ปตท.ฉีกหนีวิกฤตพลังงาน ดึงโมเดลอังกฤษตั้งไข่ “แพลนต์เบส”

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์
อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์
สัมภาษณ์

หลังจาก ปตท.ได้ปรับวิสัยทัศน์เพื่อสอดรับกับการดำเนินงานในอนาคต Powering Life with Future Energy and Beyondหรือขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต ภายใต้การนำของ CEO “อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เดินหน้าแผนงานใน “ธุรกิจใหม่” โดยตั้งเป้าในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือปี 2575 จะมีรายได้จากส่วนของธุรกิจใหม่นี้ 30% ของผลประกอบการทั้งหมด

Go Green-Go Electric

วิกฤตราคาน้ำมันส่งผลให้ราคาพลังงานเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์โลก บางช่วงมีการขาดแคลน และในช่วงปีที่ผ่านมา วิกฤตการระบาดโควิด-19 ความตึงเครียดรัสเซีย-ยูเครน ล้วนมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างรวดเร็ว

จึงเป็นจุดเปลี่ยนและความท้าทาย “ความมั่นคงทางพลังงาน” เกิดเป็นไอเดียแนวคิดนำไปสู่การดำเนินธุรกิจในอนาคต Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังอนาคติ ซึ่งต่อจากนี้จะมุ่งพัฒนา ขับเคลื่อนทุกชีวิต ผู้คน ชุมชน สังคม ส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้มั่นคงมากยิ่งขึ้นด้วยพลังงานอนาคต

และธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้มากขึ้น ขณะเดียวกัน เราจะทำอย่างไรต่อเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ แต่เชื้อเพลิงในรูปแบบเดิมกำลังจะเปลี่ยนแปลง ที่ชัดเจนที่สุดตั้งแต่ปี 2558 นั่นคือ “หมดยุคเชื้อเพลิงถ่านหิน”

แม้ยุโรปนำกลับมาใช้ในขณะนี้ก็เป็นเพียงกรณีชั่วคราวเท่านั้น เช่นเดียวกับน้ำมันยังคงมีการใช้สูงสุดไปอีกถึงปี 2575 หรือประมาณ 10 ปีข้างหน้า แต่ควรจะทยอยลดการใช้ลง และเพิ่มปริมาณการใช้ “พลังงานสะอาด” ปรับใช้และจัดหาก๊าซธรรมชาติให้มากขึ้น

โดยคาดว่าจะยังมีการใช้ต่อเนื่องไปจนถึง 2583 แต่ในท้ายที่สุด ถนนทุกสายในธุรกิจพลังงานทั้งโลกกำลังจะเปลี่ยนไปสู่การใช้พลังงานทดแทน พลังงานสะอาด ภายใต้หลัก Go Green และ Go Electric ที่ ปตท.วางแนวคิดไว้

“รูปแบบการใช้พลังงานในอนาคต จะมุ่งไปด้าน Go Green Go Electric มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะจะเห็นได้จากดัชนีชี้วัดยอดขายจากสถานีน้ำมันในปัจจุบัน น่าสนใจว่าคนใช้ คนเข้าปั๊มน้ำมัน แต่ไม่เติมน้ำมัน สิ่งเหล่านี้เป็นเสมือนหนึ่งการเปลี่ยนผ่านในธุรกิจ ปตท.”

6 ขาธุรกิจใหม่

การปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่วิสัยทัศน์ใหม่ ปตท.จะมุ่งไปใน 6 ขาคือ ขาที่ 1 คือ การไปสู่พลังงานอนาคต พลังงานสะอาด เห็นได้จากการเดินหน้าไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งการใช้พลังงานทดแทนในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน

ดังนั้น แม้ว่าวันนี้เรายังอยู่ที่เชื้อเพลิงฟอสซิล ถ่านหิน แต่ที่ผ่านมา ปตท.ได้เข้าไปในธุรกิจพลังงานสะอาด ไม่ว่าจะเป็นพลังงานลมและแสงอาทิตย์ เดินหน้าผลิตรถยนต์ไฟฟ้า EV ระบบกักเก็บพลังงานสำรอง รวมทั้งการวาง Ecosystem แพลตฟอร์มที่เสริมภาคอุตสาหกรรมของกลุ่มเข้าถึงพลังงานสะอาดได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น และมากขึ้น

ขณะที่อีก 5 ขาจะเป็นธุรกิจใหม่ที่ใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัล รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของคนทั้งโลก การสนับสนุน ผลักดัน 12 อุตสาหกรรมใหม่ S-curve ของประเทศไทย

คือ 1.Life Science เป็นการลงทุนด้านผลิตภัณฑ์ยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ และอาหารเพื่อสุขภาพ 2.Mobility and Lifestyle การร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อให้สถานีบริการน้ำมันของ ปตท.สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น

3.High value business ต่อยอดธุรกิจปิโตรเคมี 4.Logistics and Infrastructure พัฒนาการขนส่งของประเทศ และ 5.AI, Robotics, and Digitalization ธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูง รวมถึงการผลิตจักรกลอัจริยะเพื่อส่งเสริมธุรกิจในเครือ

จุดพลุ Life Science

ธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจพลังงาน (Beyond Energy) อย่าง Life Science เป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรง โดยเฉพาะโปรตีนจากพืชหรือแพลนต์เบส (Plant-based protein)

ซึ่ง ปตท.ลงทุนธุรกิจนี้ผ่านบริษัทลูกคือ บริษัท อินโนบิก (เอเชีย) จำกัด ร่วมทุนกับบริษัท โนฟ ฟู้ดส์ จำกัด (บริษัทย่อยที่ NRF ถือหุ้น 100%) ตั้ง บริษัท นิวทรา รีเจนเนอเรทีฟ โปรตีน จำกัด (NRPT) ถือหุ้น เท่ากัน บริษัทละ 50% จะทำหน้าที่ผลิตและจำหน่ายแพลนต์เบส

ซึ่งล่าสุดนำคณะเดินทางศึกษาแนวทางธุรกิจใหม่ โรงงานโปรตีนจากพืช กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (22-28 สิงหาคม 2565) เป็น Start up ที่ “Wicked Kitchen” แบรนด์อาหารแพลนต์เบส 100% ระดับโลกประเทศอังกฤษ

และโรงงาน plant and bean (UK) เพื่อศึกษาโนว์ฮาวและไอเดียสำหรับไปจัดตั้งโรงงาน พัฒนา ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชแบบครบวงจร ที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.อยุธยา โดยใช้เทคโนโลยีชั้นสูง กำลังการผลิตเฟสแรกปริมาณ 3,000 ตัน

คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 2/2566 อนาคตโรงงานแห่งนี้จะเป็นศูนย์กลางการผลิตและจัดจำหน่ายให้กับตลาดทั่วภูมิภาคอาเซียน พร้อมรองรับการพัฒนาธุรกิจอาหารสำหรับอนาคต (Food for Future) สอดคล้องเทรนด์การบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ

ทุ่ม 5 หมื่นล้านปั๊มธุรกิจใหม่

การลุยธุรกิจใหม่ 6 ขานี้ ปตท.ตั้งเป้าเพิ่มการลงทุนธุรกิจใหม่ในส่วนนวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัลในส่วนนี้ต่อเนื่อง ตั้งเป้าลงทุนประมาณ 30% ของเงินลงทุนที่ได้ตั้งไว้ ในแผน 5 ปี (ปี 2565-2569) ของ ปตท. 146,000 ล้านบาท

หรือเบื้องต้นประมาณ 50,000 ล้านบาท และตั้งเป้าในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือปี 2575 จะมีรายได้จากส่วนของธุรกิจใหม่นี้ 30% ของผลประกอบการทั้งหมด

มั่นใจเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีขึ้น

สำหรับภาพรวมของธุรกิจของปตท.ขณะนี้ มองว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีขึ้น หลังจากการผ่อนคลายมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ในปีนี้ 2.7-3.2% ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาที่ขยายตัวประมาณ 1.5% ส่งผลดีต่อธุรกิจของปตท.

โดยในครึ่งปีแรก ปตท.มีกำไร 64,419 ล้านบาท ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นในทุกธุรกิจ สูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่ง ปตท.มีกำไร 57,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หากเทียบกำไรกับยอดขายโดยรวมของ ปตท.จะอยู่ที่ 4% ซึ่งถือว่า “ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย” ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้น ซึ่งกำไรต่อยอดขายจะอยู่ที่ประมาณ 10% โดยกำไรที่ ปตท.มีนั้น จะแบ่งเป็นการนำส่งเข้ารัฐใน 2 ทาง คือผ่านการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และเงินปันผลส่วนที่รัฐบาลถือหุ้นรวมกัน 68% นอกจากนั้น จะนำไปใช้หนี้และใช้ในการลงทุนต่อเนื่อง

โดยในขณะนี้ ปตท.ยังมีหนี้สินอยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งอาจจะมองว่าสูง แต่พิจารณาแล้วยังอยู่ในภาวะที่เหมาะสมและสามารถที่จะชำระได้ และท้ายที่สุดคือการนำกำไรเพื่อใช้ในการตอบแทนสังคม เพื่อคนไทย

ในช่วงที่ผ่านมา ปตท.ได้พยายามดูแลราคาน้ำมันมาตลอด จะเห็นว่าราคาของปตท.กับเจ้าอื่นแตกต่างกันอยู่ และยังได้สนับสนุนเงินให้กองทุนน้ำมัน 3,000 ล้านบาท และการดูแลราคาเชื้อเพลิงสำหรับแท็กซี่ หาบเร่ แผงลอย ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม


แต่ในส่วนที่มีการเสนอจะให้ ปตท.นำเงินกำไรทั้งหมดมาลดราคาน้ำมันทั้งหมดนั้น ในส่วนของกำไรไม่มีก็คงได้ เงินปันผลไม่มีก็ได้ แต่ ปตท.ยังจำเป็นต้องใช้หนี้ที่มีอยู่ ไม่อย่างนั้นธุรกิจคงไปต่อไม่ได้