BCG ฟื้นเศรษฐกิจ ส.อ.ท. ชงของบ-มาตรการจูงใจธุรกิจไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

เกรียงไกร เธียรนุกุล
เกรียงไกร เธียรนุกุล

ส.อ.ท. หนุนนโยบาย BCG ฟื้นเศรษฐกิจ เสริมความสามารถแข่งขัน ชงรัฐอัดงบประมาณ มาตรการจูงใจ ทบทวนปรับปรุงกฎระเบียบใหม่ช่วยธุรกิจไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ด้าน “กระทรวงทรัพย์” ขอทุกฝ่ายระดมแก้ปัญหาโลกร้อนพร้อมกัน

วันที่ 20 สิงหาคม 2565 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในงานพิธีปิดการศึกษาอบรม หลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ในหัวข้อเสวนา การขับเคลื่อน “Absolute Decoupling” สู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ว่าปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัยตั้งแต่ดิจิทัลดิสรัปชั่น เทรดวอร์ สงครามรัสเซีย-ยูเครน โควิด จนมาถึงเรื่องของสภาพแวดล้อมโลกร้อน

ดังนั้นทิศทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องนำแนวคิด Absolute Decoupling มาพิจารณา รวมทั้งมุ่งเน้นการส่งเสริมและสนับสนุนสมาชิก ส.อ.ท. และภาคอุตสาหกรรมในการดำเนินงานตามนโยบาย BCG และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้มุ่งไปสู่การเป็น Carbon Neutrality ในปี 2593 และ Net Zero Emission ในปี 2608

ซึ่งต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาครัฐที่ต้องสนับสนุนงบประมาณ มาตรการจูงใจ และการทบทวนปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสมเพื่อช่วยส่งเสริมศักยภาพทางการแข่งขัน
ทางด้าน นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในฐานะภาครัฐหน่วยงานกำกับและดูแลเรื่องของสิ่งแวดล้อมโดยตรงว่า ผลจากการศึกษาอบรมธรรมาภิบาลด้านสิ่งแวดล้อม ให้กับทางผู้บริหารหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรอิสระ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

และเอกชน จะนำผลดังกล่าวไปสู่การป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ ด้วยการนำไปใช้ในการกำหนดนโยบาย สร้างธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อม ถือเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก ที่ทุกคนต้องมีความรับผิดชอบในการร่วมกันแก้ไขปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้

โดยประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายร่วมลดก๊าซเรือนกระจกในที่ประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP 26) ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร โดยจะมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาประเทศต้องพัฒนาทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แนวคิดของการผลักดันให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือกำไรของธุรกิจ ในขณะที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจใช้ทั้งลดการใช้ทรัพยากร ลดของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตด้วยการนำของเสียกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงการพัฒนากระบวนการผลิตหรือนวัตกรรมที่ลดการเกิดของเสียจากกระบวนการผลิต ควบคู่ไปกับการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ควรเป็นเป้าหมายระยะยาวของทุกประเทศ

นายเฉลิมชัย ปาปะทา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวเพิ่มเติมว่า การเสริมสร้างศักยภาพนักบริหารระดับสูงในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมแบบองค์รวม และบูรณาการตามหลักธรรมาภิบาล ตลอดจนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม คือจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ประเทศลดของเสีย ลดขยะ ลดคาร์บอน เพราะเมื่อผู้บริหารมีนโยบายแนวคิดมุ่งตรงไปแบบนี้ แน่นอนว่าองค์กรจะต้องเดินไปตามนี้เช่นกัน

ขณะที่ ส.อ.ท. มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง กระทรวงพลังงาน องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ตอบรับแนวทางเดียวกันและเห็นพ้องกันว่า นโยบายด้าน BCG คือแนวทางและจุดเริ่มต้นที่ถูกต้อง ที่ต้องนำมาใช้ทุกอุตสาหกรรม ทุกธุรกิจ ทั้งด้านการขนส่ง ด้านท่องเที่ยว ด้านน้ำและพลังงาน การเกษตร อุตสาหกรรม และเพิ่มพื้นที่สีเขียว ขณะเดียวกันต้องมีการจัดการของเสียให้ถูกต้องด้วยเช่นกัน