ประวิตร ไฟเขียว อีไอเอ อ่างเก็บน้ำน้ำกอน-น้ำรี โรงไฟฟ้าพระนครเหนือเฟสแรก

ประวิตร ไฟเขียว EIA อ่างเก็บน้ำน้ำกอน-น้ำรี จ.น่าน โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ เฟสแรก สั่งบอร์ดอีไอเอ เร่งโปรเจ็กต์ค้างท่อ

วันที่ 9 กันยายน 2565 ที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 4/65 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อร่วมพัฒนาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการสำคัญ ๆ

พล.อ.คงชีพกล่าวว่า ที่ประชุมรับทราบผลการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท สมัยที่ 4 ผลการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด สมัยที่ 15 การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญารอตเตอร์ดัมว่าด้วยกระบวนการแจ้งข้อมูลสารเคมีล่วงหน้า สำหรับสารเคมีอันตรายและสารเคมีป้องกันกำจัดศตรูพืชและสัตว์บางชนิด ในการค้าระหว่างประเทศ สมัยที่ 10 และการประชุมภาคีอนุสัญญาสตอกโฮล์ม ว่าด้วยมลพิษที่ตกค้างยาวนาน สมัยที่ 10 และความคืบหน้าการดำเนินงาน ตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กรณีกำแพงริมชายฝั่งติดแนวชายฝั่ง ความยาวตั้งแต่ 200 เมตรขึ้นไป

พล.อ.คงชีพกล่าวว่า ต่อจากนั้นได้ร่วมพิจารณาและให้ความเห็นชอบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำกอน อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน  โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน และโครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ระยะที่ 1 และเห็นชอบการกำหนดมาตรฐานคุณภาพตะกอนดินในแหล่งน้ำผิวดิน เพื่อปกป้องสัตว์หน้าดิน สัตว์น้ำ และมนุษย์ ผ่านห่วงโซ่อาหาร

“พล.อ.ประวิตรได้ย้ำ ขอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้ความสำคัญร่วมกันเร่งพิจารณาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในโครงการสำคัญ ๆ ที่มีผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่ตกค้างให้เร็วขึ้น และเป็นไปด้วยความรอบคอบ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น และผู้มีส่วนได้เสีย” พล.อ.คงชีพกล่าว

พล.อ.คงชีพกล่าวว่า รวมทั้งกำชับ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งปลูกป่าทดแทนพื้นที่ที่เสียไปให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด ให้การชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการต่าง ๆ ของรัฐให้ครบถ้วน สำหรับโครงการที่ผ่าน EIA แล้ว ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด เพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์ตามแผนที่กำหนด