ชิปขาด ส.อ.ท.ปรับลดเป้าผลิตรถยนต์เหลือ 1.75 ล้านคัน

ชิป

ส.อ.ท.หดเป้าการผลิตรถยนต์ปี’65 ลง 5 หมื่นคัน จาก 1.8 เหลือ 1.75 ล้านคัน หลังอุตสาหกรรมติดหล่มปัญหาขาดแคลนชิป ตลาดส่งออกหดตัว 7.59% สวนทางตลาดในประเทศขยับขึ้น 21% หลังรัฐผ่อนคลายมาตรการโควิด-กระตุ้นกำลังซื้อ พร้อมเผยยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าพุ่ง ทะลุ 100%

วันที่ 25 สิงหาคม 2565 นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แถลงข่าวการผลิต ยอดขายภายในประเทศ และการส่งออกรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของประเทศ ในเดือนกรกฎาคม 2565

ลดเป้าผลิตรถยนต์ 5 หมื่นคัน

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยตัวเลขประมาณการการผลิตรถยนต์ของสมาชิกกลุ่ม ในปี พ.ศ. 2565 (ใหม่) ปรับลดเป้าผลิตรถยนต์ปี 2565 จาก 1,800,000 คัน เป็น 1,750,000 คัน ลดลง 50,000 คัน เป็นผลจากการผลิตส่งออกลดลง จาก 1,000,000 คัน เป็น 900,000 คัน

ศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร
ศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร

การปรับยอดผลิตเพื่อส่งออกลดลง เป็นผลจากการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) จากสงครามยูเครน-รัสเซียที่เกิดขึ้นปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 คงยืดเยื้อนาน ซึ่งทั้ง 2 ประเทศส่งออกรายใหญ่ก๊าซนีออนที่เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ และสงครามนี้ยังได้ทำให้การส่งออกรถยนต์ไปทั้ง 2 ประเทศนี้ลดลงกว่า 2 หมื่นคัน

“การล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ช่วงเมษายน-พฤษภาคม 2565 ทำให้ขาดแคลนชิ้นส่วนและเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้น เพราะโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่อยู่ที่เซี่ยงไฮ้ และประเทศเมียนมาประกาศห้ามนำเข้ารถยนต์เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2565 ทำให้ส่งออกรถยนต์ลดลงกว่า 2,000 คัน ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ เช่น ไต้หวัน ตะวันออกกลาง เป็นต้น และอัตราเงินเฟ้อที่สูงมาก ทำให้ประเทศต่าง ๆ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง”

อย่างไรก็ตาม กลุ่มได้ปรับเพิ่มเป้าผลิตขายในประเทศขึ้นจาก 800,000 คัน เป็น 850,000 คัน เป็นผลจากรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการการเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวและนักลงทุนจากต่างประเทศสะดวกขึ้น ทำให้มีนักท่องเที่ยวและนักลงทุนเดินทางเข้าประเทศหลายล้านคน

สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์
สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์

กำลังซื้อฟื้นตัว

และปัจจัยกำลังซื้อฟื้นตัวภายหลังจากการส่งออกยังคงเติบโตจากปีที่แล้วที่มูลค่าส่งออกทำสถิติสูงสุด ทำให้ประชาชนมีงานทำมีรายได้เพิ่มขึ้น และรัฐบาลประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 ชนิด ตลอดจนการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งเราเที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วยการเพิ่มค่าใช้จ่ายการประชุม การจัดสัมมนา การผ่อนคลายการล็อกดาวน์เรื่องโควิด-19 ทำให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ประชาชนมีรายได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังมาจากการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่

สำหรับภาพรวมการผลิตในเดือนกรกฎาคม 2565 มี 142,958 คัน เพิ่มขึ้น 16.07% จากเดือนกรกฎาคม 2564 จากการผลิตเพื่อส่งออก เพิ่มขึ้น 2.07% ได้ 71,387 คัน และผลิตเพื่อขายในประเทศ 71,571 คัน เพิ่มขึ้น 16.07%

ส่งผลให้มียอดผลิต 7 เดือนสะสม (มกราคม-กรกฎาคม) 2565 รวม 1,013,069 คัน เพิ่มขึ้น 4.68% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการผลิตเพื่อส่งออกได้ 513,965 คัน ลดลง 7.59% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตเพื่อขายในประเทศได้ 499,104 คัน เพิ่มขึ้น 21.26% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนภาพรวมยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนกรกฎาคม 2565 มีจำนวน 64,033 คัน ลดลง 5.77% จากเดือนมิถุนายน 2565 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว 22.10% เพราะรัฐบาลผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างประเทศเข้าประเทศสะดวกขึ้น

มีนักท่องเที่ยวและนักลงทุนเดินทางเข้าประเทศกว่า 3 ล้านคน รวมทั้งการส่งออกที่ยังคงเติบโต การประกันรายได้เกษตรกร การกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ เช่น เราเที่ยวด้วยกัน

ยอดขาย 7 เดือนเพิ่มขึ้นกว่า 15%

และยอดขายในช่วง 7 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคม 2565 รถยนต์มียอดขาย 491,329 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ในระยะเวลาเดียวกัน 15.43% ส่วนรถจักรยานยนต์ มียอดขาย 1,040,440 คัน เพิ่มขึ้น 5.32%

ขณะที่ภาคการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป เดือนกรกฎาคม 2565 ส่งออกได้ 83,086 คัน เพิ่มขึ้น 12.45% จากเดือนที่แล้ว และเพิ่มขึ้น 17.70% จากเดือนกรกฎาคม 2564 คิดเป็นมูลค่า 74,211.81 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.28% จากเดือนกรกฎาคม 2564 จากการส่งออกรถกระบะและรถยนต์นั่ง จึงส่งออกเพิ่มขึ้นทุกตลาดยกเว้นตลาดเอเชียที่ส่งออกลดลง เพราะผลิตรถ PPV ส่งออกลดลง มูลค่าการส่งออก 51,987.15 ล้านบาท ลดลง 19.70% จากเดือนกรกฎาคม 2564

ทั้งนี้ รวมมูลค่าส่งออกรถยนต์เดือนมกราคม-กรกฎาคม 2565 เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และอะไหล่ มีมูลค่า 479,981.36 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.23% จากเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2564 ร้อยละ 2.23

รถจักรยานยนต์ เดือนกรกฎาคม 2565 มีจำนวนส่งออก 80,603 คัน (รวม CBU+CKD) ลดลง 7.43% จากเดือนกรกฎาคม 2564 มูลค่า 4,385.65 ล้านบาท ลดลง 30.58% และในช่วง 7 เดือนแรกส่งออกรถจักรยานยนต์ 582,056 คัน (รวม CBU+CKD) เพิ่มขึ้น 1.37% จากปี 2564 มูลค่า 38,371.47 ล้านบาท ลดลง 20.15% จากปี 2564 ร้อยละ 20.15 และหากรวมมูลค่าการส่งออก ชิ้นส่วนและอะไหล่รถจักรยานยนต์ เท่ากับ 41,159.46 ล้านบาท ลดลง 18.74% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่สถานการณ์ยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท BEV เดือนกรกฎาคม 2565 จดทะเบียนใหม่มีจำนวน 1,459 คัน เพิ่มขึ้น 334.23% จากเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว แบ่งเป็น รถยนต์นั่งและรถกระบะ 577 คัน เพิ่มขึ้น 410.62% รถยนต์สามล้อรับจ้างมีทั้งสิ้น 22 คัน เพิ่มขึ้น 2,100% รถจักรยานยนต์ 857 คัน เพิ่มขึ้น 287.78% ส่วนรถบรรทุก 3 คัน ซึ่งเดือนกรกฎาคม 2564 ยังไม่มีการจดทะเบียน

เดือนมกราคม-กรกฎาคม 2565 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (BEV) จดทะเบียนใหม่สะสมมี 8,784 คัน เพิ่มขึ้น 187.53% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็น รถยนต์นั่ง รถประเภทต่าง ๆ และรถกระบะรถแวน 3,618 คัน เพิ่มขึ้น 254.36% รถยนต์สามล้อรับจ้าง 136 คัน เพิ่มขึ้น 312.12% รถจักรยานยนต์ 4,963 คัน เพิ่มขึ้น 148.65% รถโดยสาร 49 คัน ซึ่งเพิ่มขึ้น 1,125% และรถโดยสาร 18 คัน ซึ่งเพิ่มขึ้น 1,700% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท HEV เดือนกรกฎาคม 2565 จดทะเบียนใหม่ 4,547 คัน เพิ่มขึ้น 142.51% จากเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว แบ่งเป็น รถยนต์นั่งและรถประเภทต่าง ๆ มีทั้งสิ้น 4,496 คัน เพิ่มขึ้น 147.71% รถจักรยานยนต์มีทั้งสิ้น 51 คัน ลดลง 15% และในช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2565 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (HEV) จดทะเบียนใหม่สะสม 37,265 คัน เพิ่มขึ้น 60.91% จากเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว แบ่งเป็น รถยนต์นั่งและรถประเภทต่าง ๆ 37,023 คัน เพิ่มขึ้น 68.70% รถจักรยานยนต์ 242 คัน ลดลง 80.05%

ยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท PHEV เดือนกรกฎาคม 2565 จดทะเบียนใหม่ 775 คัน เพิ่มขึ้น 150.81% จากเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว แบ่งเป็น รถยนต์นั่งและรถประเภทต่าง ๆ 775 คัน เพิ่มขึ้น 59.56% และในช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2565 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (PHEV) จดทะเบียนใหม่สะสม 6,722 คัน เพิ่มขึ้น 63% จากเดือนมกราคม-กรกฎาคมปีที่แล้ว แบ่งเป็น รถยนต์นั่งและรถประเภทต่าง ๆ 6,722 คัน เพิ่มขึ้น 63%


ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 กรกฎาคม มียานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสมประเภท BEV 20,087 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 133.62% ยานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสมประเภท HEV 233,369 คัน เพิ่มขึ้น 26.74 ยานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสมประเภท PHEV 37,842 คัน เพิ่มขึ้น 34.09%