sacit เฟ้นหาช่างฝีมืองานหัตถกรรมไทยปี’65 คัดสรร 25 ราย ต่อยอดเชิงพาณิชย์

งานหัตถกรรมไทย

sacit เผยถึงความสำเร็จ พร้อมเฟ้นหาช่างฝีมืองานหัตถกรรมไทยปี ’65 คัดสรร 25 ราย ที่สืบสานงานหัตถกรรมไทยอย่างยั่งยืน ต่อยอดได้ในเชิงพาณิชย์

วันที่ 2 กันยายน 2565 นายพรพล เอกอรรถพร รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit เปิดเผยว่า sacit เห็นความสำคัญในการอนุรักษ์ รักษาคุณค่าภูมิปัญญา ทักษะฝีมือ และองค์ความรู้เชิงช่างที่อยู่ในตัวบุคคล ที่ถือได้ว่าเป็นสมบัติอันมีค่า ไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา และส่งต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นคุณค่า เกิดเป็นแรงบันดาลใจในการช่วยอนุรักษ์ รักษา สืบสานต่อ

ในขณะเดียวกัน ก็ยังส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาต่อยอด ผสมผสานด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิม และแนวคิดเชิงสร้างสรรค์ ต่อยอดสู่ความร่วมสมัย ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างโอกาสทางการตลาดในเชิงพาณิชย์ต่อไปได้

ทัังนี้ ด้วยความสำคัญดังกล่าว sacit จึงได้มีการดำเนินกิจกรรมคัดสรรและเชิดชูเกียรติบุคคลที่ทรงคุณค่า 3 สถานะ ประกอบด้วย ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2552

สำหรับในปี 2565 นี้มีจำนวนผู้ที่เสนอชื่อเข้าร่วมการคัดสรรทั้ง 3 ประเภท จากทั่วประเทศในหลากหลายผลงานศิลปหัตถกรรม และทุกคนล้วนมีผลงานที่น่าสนใจทั้งสิ้น โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญ ได้คัดสรรบุคคลผู้มีฝีมือ เพื่อเชิดชูเป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม รวมทั้งสิ้น 25 ราย ครอบคลุมทุกมิติ เช่น มิติด้านการอนุรักษ์, มิติด้านทักษะฝีมือ, มิติด้านเรื่องราวองค์ความรู้, มิติด้านสังคม

โดยแบ่งเป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน จำนวน 2 ราย, ครูช่างศิลปหัตถกรรม จำนวน 13 ราย และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม จำนวน 10 ราย และเป็นที่น่ายินดีที่มีงานศิลปหัตถกรรมไทยที่หาดูยากหรือใกล้สูญหายและน่าสนใจ อาทิ เครื่องทองลงหิน, เครื่องสังคโลก, เครื่องประดับลงยาราชาวดี, งานปักสะดึงกรึงไหม, งานกระจกเกรียบโบราณ และเครื่องลงยาสีร้อน (แบบโบราณ)

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับการเชิดชูเกียรติจะได้รับโอกาสการส่งเสริม สนับสนุน ในกิจกรรมที่จัดโดย sacit เช่น การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ประวัติและผลงาน ผ่านช่องทางสื่อสารมวลชน และช่องทางสื่อออนไลน์ต่างๆ, การได้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งในหรือต่างประเทศ เช่น การเข้าร่วมจำหน่ายผลิตภัณฑ์ การสาธิตแลกเปลี่ยนองค์ความรู้การทำงานหัตถกรรม, การพัฒนาศักยภาพการสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมในด้านต่าง ๆ เช่น การพัฒนาตราสินค้า การขายออนไลน์ การพัฒนาด้านการตลาด รวมถึงพัฒนาทักษะฝีมือ สร้างสรรค์ผลงานศิลปหัตถกรรมรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ต่อไป

และสำหรับผู้ที่ชื่นชอบและรักในงานศิลปหัตถกรรมไทย สามารถเข้าร่วมงานศิลปหัตถกรรมไทย ที่งานอัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 13 และ Crafts Bangkok 2022 ระหว่างวันที่ 8-11 กันยายน 2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค