กลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม เร่งทำข้อมูลสิ่งแวดล้อม รับ CBAM เฟสแรก

กลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม ส.อ.ท. ลงนาม MOU กับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) เร่งทำฐานข้อมูลกลางด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม (LCA) รองรับมาตรการ CBAM เฟสแรก หลังยุโรปเตรียมบังคับใช้ 1 ม.ค. 2566 และเก็บค่าธรรมเนียมในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จริงปี 2569

วันที่ 20 กันยายน 2565 นายธีรพันธุ์ พิมพ์ทอง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้มีการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

เพื่อเป็นโครงการนำร่องในภาคอุตสาหกรรม ในการจัดทำฐานข้อมูลกลาง Life Cycle Assessment (LCA) หรือ การประเมินตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม สำหรับประเทศไทยอย่างเป็นระบบ โดยแบ่งเป็น 2 เฟส คือ เฟสแรกมุ่งเน้นหาค่ากลางการปลดปล่อยคาร์บอน จากกระบวนการผลิตโดยตรง เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการรองรับมาตรการ CBAM ในอีก 3 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ CBAM คือมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาใน EU ในสินค้า 5 กลุ่มแรก ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการรั่วไหลของคาร์บอนสูง ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า ปุ๋ย และอะลูมิเนียม

ซึ่งเป็นมาตรการทางสหภาพยุโรปได้เริ่มดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องลดภาวะโลกร้อน ภายใต้กระแสเรื่อง European Green Deal อย่างเป็นรูปธรรมก่อนประเทศอื่น ๆ ซึ่ง CBAM เป็นส่วนต่อขยายระบบ EU-ETS (EU Emission Trading Scheme : EU-ETS) จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2566 และเริ่มมีค่าใช้จ่ายจริงในวันที่ 1 มกราคม 2569 คาดว่าจะมีผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมอะลูมิเนียม ที่มีการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เนื่องจากค่าธรรมเนียมในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ผ่านทางใบแสดงสิทธิในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CBAM certificates)

โดยค่าคาร์บอนที่ปลดปล่อย แบ่งออกตามช่วงวัฏจักรชีวิต (LCA) เป็น 3 ช่วง คือ การได้มาของวัตถุดิบ ค่าการปลดปล่อยทางอ้อมจากการผลิต (indirect emission) และค่าการปล่อยทางตรงจากการผลิต (direct emission/embedded emission) ในการบังคับใช้ช่วงแรกจะเก็บเฉพาะส่วนการปล่อยทางตรงจากการผลิตก่อน

ซึ่งอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมในสหภาพยุโรป มีค่าการปล่อยคาร์บอนทางตรง จากการผลิตโดยเฉลี่ยเท่ากับ 1.9 ตัน CO2 eq./ตันอะลูมิเนียม จากที่มีการผลิตต้นน้ำด้วย ส่วนประเทศไทยไม่มีการผลิตต้นน้ำ แต่จะผลิตในส่วนกลางน้ำ ดังนั้นในกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมแผ่นและเส้น มีการประมาณการเบื้องต้น สำหรับค่าการปล่อยคาร์บอนทางตรงเท่ากับ 0.5 ตัน CO2 eq./ตันอะลูมิเนียม

ซึ่งทางศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จะทำการศึกษาในเชิงรายละเอียดและสรุปเป็นค่ากลาง ที่ใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงของประเทศไทยในขั้นตอนต่อไป

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ปัญหาสภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบเป็นวงกว้างมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้น การปรับตัวทุกภาคส่วนต่อผลกระทบและการลดก๊าซเรือนกระจก จึงเป็นเรื่องจำเป็นของประเทศที่จะต้องมีการพัฒนาโครงการที่จะนำไปสู่การลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism : CDM) ให้บรรลุผลตามความมุ่งหมาย

ตลอดจนพัฒนาขีดความสามารถ และศักยภาพในการแข่งขันของภาคเอกชนและภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินโครงการที่มีส่วนช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

ทางกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมและศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) จึงได้เพิ่มเติม ในส่วนเฟสที่ 2 ซึ่งเป็นการประเมินตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม ซึ่งบริษัทที่เข้าร่วมโครงการสามารถเข้าถึงรายการสารขาเข้าและสารขาออก ของแต่ละกระบวนการผลิตของกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมโดยรวม

เพื่อนำมาต่อยอดวิเคราะห์หาจุดที่ต้องปรับปรุงพัฒนาในแต่ละกระบวนการ เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกระบวนการผลิตในอนาคต เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 (2593) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ปี 2065 (2608) ต่อไป

นอกจากนี้ ทางกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม ได้พยายามนำพลังงานแสงอาทิตย์มาทดแทนพลังงานไฟฟ้าแบบดั้งเดิม และเพิ่มปริมาณการใช้เศษอะลูมิเนียมตามนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอนได้ค่อนข้างมาก และหากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น จัดหาพลังงานสะอาดราคาต่ำ สนับสนุนการลงทุนด้านพลังงานสะอาด รับซื้อพลังงานไฟฟ้าส่วนเกินกลับแบบ Net metering จากภาคอุตสาหกรรม

รวมถึงสนับสนุนการหมุนเวียนเศษอะลูมิเนียมเพื่อใช้สำหรับอุตสาหกรรมภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการใช้ไฟฟ้า และลดการปลดปล่อยคาร์บอนได้ถึง 95% ทันที เมื่อเทียบการใช้อะลูมิเนียมบริสุทธิ์จากกระบวนการต้นน้ำ และเป็นการเสริมสร้าง Circular Economy ตามนโยบายรัฐอย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย