เอกชนลุยผลิตน้ำมันไบโอเจ็ต รับกฎใหม่อียู-ดันไทยขึ้นแท่น “ฮับการบิน”

น้ำมันไบโอเจ็ต

สมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทยมองโอกาสอียูประกาศใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยั่งยืน “SAF” ดันไทยสู่ “ฮับการบิน” ด้านวงการโรงสกัดปาล์มลุ้นอานิสงส์ยกระดับราคา CPO เอกชนแนะรัฐวางนโยบายสร้างสมดุลการใช้ไบโอดีเซล “บางจากฯ” นำร่องผนึก ธนโชค ร่วมทุนตั้งบริษัทใหม่

ภายหลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ครั้งที่ 1/2565 ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้มีมติเห็นชอบให้กำหนดเพิ่มน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ กรีนดีเซล (bio hydrogenated diesel : BHD) และน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ ไบโอเจ็ต (biojet fuels) เป็นผลิตภัณฑ์โอเลโอเคมิคอลเป้าหมาย จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 6 ผลิตภัณฑ์ เพื่อดูดซับการใช้น้ำมันปาล์มและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรม

โดย BHD จะเป็นการเติมเต็มการใช้ไบโอดีเซลให้กลับขึ้นไปที่บี 10 ตามมาตรฐานเชื้อเพลิงยูโร 5 ส่วน biojet fuels จะรองรับแนวโน้มการเก็บภาษีคาร์บอน สำหรับสายการบินพาณิชย์ที่บินผ่านน่านฟ้าของสหภาพยุโรปที่ไม่ได้ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ

นายศาณินทร์ ตริยานนท์ นายกสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้เทรนด์การผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (sustainable aviation fuel หรือ SAF) ซึ่งจะสามารถนำน้ำมันพืชใช้แล้วหรือน้ำมันพืชชนิดอื่น ๆ มาผลิตก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นไบโอดีเซล ซึ่งกำลังได้รับความสนใจมากขึ้นจากทั่วโลก ภายหลังจากสหภาพยุโรป ได้มีการกำหนดเงื่อนไขการใช้น้ำมันอากาศยาน (JET) ยั่งยืน และมีการกำหนดให้สายการบินต่าง ๆ มุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

โดยปัจจุบันจะเห็นการลงทุนพัฒนาน้ำมันชนิดนี้เกิดขึ้นในหลายประเทศ ไม่ว่าสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย เพราะในแต่ละปีความต้องการใช้น้ำมันเจ็ตปริมาณมหาศาล

“SAF จะสามารถผลิตจากน้ำมันพืชใช้แล้วหรือน้ำมันพืชอื่นก็ได้ หรือเอทานอล ซึ่งก่อนหน้านี้เกาหลีมีการใช้ UCO (unconverted oil) ซึ่งในอดีตระดับราคาน้ำมันพืชใช้แล้วที่จะนำมาใช้ผลิต ราคาไม่แพง เพราะเป็นของเหลือทิ้ง การตั้งราคาจึงขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งอาจจะตั้งจากคุณภาพของน้ำมัน เช่น เมื่อซื้อมาแล้วสามารถนำไปผลิต SAF ให้ได้มาก 80-90% ก็จะราคาสูงตามคุณภาพ หรืออีกอย่างอาจจะคำนวณอ้างอิงจากราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ถ้าราคา CPO สูง ก็สูงตามไปด้วย”

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กิจการผลิตน้ำมันสำหรับเครื่องบิน รวมถึง biojet ปัจจุบันบีโอไอส่งเสริมการลงทุนอยู่ภายใต้กิจการโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งอยู่ในกลุ่ม B1 ที่จะได้รับยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักร ยกเว้นอากรวัตถุดิบผลิตเพื่อการส่งออก รวมถึงสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เช่น การถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน นอกจากนี้จะได้ยกเว้นภาษีนิติบุคคล 3 ปี แต่ต้องมีการนำระบบอัตโนมัติหุ่นยนต์มาใช้ และเชื่อมโยงหรือสนับสนุนภาคการผลิตในประเทศ โดยต้องยื่นขอรับการส่งเสริมก่อนสิ้นปี 2565

แหล่งข่าวจากวงการโรงสกัดปาล์มน้ำมันมองว่า การพัฒนา SAF น่าจะมีผลดี เพราะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น แต่ขนาดยังเล็ก จึงยังไม่มีผลต่อราคาปาล์ม โดยขณะนี้ราคาปาล์มได้รับผลจากการลดสัดส่วนผสมไบโอดีเซล (บี 100) ทำให้ราคาผลปาล์มลดลงเหลือ กก.ละ 5-6 บาท

แต่จากนี้ต้องดูว่าโรงงาน SAF จะใช้วัตถุดิบอะไร จากแหล่งใด เพราะน้ำมันพืชใช้แล้วนี้ถือเป็นน้ำมันเฉพาะกลุ่ม เป็นคนละตลาดคนละราคากับไบโอดีเซล แต่ไม่ผันผวนเท่ากับไบโอดีเซล

ส่วนแหล่งที่มาของน้ำมันพืชใช้แล้วสามารถรวบรวมได้จากโรงงานผู้ผลิตอาหารได้ แต่ยังมีปริมาณไม่มากนัก ดังนั้น หากโรงงาน SAF ขนาดใหญ่มาก ๆ อาจต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ

การพัฒนาน้ำมัน SAF จะมีส่วนสนับสนุนนโยบายการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบิน (ฮับการบิน) เพราะมีข้อกำหนดด้านการบินระหว่างประเทศว่า หากจะมีการบินผ่านสนามบินยุโรปต้องเติมน้ำมัน SAF เพื่อสร้างความยั่งยืน

หากไทยมีโรงงานผลิตน้ำมันนี้จะมีส่วนส่งเสริมเรื่องฮับการบิน อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตประการหนึ่งคือ การส่งเสริมการลงทุนเรื่องนี้จะมีต้นทุนสูงอาจจะสูงมากถึง 10,000-20,000 ล้านบาท ฉะนั้น ไทยจึงต้องวางนโยบายที่ชัดเจนถึงแนวทางการพัฒนา

โดยการผลิตน้ำมันอากาศยานจะเป็นสารคนละชนิดคนละโมเลกุลกับน้ำมันกรีนดีเซล โดยหากสนับสนุนเป็นน้ำมันอากาศยานถือว่าเหมาะสมเพราะตลาดมีความต้องการสูง และราคาดีกว่า

“ในกระบวนการผลิตจะได้กรีนดีเซลก่อน แล้วจึงต่อยอดไปเป็นเจ็ต หน้าตาโมเลกุลจะเปลี่ยนไปเลย เป็นการแปลงโฉมปิโตรเลียม ควรต้องวางหลักการให้ชัดว่าการผลิตกรีนดีเซลควรจะอยู่ในระดับใด เพราะต้นทุนกรีนดีเซลจะสูงกว่าการนำไบโอดีเซล มาผสมเป็น B7

การส่งเสริมก็ควรเริ่มจากตัวที่ราคาต่ำกว่าก่อน ไล่ขึ้นไปจนถึงตัวที่ราคาสูง ซึ่งในต่างประเทศจะไปผลิตถึง B10 และ B20 แล้ว แต่หากไทยจะสนับสนุน B7 และไปกรีนดีเซลเลยจะกระทบการจำหน่าย บี100 ได้ ควรหากวางกรอบการใช้ไม่ให้ต่ำกว่า 12% ก็จะไม่กระทบ”

รายงานข่าวระบุว่า ที่ผ่านมาไทยมีการส่งออก UCO ไปยังต่างประเทศ โดยมีกลุ่มบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บางจากฯนำร่องส่งออกไปเกาหลีใต้ในปี 2558 และมีการแยกหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวกับ SAF

จนกระทั่งล่าสุดในไตรมาส 2 บางจากฯรายงานผลประกอบการโดยระบุว่า ได้มีการผลิต UCO คิดเป็นสัดส่วนถึง 20% ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้มีส่วนช่วยหนุนค่าการกลั่น และลดผลกระทบจากดีมานด์น้ำมันในประเทศที่ปรับตัวลดลง

ส่วนการส่งเสริม SAF ของบางจากฯนั้นดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อ 4 เดือนก่อน บางจากฯโดยบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือจัดหาวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์สร้างหน่วยผลิตและจัดจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวภาพแบบยั่งยืน ร่วมกับนายธนวัฒน์ โดยบริษัท ธนโชค ออย ไลท์ จำกัด เป็นผู้ทำธุรกิจน้ำมันพืชปาล์มครบวงจร จ.สมุทรสาคร ผลิตน้ำมันพืชปาล์มแบรนด์ริชชี่ และไบโอดีเซล ถือเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการน้ำมันพืชใช้แล้วของไทย

ล่าสุดในวันที่ 31 สิงหาคม 2565 จะมีพิธีลงนามร่วมทุนจัดตั้ง บริษัท BSGF ระหว่างนายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และนายธนวัฒน์ ลินจงสุบงกช กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนโชค ออย ไลท์ จำกัด เพื่อเตรียมผลิตและจัดจำหน่าย SAF จากน้ำมันพืชใช้แล้วเป็นรายแรกในประเทศไทย กำลังการผลิตสูงสุดประมาณ 1,000,000 ลิตรต่อวัน มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมาย Net Zero GHG Emissions ในปี ค.ศ. 2050 และโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทย