนได้ทันท่วงที ผู้บริหารและแฟนบอลพอใจ แน่นอนว่า พวกเขาก็ไปต่อได้ ที่แตกต่างคือธุรกิจฟุตบอลในบางกรณี สโมสรใหญ่ไม่ได้มองแค่ความสำเร็จเพียงอย่างเดียว

พวกเขามองถึงสไตล์การเล่น เอกลักษณ์ และตัวตนของสโมสรที่เป็นมาอย่างยาวนานควบคู่ด้วย บางทีเรื่องเหล่านี้ยังพอมีคุณค่าแม้แต่ในยุควิกฤตก็ตาม หนทางยังอีกยาวไกล น่าติดตามเป็นอย่างยิ่งว่า ยักษ์ใหญ่ในยุคเปลี่ยนผ่านจะเดินไปในทิศทางไหน