ฝุ่นตลบ “ซี.พี.” ชน “อมตะซิตี้” ผุดนิคม EEC แย่งนักลงทุนจีน

“ซี.พี.” จับมือ “กว่างซี” ตั้งนิคมอุตสาหกรรมไทย-จีน CPGC หลังกรศ.อนุมัติให้เป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อรองรับนักลงทุนจีนโดยเฉพาะ วงการจับตาศึกแย่งนักลงทุนจีนกับ “กลุ่มอมตะซิตี้” ที่เร่งขยายพื้นที่รองรับนักลงทุนจีน พร้อมงัดโปรโมชั่นเข้าสู้ ฟรีค่าธรรมเนียม ชิงเจ้ายุทธจักรนิคมจีนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

คณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) มีมติเห็นชอบ ให้นิคมอุตสาหกรรม ซี.พี. ที่จังหวัดระยองเป็น “เขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรม” หลังจากที่ กรศ.มีมติให้จัดตั้งเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมไปแล้ว 20 แห่ง โดยนิคมอุตสาหกรรมของ ซี.พี.แห่งนี้จะมีความพิเศษไปกว่านิคมอื่น ๆ เนื่องจากเป็นนิคมอุตสาหกรรมสำหรับนักลงทุนที่พูดภาษาจีนโดยเฉพาะ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานภายหลังการประชุม กรศ. ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมเห็นชอบการจัดตั้งเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมในโครงการนิคมอุตสาหกรรม ซี.พี. ระยอง โดยโครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) กับบริษัทกว่างซี คอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป จากเมืองหนานหนิง มณฑลกว่างซี สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ร่วมกันจัดตั้ง บริษัทซีจี คอร์ปอเรชั่น เพื่อพัฒนา

โครงการนิคมอุตสาหกรรม ซี.พี.ระยองโดยเฉพาะ

ทั้งนี้โครงการนิคมอุตสาหกรรม ซี.พี.ระยอง มีพื้นที่ 3,068 ไร่ ตั้งอยู่ที่ ต.มาบข่าพัฒนา อ.นิคมพัฒนา กับ ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ซึ่งอยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จึงเข้าหลักเกณฑ์ในการขอรับการจัดตั้งให้เป็นเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมใน EEC เพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและนวัตกรรม (new S-curve) ได้ โดยนิคมแห่งนี้มีความพิเศษอยู่ตรงที่ว่า จะตั้งขึ้นเพื่อรองรับนักลงทุนหรือผู้ประกอบการจีนหรือผู้ที่พูดภาษาจีนโดยเฉพาะ มีอุตสาหกรรมเป้าหมายอยู่ที่อุตสาหกรรมยานยนต์/ชิ้นส่วน, อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์/ชิ้นส่วน, อุตสาหกรรมอุปกรณ์ทางการแพทย์ และอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร

“กลุ่ม ซี.พี.มีวัตถุประสงค์จะให้พื้นที่ในโครงการนิคมอุตสาหกรรม ซี.พี.ระยอง กลายเป็นนิคมอุตสาหกรรมสำหรับนักลงทุนจีน ซึ่ง ซี.พี.มีความชำนาญและสัมพันธ์แนบแน่นที่จะดึงนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอยู่แล้ว ประกอบกับจังหวัดระยองเป็น 1 ใน 3 จังหวัดเป้าหมายพื้นที่ EEC ทำให้ ซี.พี.ตัดสินใจเดินหน้าโครงการนี้ทันที โดยหลังจากนี้นิคมอุตสาหกรรม ซี.พี.ระยอง ก็จะเปลี่ยนชื่อเป็นนิคมอุตสาหกรรมไทย-จีน หรือ CPGC ต่อไป” แหล่งข่าวกล่าว

ก่อนหน้านี้ นายสมเกียรติ เรือนทองดี รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทซี.พี.แลนด์ จำกัด(มหาชน) เคยกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” นิคมอุตสาหกรรมซี.พี.ระยอง จะใช้เงินลงทุนทั้งหมด 7,500 ล้านบาท โดยการตั้งนิคมอยุ่ใน เขตส่งเสริมอุตสาหกรรม EEC จะทำให้โครงการนิคมฯของบริษัทเดินหน้าได้เร็วขึ้นและตอนนี้มีนักลงทุนจีนพร้อมจะเข้ามาแล้ว โดยตัวนิคมจะแบ่งการพัฒนาพื้นที่เป็น 3 เฟส ระยะที่ 1 และ 2 ประมาณ 800 ไร่ ระยะที่ 3 ประมาณ 600 ไร่ อีก 900 ไร่ที่เหลือจะพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการและพื้นที่สีเขียว ส่วน “เมืองใหม่” ยืนยันว่า “จะตามมาอย่างแน่นอน” หลังจากการพัฒนาพื้นที่นิคมได้เริ่มต้นแล้ว

อมตะก็ทำนิคมจีน

ในขณะนี้ไม่ใช่มี “กลุ่ม ซี.พี.” ของนายธนินท์ เจียรวนนท์ เพียงกลุ่มเดียวที่พยายามจะก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมสำหรับนักลงทุนจีน ก่อนหน้านี้ทาง “กลุ่มอมตะซิตี้” ของนายวิกรม กรมดิษฐ์ ก็ได้จัดสรรพื้นที่ 2,600 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 16,894 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง ได้รับการประกาศให้เป็นเขตอุตสาหกรรมเพื่อเป็นพื้นที่รองรับนักลงทุนจากจีนโดยเฉพาะขึ้นมาอยู่แล้ว

โดยนิคมอุตสาหกรรมไทย-จีนของกลุ่มอมตะซิตี้ เริ่มก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2549 ตั้งอยู่ที่ ต.มาบยางพร อ.ปลวกแดง จ.ระยอง แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 เขต เพื่อรองรับนักลงทุนจีน ประกอบไปด้วย เขตปลอดอากร 1 แห่ง กับเขตอุตสาหกรรมทั่วไปอีก 2 แห่ง ปัจจุบันมีนักลงทุนเข้ามาตั้งโรงงานแล้วจำนวน 100 ราย มูลค่าการลงทุนประมาณ 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยนักลงทุนจีนส่วนใหญ่มาจาก มณฑลเจ้อเจียง

“กลุ่มนักลงทุนจีนที่เข้ามาตั้งโรงงานในนิคมที่ต้องการขยายกำลังผลิตหรือเข้ามาใหม่ ต้องการนิคมอุตสาหกรรมที่เป็นนิคมเฉพาะชาวจีนเท่านั้น ไม่ต้องการอยู่ปะปนกับนักลงทุนชาติอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนญี่ปุ่น จึงเป็นโจทย์ใหม่ขึ้นมาของผู้ประกอบการนิคมในพื้นที่ EEC ตรงนี้จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ว่า ทำไมกลุ่ม ซี.พี.ของเจ้าสัวธนินท์จึงสนใจที่จะตั้งนิคมอุตสาหกรรมไทย-จีน CPGC เพื่อรองรับความต้องการของนักลงทุนจีนเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการจีนในอุตสาหกรรม new S-curve เป็นเป้าหมายหลักที่จะต้องแย่งชิงกับกลุ่มอมตะซิตี้” แหล่งข่าวในวงการนิคมเอกชนให้ความเห็น

งัดโปรโมชั่นสู้

ด้านนายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาดบมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันได้จัดตั้ง zone ที่อยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ระยอง แยกไว้ส่วนหนึ่ง และตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมไทย-จีน มีนักลงทุนจีนเข้ามาตั้งโรงงานกว่า 80 โรงงาน หรือคิดเป็น 1 ใน 4 จากโรงงานทั้งหมดที่มีภายในนิคม 320 โรงงาน ถือว่า “มีจำนวนนักลงทุนจีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและยังคงเหลือพื้นที่ในนิคมเพื่อรอการขายอีก 200-300 ไร่ และปีนี้เตรียมขยายพื้นที่เพื่อขายอีก 2,000 ไร่ ในโซนเดียวกันที่ จ.ระยองด้วย

“แผนการสร้างนิคมอุตสาหกรรมสำหรับนักลงทุนจีนหรือการแบ่ง zone ให้เฉพาะกลุ่มแต่ละประเทศเกิดจากความต้องการของกลุ่มนักลงทุนที่อยากตั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน เป็นสัญชาติเดียวกัน เพราะง่ายในการสื่อสารหรือให้ความช่วยเหลือกันในบางเวลา” นายวิบูลย์กล่าว


“เรามีความได้เปรียบในการเป็นผู้พัฒนาพื้นที่มาอย่างยาวนานและพื้นที่ก็พร้อมที่จะรองรับการลงทุนเนื่องจากผ่าน EIA แล้ว บริการหลังการขายก็พร้อม โปรโมชั่นเป็นสิ่งที่อมตะสามารถทำได้ทันที อย่างฟรีค่าธรรมเนียม ช่วยประสานงานกับทางรัฐ” นายวิบูลย์กล่าว