ท่องหอศิลป์ฯ ชมนิทรรศการ Pride Month : Pride of All Genders

พาชมนิทรรศการ “Pride Month : Pride of All Genders” โดย มูลนิธิเอสซีจี ณ ห้องนิทรรศการ ชั้น 3 หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันนี้-3 กรกฎาคม 2565

วันที่ 16 มิถุนายน 2565 พาชมนิทรรศการ “Pride Month : Pride of All Genders” ความภาคภูมิใจของทุกเพศอย่างเท่าเทียม ผ่านผลงานศิลปะจากศิลปินรุ่นใหม่ ที่มาร่วมสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในรูปแบบจิตรกรรม ประติมากรรม ศิลปะสื่อผสม และศิลปะการจัดวาง ได้แก่

“Hydrilla” โดย นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์ โดยมีแนวคิดจากสาหร่ายหางกระรอก เป็นพืชที่มีดอกเพศผู้และเพศเมียเกิดอยู่ในต้นเดียวกัน (Monoecious plant) และยังสามารถมีดอกเพศผู้และเพศเมียอยู่แยกต้นกันได้อีกด้วย (Dioecious plant) พวกมันจึงเปรียบเสมือนเป็นสิ่งมีชีวิตที่เกิดมาโดยมีความหลากหลายทางเพศไปตามธรรมชาติ

ผลงานชิ้นนี้จึงเป็นการนำสาหร่ายหางกระรอกที่ได้มาจากร้านขายพรรณไม้น้ำจากทุกภูมิภาคในประเทศไทย ได้แก่ ภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน), ภาคตะวันตก, ภาคกลาง (กรุงเทพฯ และปริมณฑล), ภาคตะวันออก และภาคใต้ เพื่อเป็นตัวแทนของผู้คนที่มีความหลากหลาย และมีถิ่นที่อยู่ที่แตกต่างกันไปในแต่ละภาค นำมาจัดวางใส่ตู้ปลาเพื่อจำลองพื้นที่ของเขตภูมิภาคในประเทศไทย

โดยมีตู้ปลาที่ตั้งอยู่ตรงกลางทำหน้าที่ในการรวมภูมิภาคทั้งหมดเข้าด้วยกัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิตที่เติบโตมาจากพื้นที่ที่แตกต่างกัน แต่กลับใช้ชีวิตอยู่ได้ในพื้นที่เดียวกัน โดยปราศจากเงื่อนไขของความแตกต่างในเรื่องของแหล่งกำเนิด เพศ และลักษณะทางกายภาพ

“Kinky” (ประหลาด) โดย ภาราดา ภัทรกุลปรีดา จากแนวคิดที่ว่า ในวัยเด็กเคยถูกมองเป็นตัวประหลาดในสายตาเพื่อน ๆ และคุณครูบางคน เพียงเพราะอาชีพทางบ้านที่ขายไก่ย่าง ผมจึงมีฉายาในโรงเรียนว่า ไอ้ไก่ย่าง , ไอ้ไก่เน่า หรือคำพูดบางประโยค เช่น “เหม็นควันไก่ย่างอย่าเข้ามาใกล้” ซึ่งทำให้ไม่กล้าเข้าหาเพื่อนและจะปรึกษาคุณครู คำพูดดังกล่าวทำให้เกิดความรู้สึกและความคิดว่าตัวเองเป็นเสมือนตัวประหลาด

เมื่อเราถูกเรียกในชื่อที่เราไม่ได้พึงพอใจในทุก ๆ ครั้ง ความรู้สึกจึงเหมือนการถูกทำร้ายด้วยคำพูด ผู้สร้างสรรค์เห็นถึงปัญหาของการทำร้ายกันด้วยคำพูดหรือ Verbal Bullying คือการกลั่นแกล้งทางวาจา เช่น การเรียกชื่อ หรือ ตั้งฉายาที่ทำให้ฝ่ายผู้ถูกกระทำไม่ได้พึงพอใจ ซึ่งเป็นปัญหาที่หลายคนเคยเป็นผู้ถูกกระทำ หรืออาจเคยเป็นฝ่ายกระทำ

ผู้สร้างสรรค์จึงต้องการนำเสนอประเด็น การทำร้ายกันด้วยคำพูด มาสร้างสรรค์เป็นผลงานที่มีเป้าหมาย ให้ผลงานศิลปะเป็นเหมือนสื่อกลาง ที่ต้องการให้บุคคลที่เคยถูกกระทำได้แสดงความรู้สึกนึกคิด จากการถูกทำร้ายด้วยคำพูด และในขณะเดียวกัน ผู้สร้างสรรค์ต้องการให้ผลงานเป็นสื่อกลางกับฝ่ายผู้ที่กระทำ ได้แสดงคำขอโทษ ที่อาจเคยทำร้ายคนอื่นด้วยคำพูด ไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่ได้เจตนา ผ่านการเขียนข้อความแสดงความคิดเห็นบนกำแพง ที่ต้องการให้ผู้ชมตระหนักในเรื่องการทำร้ายกันด้วยคำพูด ที่จะนำไปสู่ปัญหาสภาพทางจิตใจของผู้ที่เป็นฝ่ายถูกกระทำ

“Temporary Sculptures” โดย นักรบ มูลมานัส มาจากแนวความคิดที่ว่า ในประวัติศาสตร์การสร้างสรรค์ประติมากรรมของมนุษยชาติ ในเบื้องแรกศิลปกรรมเหล่านั้นมักนำเสนอภาพลักษณ์ อันเป็นอุดมคติลักษณะของ “ชาย” และ “หญิง” ที่สังคมปรารถนา อย่างไรก็ตาม ในหลายวัฒนธรรมทั้งจากโลกตะวันออกและตะวันตก ก็มีปรัมปราคติของภาพอุดมคติที่รวมคุณลักษณะของ “ชาย” และ “หญิง” เข้าไว้ด้วยกัน

ศิลปินจึงได้เลือกสรรภาพของประติมากรรมในหลากหลายช่วงเวลาและจากหลากหลายภูมิภาคนำมาสลับสับเปลี่ยนร้อยเรียงกันใหม่ผ่าน Video Installation ให้กลายเป็นประติมากรรมอันแสดงภาพความหลากหลายไม่เจาะจงเพศ ชาติพันธุ์ วัฒนธรรม และกาลเวลา ประติมากรรมเหล่านี้ปรากฏขึ้นเพียงชั่วครู่แต่เปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ไปไม่มีที่สิ้นสุด นำไปสู่ทั้งการสร้างนิยามใหม่และการตั้งตาม รวมถึงการเฉลิมฉลองให้กับความหลากหลายที่ดำรงอยู่และวิวัฒน์ไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

“รื่นเริง” โดย นารีญา คงโนนนอก มาจากแนวความคิดที่ว่า ข้าพเจ้าเห็นว่าความแตกต่างของแต่ละเพศ ไม่ว่าจะเป็น ชาย หญิง หรือแม้กระทั่ง LGBTQIA+…..ทุกเพศ..ทุกคนล้วนแล้วแต่มีมนต์เสน่ห์ที่ต่างกันออกไป อยู่ในตัวของตัวเอง…เมื่ออยู่รวมกันจึงเกิดเป็นสีสันแห่งความแตกต่าง ทำให้เกิดสิ่งที่งดงามทางด้านสังคมและจิตใจ…ได้อย่างลงตัวและสมบูรณ์แบบ

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมให้ได้ร่วมสนุก โดยถ่ายภาพเซลฟีตัวเองภายในงาน จากนั้นสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อแอดเฟรนด์ SCG Pride Month เพื่อส่งรูปที่ต้องการพรินต์เสร็จแล้วเขียนข้อความสนับสนุน หรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ LGBTQAI+ แล้วติดบนผนัง สร้างศิลปะแห่งความภาคภูมิใจร่วมกัน อีกทั้งบริเวณทางเข้างานยังมีสติ๊กเกอร์ให้ผู้มาชมนิทรรศการลงเสียงว่าเห็นด้วยกับกฎหมายข้อใด ระหว่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม กับ พ.ร.บ.คู่ชีวิต

โดยงานนี้จัดโดยมูลนิธิเอสซีจี ณ ห้องนิทรรศการ ชั้น 3 หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันนี้-3 กรกฎาคม 2565