ก่อร่างเป็นบางกอก เมืองน่าอยู่ ศูนย์รวมชาติพันธุ์ โจทย์ท้าทาย ผู้ว่า กทม.คนใหม่

ผู้เขียน : ปนัดดา ฤทธิมัต

นับถอยหลังการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในงาน SUMMER BOOK FEST 2022 เทศกาลหนังสือฤดูร้อน ครั้งที่ 2 ณ มิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ ซึ่งนอกจากสำนักพิมพ์มติชนจะยกขบวนหนังสือมาให้นักอ่านได้เลือกซื้อแล้ว ยังได้จัดเวทีเสวนาในหัวข้อต่าง ๆ ที่น่าสนใจ

โดยเมื่อวันเสาร์ที่ 30 เมษายน 2565 มีการเสวนาภายใต้หัวข้อ “เมือง (น่า) อยู่ได้-เมือง (ใคร) อยู่ดี” วิทยากรที่มาร่วมเสวนาบนเวที ได้แก่ ประภัสสร์ ชูวิเชียร และ อนรรฆ พิทักษ์ธานิน

เราเริ่มพบหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์ในแถบกรุงเทพฯ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18-19 หรือตั้งแต่ พ.ศ. 2000 เป็นต้นมา มีการค้นพบงานศิลปกรรมซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปในสมัยอยุธยาตอนต้น กระจายไปในชุมชนริมแม่น้ำลำคลองที่มีลักษณะคดเคี้ยว จนกระทั่ง พ.ศ. 2090-2100 สมเด็จพระไชยราชาจึงโปรดฯให้ขุดคลองลัด ที่เรียกว่า “คลองลัดบางกอก”

ปัจจุบันคือบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปจนถึงปากคลองตลาด เพื่อให้ผู้คนในสมัยอยุธยาที่จะต้องเดินทางไปติดต่อค้าขายเดินทางได้สะดวกมากขึ้น

ในเวลาเดียวกันเป็นช่วงใกล้เสียกรุงครั้งแรก ก็ได้มีการตั้งชุมชนบางกอกบริเวณคลองลัดให้กลายเป็นเมืองขึ้นมาชื่อว่า “เมืองธนบุรี” หรือที่เรามักเรียกกันว่า “ธนบุรีศรีมหาสมุทร” ในภายหลัง แสดงให้เห็นว่าพัฒนาการของชุมชนในกรุงเทพฯ เริ่มจากการเป็นหมู่บ้านขนาดเล็กกระจายตัวไปตามลำน้ำที่มีลักษณะโค้ง การประกอบอาชีพในสมัยนั้นส่วนใหญ่เป็นการทำสวน และมีทำประมงบางส่วน

หลังจากขุดคลองลัดมาเป็นเวลา 10 ปี ทำให้บริเวณนี้กลายเป็นเมืองได้ เนื่องจากการขุดคลองลัดทำให้จุดนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์ เดินทางง่ายขึ้น หลังจากนั้นพัฒนาการของเมืองธนบุรี หรือบางกอก ก็เริ่มทวีความสำคัญขึ้นมาอย่างรวดเร็วจนถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย อย่างที่ทราบกันดีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่มีการติดต่อกับต่างชาติ เมืองธนบุรีหรือบางกอกได้รับความสนใจจากอยุธยามาก

จนกระทั่งมีการสร้างป้อมปราการสองฝั่งแม่น้ำ นั่นคือ ป้อมวิไชยประสิทธิ์ที่อยู่ภายในเขตทหารเรือ และอีกป้อมที่ถูกรื้อไปแล้วตรงบริเวณมิวเซียมสยาม

ก่อร่างเป็นบางกอก

พัฒนาการทางด้านสังคมของสยาม น่าจะเกิดจากชาวต่างชาติที่เข้ามาค้าขาย ไม่ว่าจะเป็นชาวจีน มุสลิม หรือชนกลุ่มน้อย จากเดิมในสมัยรัชกาลที่ 1-4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คนไทยถูกปกครองโดยระบอบมูลนาย ส่วนชาวต่างชาติมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงเมืองจะทำให้สังคมในเมืองเปลี่ยนไปสู่ระบบที่ต่างจากเดิม อย่างกลุ่มชาวจีนที่นำพาเรื่องการค้า การผูกขาดภาษีอากรเข้ามา กลุ่มชาวมุสลิมที่มีส่วนเกี่ยวพันกับราชสำนัก

ทำให้รสนิยมของราชสำนักปรับเปลี่ยนไปด้วย หรือกลุ่มชาวมอญและชาวลาว ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มหลักกลุ่มหนึ่งที่ถูกเคลื่อนย้ายเข้ามา และกลายเป็นพลเมืองหลักของกรุงเทพฯ ทำให้กรุงเทพฯกลายเป็นพหุสังคมมาจนถึงปัจจุบัน

กรุงเทพฯเกิดจากกลุ่มคนที่มีความหลากหลาย ความน่าสนใจคือ กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เหล่านี้มีการตั้งชุมชน หรือนิคมตามพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งแต่ละนิคมมีหน้าที่แตกต่างกันออกไป ประเด็นต่อมา กลุ่มคนเหล่านี้มีความยึดโยงผ่านเครือญาติทำให้มีเรื่องของการเป็นชุมชนการเป็นตัวตนที่สูง ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ในปัจจุบันก็เริ่มหายไป เพราะความเป็นนิคมหมดไปพร้อมกับการยกเลิกระบบทาส

โจทย์หลัก กทม. ปลูกจิตสำนึกความมีส่วนร่วม

ความเป็นชุมชนของกรุงเทพฯในปัจจุบันไม่เหมือนกับในอดีต เพราะความเป็นชุมชนในอดีตมีความเป็นเครือญาติซ้อนเข้ามา มีการทำงานที่เชื่อมโยงกัน ขณะที่ความเป็นชุมชนในปัจจุบันเป็นการแค่นำป้ายติดตั้งในชุมชน คอนเซ็ปต์หนึ่งของความเป็นชุมชนต้องมีอะไรที่ร่วมกัน เช่น มีอาชีพร่วมกัน มีความเป็นเครือญาติ ดังนั้นความเป็นชุมชนของสังคมไทยในอดีตโดยเฉพาะในกรุงเทพฯคือความเป็นเครือญาติ

แต่พอผู้คนย้ายออกจากพื้นที่ ความเป็นเครือญาติที่อยู่ในพื้นที่จึงหมดลง มีคนนอกชุมชนย้ายเข้ามาอยู่แทน จึงกลายเป็นปัญหาว่าเราจะดึงคนข้างนอกเข้ามาให้รู้สึกว่ามีส่วนร่วมในการเป็นคนหนึ่งของพื้นที่นี้ได้อย่างไร

เพราะฉะนั้น ในการออกแบบเมืองอาจจะต้องมีวิธีคิดใหม่

“ศาสนา” ขับเคลื่อนสังคมในอดีต

หนังสือ “ก่อร่างเป็นบางกอก” ได้กล่าวถึงการจัดการสำนึกของผู้คนที่มาอาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกันว่า สังคมในรัฐสมัยจารีตของกรุงเทพฯ การขับเคลื่อนสังคมเป็นไปโดยอำนาจของราชสำนักเพียงหนึ่งเดียว ที่ใช้แนวคิดทางศาสนาทั้งพุทธและพราหมณ์

โดยเราจะเห็นได้จากการออกแบบผังเมืองในระยะแรกที่เน้นการสร้างแกนหลักของเมืองให้สอดคล้องกับความคิดทางศาสนา นั่นคือการสร้างแกนกลาง และให้มีขอบรอบนอกที่เป็นมณฑลขยายออกไปเรื่อย ๆ ซึ่งคนที่อยู่แกนกลางคือกษัตริย์และเจ้านาย วงแหวนรอบนอกคือขุนนาง บริเวณขอบเป็นไพร่ และขอบนอกสุดเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ลักษณะนี้เป็นการจัดการที่ทำให้เกิดสำนึกว่าตนเองมีหน้าที่อะไร

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า สำนึกในอดีตเกิดจากการชี้นำของราชสำนัก โดยอาศัยภูมิหลังของศาสนาเป็นหลัก แต่เรื่องเหล่านี้ได้เปลี่ยนไปในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการปฏิรูปประเทศ และมีกระแสความสมัยใหม่เข้ามายังสยามมากขึ้น

การทำให้คนมีความสุขคือเป้าหลักการพัฒนาเมือง

ภายหลังปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา การพัฒนากรุงเทพฯมีเป้าหมายหลักคือการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะในระยะเวลานั้น เรามองว่าซิตี้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ มาจนถึงปัจจุบัน

อย่างเรื่องผังเมือง กรุงเทพฯเคยมีมาสเตอร์แพลนชื่อ ลิทช์ฟิลด์ ในปี พ.ศ. 2503 ที่มีพอยต์สำคัญคือการเปลี่ยนกรุงเทพฯ จากเมืองแห่งน้ำมาเป็นเมืองแห่งถนน มีการเสนอไอเดียรื้อหัวลำโพงตั้งแต่ตอนนั้น เพราะเป็นต้นเหตุที่ทำให้รถติด ในขณะเดียวกันการตัดถนนเราไม่ได้ตัดตามผังทั้งหมด ทำให้กรุงเทพฯเกิดปัญหาที่อาจารย์ผังเมืองมักพูดว่า โครงสร้างไม่ค่อยดี

อย่างไรก็ตาม การแก้ผังเมืองในปัจจุบันเป็นสิ่งที่มองว่าเป็นไปไม่ได้ และคิดว่าไม่ใช่เป้าหมายหลักของการพัฒนาเมืองเมืองหลายเมืองในโลกผังเมืองก็ไม่ได้ดี แต่เขาสามารถบริหารจัดการให้คนในเมืองมีความสุข มีความรู้สึกเป็นอิสระ ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของเมืองได้ นี่คือโจทย์หลัก

เพิ่ม Public Space ในกรุงเทพฯ

นอกจากนี้ กรุงเทพฯเป็นเมืองที่มีต้นทุนที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมจำนวนมาก แต่นำมาใช้เป็นโครงสร้างพื้นฐานน้อยมาก ยกตัวอย่าง เช่น พื้นที่ที่เป็นศาสนสถาน ไม่ว่าจะเป็นวัด ศาลเจ้า มัสยิด กรุงเทพฯสามารถพัฒนาพื้นที่เหล่านี้ให้เป็น public space ที่กรุงเทพฯขาดแคลนได้ดี ทุกวันนี้ทั้งวัดที่มีอยู่และวัดร้าง คนมักมองว่าเป็นพื้นที่ลึกลับ ไม่จำเป็นไม่เข้าไป

แต่ลองมองต่างประเทศ คนสามารถเดินเข้าไปนั่งเล่น พักผ่อนในศาลเจ้าได้ โดยไม่ได้รู้สึกว่าจะเข้าไปได้ก็ต่อเมื่อต้องทำพิธีกรรมทางศาสนาเท่านั้น

มีงานวิจัยหนึ่งระบุว่า คนกรุงเทพฯส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงสวนสาธารณะได้ ส่วนหนึ่งเพราะคนที่อาศัยในกรุงเทพฯเป็นคนหาเช้ากินค่ำ ไม่มีเวลาที่จะไปสวนสาธารณะ เขาต้องการเพียงที่นั่งพักผ่อนหย่อนใจระหว่างวัน ดังนั้น public space จึงต้องมีมากกว่าสวนสาธารณะ

และที่ผ่านมาการพัฒนาสวนสาธารณะเป็นการไปทุ่มให้กับบิ๊กโปรเจ็กต์ใจกลางเมือง ซึ่งทำให้คนเข้าไม่ถึงแต่กลายเป็นการไปเพิ่มแวลูให้กับอสังหาริมทรัพย์บริเวณโดยรอบแทน การทำให้คนในเมืองมีความสุข ไม่ได้เริ่มจากการสร้างอะไรที่ใหญ่โต แต่เริ่มจากจุดเล็ก ๆ ในแต่ละเมืองก่อน แล้วจึงเกิดการเปลี่ยนเมือง เปลี่ยนคน ในลำดับต่อไป

รวมถึงการพัฒนาแหล่งน้ำในกรุงเทพฯ เพื่อใช้ทดแทนการเดินทาง ช่วยแชร์พื้นที่บนท้องถนน และเป็นการพัฒนาระบบคมนาคมซึ่งเป็นขนส่งมวลชนที่ถือว่าประหยัด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ หนึ่งในปัญหาสำคัญของประเทศไทยในแง่ของการพัฒนาเมืองคือ นอกจากตอนนี้ที่มีการกระจายอำนาจและทรัพยากรแล้ว จำเป็นต้องกระจายอิสระให้เมืองต่าง ๆ สามารถเติบโตด้วยตัวเองได้ แต่ตอนนี้เมืองไม่มีอิสระ จะทำอะไรต้องทำตามแผนของชาติตลอดเวลา หรือไม่มีทรัพยากร (เงิน) ที่จะมาช่วยให้บรรลุเป้าหมายได้

ฝากคำถามถึง (ว่าที่) ผู้ว่าฯ กทม.

สุดท้ายก่อนจะส่งต่อเวทีเสวนาให้กับหัวข้อถัดไป “(ว่าที่) ผู้ว่าฯ อ่านอะไร : วิสัยทัศน์และนโยบายหนังสือ” ที่ฝ่ายจัดงานเชิญผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.มาร่วมพูดคุย ได้แก่ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, สกลธี ภัททิยกุล, ดร.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร และ น.ต.ศิธา ทิวารี

ด้าน ประภัสสร์ ชูวิเชียร ฝากคำถามถึงว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.ว่า เมื่อมาเป็นผู้ว่าฯ กทม.แล้ว จะจัดการกับอดีตของกรุงเทพฯอย่างไร ? ส่วนคำถามของอนรรฆ พิทักษ์ธานิน คือ เป้าหมายในการพัฒนากรุงเทพฯคืออะไร ?