สภาองค์กรของผู้บริโภค เผยสาเหตุที่ค่า Ft ในบิลค่าไฟขึ้นไป 300%

มิเตอร์ไฟ

สภาองค์กรของผู้บริโภค เผยสาเหตุที่ค่า Ft ในบิลค่าไฟขึ้นไป 300% ชี้ต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติพุ่งจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนเป็นแค่ส่วนหนึ่ง แท้จริงจากการบริหารจัดการ ไทยแบกไฟสำรองพุ่ง 51%

วันที่ 21 กันยายน 2565 สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยข้อมูลจาก ผศ.ประสาท มีแต้ม ประธานคณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค ในประเด็น “ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นเพราะว่าราคาก๊าซธรรมชาติแพงขึ้น เนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน นั้นเป็นความจริงเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น คล้ายกับภูเขาน้ำแข็งที่ลอยอยู่ในมหาสมุทร แต่ที่จมอยู่ใต้น้ำนั้นคนมองไม่เห็น

โดยระบุว่า กระแสฮือฮาเวลานี้ หนีไม่พ้นการแชร์สลิปค่าไฟฟ้าลงโซเชียล พร้อมด้วยการตั้งคำถาม ใช้ไฟฟ้าเท่าเดิม แต่ที่ไม่เหมือนเดิมคือ ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft ที่เรียกเก็บ ในรอบเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 ขึ้นพรวดเดียว 300 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อ้างว่า ต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซีย จึงส่งผลกระทบต่อราคาวัตถุดิบที่นำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า ทำให้ต้องปรับฐานค่า Ft งวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 อีก 68.66 สตางค์ต่อหน่วย รวมเป็น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย จากเดิมเรียกเก็บที่ 3.78 บาทต่อหน่วย

หากถามว่า ค่าไฟแพงเป็นเพราะเรื่องของวัตถุดิบ (เชื้อเพลิง) และผลกระทบจากสงครามเท่านั้น มีความเป็นจริงหรือไม่ ?

ผศ.ประสาทเปิดเผยว่า ถ้าเราสรุปว่า ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นเพราะว่าราคาก๊าซธรรมชาติแพงขึ้น เนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนนั้น เป็นความจริงเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น คล้ายกับภูเขาน้ำแข็งที่ลอยอยู่ในมหาสมุทร แต่ที่จมอยู่ใต้น้ำนั้นคนมองไม่เห็น

สาเหตุที่คนมองไม่เห็นคืออะไร เอาเฉพาะการใช้ก๊าซธรรมชาติก่อน ไฟฟ้าที่คนไทยใช้ประมาณ 55-60% ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ แต่ก๊าซธรรมชาติมาจาก 3 แหล่ง คือ 1) ผลิตเองในประเทศไทย ราคาต่ำที่สุด 2) นำเข้าจากพม่า ราคาแพงกว่าแหล่งแรก และ 3) นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ถ้าเป็นราคาขาจรจะแพงมาก นั่นเป็นที่มาของก๊าซ

แต่ฝ่ายผู้ใช้ก๊าซแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ 1) เพื่อผลิตไฟฟ้า 2) ใช้ในภาคอุตสาหกรรม 3) ใช้ในปิโตรเคมี โดยที่ในระยะหลังมีการใช้ในจำนวนที่มากขึ้น และ 4) ใช้กับรถยนต์และส่วนใหญ่เป็นแท็กซี่

รัฐบาลได้กำหนดให้นำราคาของก๊าซทั้ง 3 แหล่งมาเฉลี่ยกัน ราคาก๊าซที่ใช้ผลิตไฟฟ้าจึงแพงขึ้น มันดูอย่างผิวเผินเหมือนว่ารัฐบาลมีความเป็นธรรมกับผู้ใช้ทั้ง 4 กลุ่ม แต่ลองคิดดูให้ดี ภาคปิโตรเคมีเป็นธุรกิจที่มีกำไรมหาศาล ภาคการผลิตไฟฟ้าเป็นการให้บริการกับคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ยากจน

และก็ไม่ได้ใช้ก๊าซเพิ่มขึ้นเลยในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ปิโตรเคมีเพียงกลุ่มเดียวที่ใช้ก๊าซเพิ่มขึ้น แถมเป็นคนจำนวนน้อยและร่ำรวยด้วย ทำไมรัฐบาลไม่กำหนดให้ภาคอื่น ๆ ใช้ก่อน หากไม่พอก็ให้ปิโตรเคมีนำเข้า LNG มาใช้เอง ผมมีกราฟแสดงรายละเอียดมาให้ดูด้วย

นี่คือสาเหตุหนึ่งและเป็นสาเหตุสำคัญ เพราะค่าเชื้อเพลิงเป็นต้นทุนส่วนที่มากที่สุดของค่าไฟฟ้า ผู้บริโภค ตัดสินเอาเองก็แล้วกันว่า… รัฐบาลพลเอกประยุทธ์อยู่ข้างประชาชนทั้งประเทศ หรือยืนอยู่ข้างกลุ่มทุนที่ร่ำรวย สำหรับสาเหตุอื่นที่จมอยู่ใต้น้ำซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่รู้กัน

เช่น การวางแผนให้มีโรงไฟฟ้าสำรองล้นเกิน ในปี 2557 เรามีกำลังผลิตสำรอง 29% ซึ่งในทางสากลถือว่าควรจะมี 10-15% ปัจจุบันเรามีสำรองถึง 51% ประชาชนต้องค่าความพร้อมจ่ายทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เดินเครื่องเลยมาเป็นเวลานานแล้ว เพราะเราทำสัญญาแบบ “ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย (Take or Pay)” ปีละหลายหมื่นล้านบาท ในช่วงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์มีโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) เกิดขึ้นจำนวนมาก ราคารับซื้อไฟฟ้าก็แพงกว่าที่ซื้อจากเอกชนรายใหญ่

แต่ทุกรายเดินเครื่องทำงานต่ำกว่าค่ามาตรฐานสากลมาก ๆ นี่คือต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพง และจะแพงกว่านี้อีกเพราะยังมีอีกหลายโครงการโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายเกี่ยวกับการนำเข้า LNG เสรี แต่ไม่เสรีจริง

และจากคำถามที่ว่า …จากปัญหาด้านก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ลดลง และต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ กกพ.ประกาศปรับขึ้นค่า Ft หรือค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ อีก 68.66 สตางค์ต่อหน่วย ดังนั้นค่าเอฟทีที่เรียกเก็บในรอบเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 จะเท่ากับ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย เรียกว่าขึ้นพรวดเดียว 300 เปอร์เซ็นต์

ผศ.ประสาท มีแต้ม ให้คำตอบกับประเด็นนี้ว่า …ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ค่าไฟฟ้าประกอบด้วย 3 ส่วน คือ
(1) ค่าไฟฟ้าฐาน อันนี้เป็นอัตราก้าวหน้า ยิ่งใช้มาก อัตราต่อหน่วยยิ่งสูง
(2) ค่า Ft และ (3) ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%

ก่อนขึ้นค่า Ft ครั้งล่าสุด (พ.ค.-ส.ค. 65) ตอนนั้นค่า Ft เท่ากับ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ถ้าเราใช้ไฟฟ้า 500 หน่วยต่อเดือน ค่าไฟฟ้าฐานเฉลี่ย 4.07 บาทต่อหน่วย แต่ถ้าเราใช้มากขึ้นเป็น 1,000 หน่วย ค่าไฟฟ้าฐานเท่ากับ 4.23 บาทต่อหน่วย เห็นไหมว่าค่าไฟฟ้าฐานเพิ่มขึ้น ถ้ารวมค่าไฟฟ้าทั้งหมดก็จะเท่ากับ 2,297 บาท และ 4,795 บาท สำหรับผู้ใช้ 500 และ 1,000 ตามลำดับ เห็นไหมครับว่า การใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 2 เท่า แต่ค่าไฟฟ้ามากกว่า 2 เท่า เพราะเป็นอัตราก้าวหน้า

คราวนี้มาคิดในปัจจุบัน (ก.ย.-ธ.ค. 65) คราวนี้ค่า Ft เป็น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ค่าไฟฟ้าฐานเหมือนเดิมครับ แต่เมื่อรวมเป็นค่าไฟฟ้าทั้งหมดของกรณี 500 และ 1,000 หน่วย จะเท่ากับ 2,665 บาท และ 5,530 บาท ตามลำดับ

ถ้าเราจะคำนวณว่าค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ ในสองช่วงที่ผ่านมา ก็พบว่า ถ้าใช้ 500 หน่วย เพิ่มขึ้น 16.02% และใช้ 1,000 หน่วย เพิ่มขึ้น 15.33% ของค่าไฟฟ้าในช่วงก่อน การไปคิดว่าขึ้นค่า Ft พรวดเดียวกว่า 300% แม้จะเป็นความจริง แต่ก็อาจจะทำให้ผู้ฟังเข้าใจผิดหรือหลงได้ว่า เป็นการขึ้นค่าไฟฟ้าถึงกว่า 300%

อัตราค่าไฟฟ้าล่าสุดขึ้นเป็นราคา 4.72 บาทต่อหน่วย ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากเดิมเรียกเก็บที่ 3.78 บาทต่อหน่วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกิจการพลังงาน (เป็นหน่วยงานของกระทรวงพลังงาน) อ้างว่า ต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก

เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซีย จึงส่งผลกระทบต่อราคาวัตถุดิบที่นำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า ทำให้ต้องปรับฐานค่าไฟเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงกับประชาชน โดยเฉพาะเมื่อเข้าหน้าร้อนมีการใช้ไฟมากขึ้น จึงเป็นช่วงที่ค่าไฟสูงกว่าปกติอยู่แล้วในทุกปี และนี่คือคำตอบจากผู้รู้ลึก รู้จริง ที่ขยายประเด็นให้เห็นชัดเจน ตัวการที่ก่อให้เกิด ค่า Ft ในบิลค่าไฟขึ้นไป พรวดเดียว 300%