‘เจมส์ ทีก’ ประธาน แอสตร้าเซนเนก้าไทย “สิ่งที่เราทำเป็นสิ่งที่ถูก”

พลพัต สาเลยยกานนท์ : เรื่อง

แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ชื่อนี้เราเริ่มรู้จักมักคุ้นกันอย่างแพร่หลายในช่วงการเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในฐานะผู้ผลิตวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสดังกล่าวเป็นรายแรก ๆ ของโลก และของไทย โดยเฉพาะการเป็น 1 ใน 2 วัคซีนหลักในช่วงแรกของการระดมฉีดวัคซีนให้ประชาชนในประเทศ

หากกล่าวถึงบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทผู้ผลิตยาที่มีชื่อเสียงและอยู่ในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลากว่า 40 ปี ซึ่งผลิตและจำหน่ายยารักษาโรค 3 กลุ่มโรค ได้แก่ กลุ่มโรคมะเร็งวิทยา (Oncology) โดยเฉพาะชนิดที่ยากต่อการรักษา, กลุ่มโรคหลอดเลือดหัวใจ ไตและเมแทบอลิซึม (CVRM), กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ ภูมิคุ้มกันและโรคติดเชื้อ (Respiratory, Immunology and Infectious Disease หรือ RIID)

ย้อนกลับไปในปี 2526 แอสตร้าเซนเนก้าเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย นับตั้งแต่สมัยยังเป็น Astra AB ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย ในปี 2542 ซึ่งชื่อของ “แอสตร้าเซนเนก้า” เกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการของ Astra AB บริษัทยาเก่าแก่ของสวีเดน และ Zeneca Group บริษัทยาของประเทศอังกฤษ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ

ปัจจุบันมีพนักงานกว่า 76,000 คน ประจำสำนักงาน 26 แห่งใน 16 ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีฐานการวิจัยและพัฒนา 3 แห่ง คือ ในเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ, กอเทนเบิร์ก สวีเดน และเมืองเกเธอร์สเบิร์ก รัฐแมริแลนด์ สหรัฐอเมริกา อีกทั้งมีห้องปฏิบัติการทดลองของตนเองในซานฟรานซิสโก และบอสตัน สหรัฐอเมริกา โอซากา ญี่ปุ่น และเซี่ยงไฮ้ จีน โดยในปัจจุบัน แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย มีพนักงานจำนวนกว่า 270 คน

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แอสตร้าเซนเนก้ามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 พร้อมทั้งเกิดความร่วมมือกับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ผู้ดำเนินการวิจัย พัฒนา และผลิตยา เครื่องมือแพทย์ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพครบวงจร ในการใช้เป็นฐานการผลิตวัคซีนโควิด-19 เพื่อรองรับความต้องการในประเทศไทยและเพื่อส่งออก

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “เจมส์ ทีก” ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้บริหารหนุ่มที่รับผิดชอบการดำเนินธุรกิจที่อยู่ภายใต้ความคาดหวังและแรงกดดันจากผู้คนมากมาย เข้ามาดำรงตำแหน่งดังกล่าวในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดอันร้อนแรงในช่วงเดือนมกราคม 2563

ทำความรู้จัก “เจมส์ ทีก”

เจมส์ ทีก มีประสบการณ์ในสายเฮลท์แคร์มานานกว่า 15 ปี ซึ่งทำงานกับแอสตร้าเซนเนก้า สำนักงานใหญ่ ที่ประเทศอังกฤษ ดูแลรับผิดชอบด้านธุรกิจระหว่างประเทศ ดูแลตลาดภูมิภาคละตินอเมริกา, เอเชีย และแอฟริกา รวมถึงประเทศจีน ปัจจุบัน เจมส์ ก้าวขึ้นสู่ประธานบริษัท ดูแลตลาดในประเทศไทยด้วยวัย 38 ปี ซึ่งถือเป็นผู้บริหารที่ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดขององค์กรอย่างรวดเร็ว

แนวคิดการบริหารงาน

“ต้องเชื่อก่อนว่า ทุกสิ่งที่เราทำเป็นสิ่งที่ถูก โดยส่วนตัวยึดมั่นคำหนึ่งที่ถือเป็นคีย์เวิร์ดมาโดยตลอด คือ We Do The Right Thing”

คำนี้เปรียบเสมือนค่านิยมขององค์กรที่ส่วนตัวเชื่อและส่งต่อปลูกฝังให้ทีมงานทุกคนเชื่อ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดการพัฒนา วัคซีนโควิด-19 ในวันแรกที่รู้ว่าจะต้องเริ่มโปรเจ็กต์นี้ขึ้นมา เป็นวันที่รู้ว่าในชีวิตการทำงานจะต้องเจอกับงานที่มากมายมหาศาลขนาดไหน เพราะขนาดของโปรเจ็กต์นี้มันยิ่งใหญ่มาก ซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตคนทั้งโลกที่อยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน และมีเงื่อนไขด้านระยะเวลาที่ต้องจำกัดและรวดเร็วที่สุด

การทำงานจึงต้องประสานงานทุกฝ่ายข้ามขีดข้อจำกัดทุกขั้นตอน โดยระดมผู้เชี่ยวชาญระดับหัวกะทิจากทุกฝ่ายมาร่วมกันสร้างวัคซีนเพื่อปกป้องคนทั้งโลกให้ปลอดภัยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดครั้งนี้ โดยเราทุกคนเชื่อว่าสิ่งที่เราทำในสิ่งที่ถูกต้องและมีความภาคภูมิใจที่ได้รับผิดชอบมอบหมายให้ได้ทำงานที่ใหญ่ขนาดนี้

ความท้าทายในการทำงาน

ความร่วมมือของแอสตร้าเซนเนก้า กับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายในการทำงาน เนื่องจากโดยปกติแล้วการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการสร้างฐานการผลิตและองค์ความรู้ต่าง ๆ จะต้องใช้เวลานานนับ 10 ปี แต่ในสถานการณ์วิกฤตนี้ ทำให้การถ่ายทอดเทคโนโลยีจะต้องรวดเร็วเพื่อรักษาชีวิตผู้คนให้ได้มากที่สุด ประกอบกับความร่วมมือของพันธมิตรทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน

รวมถึงการดึงเอาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญทุกฝ่ายของบริษัท อาทิ นักวิจัย, แพทย์, นักกฎหมาย, ฝ่ายขึ้นทะเบียนยา ทำให้การถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 9 เดือนเท่านั้น โดยใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการตรวจสอบคุณภาพ ติดตามการประเมินงาน และอื่น ๆ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ซึ่งทำงานผ่านระบบ virtual ทั้งหมด

นอกจากนี้ สิ่งที่ทำให้สำเร็จได้อีก 2 ปัจจัย คือ ความมุ่งมั่น และเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งสอดคล้องกับการทำงานและความร่วมมือของพันธมิตรทุกฝ่าย เพราะเราไม่สามารถทำสำเร็จได้เพียงตัวคนเดียว

เปรียบเทียบการทำงานของรัฐบาลไทยกับต่างประเทศ

เจมส์ตอบคำถามนี้ว่า เป็นคำถามที่ตอบยาก เพราะในการทำงานของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน จึงอาจจะไม่สามารถเปรียบเทียบได้ แต่สิ่งหนึ่งคือเราได้ทำงานร่วมกับทุกฝ่ายอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะส่งมอบวัคซีนให้กับประชาชนชาวไทย ซึ่งอยากใช้พื้นที่ตรงนี้ขอบคุณทุกฝ่ายที่ทำให้สามารถส่งมอบวัคซีนได้สำเร็จจนถึงปัจจุบัน

จัดการความรู้สึกอย่างไรในการทำงาน

ต้องยอมรับว่าการทำงานในบริษัทนี้ และในสถานการณ์เช่นนี้ ได้รับแรงกดดันและความคาดหวังจากคนรอบข้าง รวมถึงกระแสข่าวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งส่วนตัวแม้เคยมีประสบการณ์การทำงานในการรับผิดชอบโปรเจ็กต์ที่ต้องพัฒนาและผลิตวัคซีนจำนวนหลายล้านโดสก่อนหน้านี้ แต่ก็คงไม่อาจเทียบได้กับสถานการณ์ปัจจุบัน

แต่สิ่งหนึ่งที่คล้ายกันคือเราเข้าใจได้ว่าจะต้องเผชิญกับอะไร ดังนั้นสิ่งที่เราทำคือ ก็ต้องจัดการกับการพัฒนาวัคซีนให้ทันกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่รุนแรง แม้วันนี้สถานการณ์ยังไม่สิ้นสุด แต่เมื่อลองมองย้อนกลับไปในช่วงวิกฤตรุนแรงที่ผ่านมา สิ่งที่ทำให้ผ่านช่วงเวลาที่หนักหนาในเวลานั้นมาได้คือ ภาพที่เกิดขึ้นในหัวถึงพันธกิจ และวิสัยทัศน์ที่ว่า “เราจะไม่หยุดพัก ถ้าทุกคนยังไม่ได้รับวัคซีน”

เพราะเรามีเป้าหมายเดียวและไปให้ถึงอย่างสุดความสามารถคือการหยุดยั้งและยับยั้งการแพร่ระบาดให้ได้ เหมือนที่เราดูแลครอบครัวและคนรอบข้าง ทำให้สะท้อนว่า สิ่งที่เราทำอยู่นั้นสำคัญ ต่อคนรอบข้าง ต่อประเทศ และต่อโลกอย่างไร จากนั้นเราจะมีสติและความภาคภูมิใจ โดยส่วนตัวมีวิธีการจัดการความเครียดและอารมณ์หลังการทำงาน คือ การวิ่ง ! ถ้าเราเครียดมาก หนักมาก เราก็เพียงแค่ วิ่ง และวิ่งให้เยอะขึ้นเท่านั้น