ส.อ.ท.ชี้ยอดยึดรถแสนคันไม่กระทบอุตสาหกรรม ยืนเป้าผลิต 1.75 ล้านคันปี’65

โรงงานผลิตรถยนต์
แฟ้มภาพประกอบข่าว

ส.อ.ท.เผยยอดผลิตรถยนต์ ส.ค. 171,731 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 64% คาดปีนี้ ’65 ยอดผลิตเป็นไปตามเป้า 1.75 ล้านคัน ฝ่าปัญหาไลน์ผลิตขาดแคลนชิป ชี้รถ EV เติบโตรวดเร็วกว่าที่คาด หลังบอร์ดอัดมาตรการสนับสนุน มองแนวโน้มปลายปี 4 เดือนท้ายเริ่มเห็นปัจจัยบวกมีตัวเลือกรถยนต์รุ่นใหม่ การปรับโรคโควิด-19 ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ประชาชนเริ่มมีกำลังซื้อ ชี้ยอดยึดรถแสนคันยังไม่กระทบอุตสาหกรรม เผยแผนโรงงานผลิตชิปในไทยต้องใช้เวลา 3 ปี

วันที่ 22 กันยายน 2565 นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือน ส.ค. 65 อยู่ที่ 73,325 คัน เพิ่มขึ้น 23.09% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งยอดส่งออกปีนี้น่าจะได้ตามเป้า 9 แสนคัน หากช่วงที่เหลือของปีนี้มียอดเท่ากับเดือนสิงหาคม

สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์
สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์

ขณะที่จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือน ส.ค. 65 มีทั้งสิ้น 171,731 คัน เพิ่มขึ้น 64.90% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากฐานต่ำ เพราะมีการล็อกดาวน์ในช่วงกลางเดือน ก.ค.-ส.ค. 64 และเพิ่มขึ้น 20.13% จากเดือนก่อน เพราะมีการผลิตรถยนต์นั่งรุ่นใหม่ขายในประเทศและผลิตรถกระบะและรถพีพีวีเพื่อขายในประเทศและส่งออกเพิ่มขึ้น ส่งผลให้จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค. 65) ของปีนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 1,184,800 คัน เพิ่มขึ้น 10.53% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ปีนี้ 2565 ยอดผลิตรถยนต์คาดว่าจะได้ตามเป้า 1.75 ล้านคัน ซึ่งการผลิตภาพรวมยังมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนชิ้นส่วนและเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป)

สำหรับยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค. 65) อยู่ที่ 606,055 คัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.40% และมีมูลค่าการส่งออก 368,002.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.18% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือน ส.ค. 65 มีจำนวนทั้งสิ้น 68,208 คัน เพิ่มขึ้น 61.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะฐานต่ำจากการล็อกดาวน์ในช่วงกลางเดือน ก.ค.-ม.ค. 64 เช่นกัน

และปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.52% จากเดือน ก.ค. 65 เพราะมีการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่และการได้รับชิ้นส่วนมากขึ้นในรถยนต์บางรุ่น รวมทั้งเศรษฐกิจในประเทศที่ดีขึ้น จากการผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างประเทศเข้าประเทศสะดวกขึ้น และการส่งออกที่ยังเติบโต การจ้างงานเพิ่มขึ้น เกษตรกรและประชาชนมีรายได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ ส.ค. 65 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (BEV) จดทะเบียนใหม่มีจำนวน 2,304 คัน เพิ่มขึ้น 391.26% จากเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว, ยานยนต์ประเภทไฟฟ้า (HEV) จดทะเบียนใหม่ 5,828 คัน เพิ่มขึ้น 102.01% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และประเภทไฟฟ้า (PHEV) จดทะเบียนใหม่ 987 คัน เพิ่มขึ้น 52.31% จาก ส.ค.ปีก่อน โดยปีนี้ถือว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งหลังจากบอร์ดอีวีได้อนุมัติมาตรการสนับสนุนก็พบว่าเติบโตเร็วมากกว่าที่คาดการณ์

“ภาพรวม 4 เดือนหลังจากนี้ มองว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ในปีนี้น่าจะมีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากมีหลายปัจจัยบวก รวมทั้ง EV ได้แก่ การแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ การผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ของรัฐบาลที่เตรียมปรับให้เป็นโรคเฝ้าระวัง การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การประกันราคาสินค้าเกษตร การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น”

ส่วนปัญหาการยึดรถนั้น มองว่ายอด 1 แสนคัน ยังถือว่าไม่กระทบอุตสาหกรรม ซึ่งภาพรวมของตลาดยังมีปริมาณไม่สูงมากนักหากเทียบกับยอดขาย กรณีของรถถูกยึดน่าจะเป็นช่วงที่มีการระบาด ประชาชนขาดรายได้ และถ้ายังจำได้ช่วงเดือนนี้เมื่อปีก่อนมีการล็อกดาวน์ คนที่จองไว้ก็ไม่รับรถ ไม่มีคนเดินเข้าศูนย์เลย แต่ตอนนี้น่าจะคลี่คลาย และจะดีขึ้น เมื่อดู NPL ไฟแนนซ์เทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ถือว่ายังไม่สูงมาก ไม่น่ากังวลมากนัก

อย่างไรก็ดี เพื่อรองรับปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) ในระยะยาว จึงได้มีแผนก่อสร้างโรงงาน เมื่อดูจากการลงทุน ต้องใช้เวลา 3 ปี ซึ่งเริ่มการก่อสร้างเมื่อปีที่เเล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้าง และจะใช้เวลาอีกปีเศษ ๆ ในการติดตั้งเครื่องมือ แล้วหาบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญมาทดสอบ น่าจะอยู่ที่ 3 ปีเศษ ๆ ที่คาดว่าจะเเล้วเสร็จ แต่อาจจะเร็วกว่านั้น ซึ่งต้องดูที่ภาพรวมการลงทุนและภาวะเศรษฐกิจ