สมรภูมิ “ชิป” ตัวประกัน “สหรัฐ-จีน” กดดันเลือกข้าง

TSMC

อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ถือเป็นสมรภูมิสำคัญในการต่อรองอำนาจระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ท่ามกลางความตึงเครียดที่กลับมาเพิ่มสูงขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยรัฐสภาสหรัฐได้ผ่านร่างกฎหมายส่งเสริมการผลิตชิปภายในประเทศ พร้อมเงื่อนไขที่อาจกลายเป็นทางแยกครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก

รอยเตอร์สรายงานว่า รัฐสภาสหรัฐผ่านร่างกฎหมายสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตเซมิคอนดักเตอร์ชื่อว่า “Chips and Science Act” หรือ “ชิปพลัส” (CHIPS+) เมื่อปลาย ก.ค.ที่ผ่านมา รอการลงนามโดยประธานาธิบดี โจ ไบเดน ในวันที่ 9 ส.ค.นี้ กลายเป็นที่จับตาของบริษัทผู้ผลิตชิปทั่วโลก

กฎหมายชิปพลัสดังกล่าวอยู่ภายใต้งบประมาณรวม 280,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการส่งเสริมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐ รวมถึงการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป้าหมายช่วยให้สหรัฐมีศักยภาพในการแข่งขันกับจีนและประเทศอื่น ๆ ได้

โดยมีการจัดสรรเม็ดเงิน 52,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับอุดหนุนให้กับบริษัทลงทุนผลิตชิปในสหรัฐ ด้วยเงื่อนไขห้ามบริษัทที่ได้รับเงินอุดหนุนทำธุรกรรมเกี่ยวกับขยายการผลิตหรืออัพเกรดเทคโนโลยีชิปรุ่นใหม่ในจีน หรือประเทศอื่น ๆ ที่สหรัฐกังวล เป็นเวลา 10 ปี

แถลงการณ์ของ “โจ ไบเดน” ระบุว่า กฎหมายชิปพลัสจะช่วยให้สินค้าตั้งแต่รถยนต์ไปจนถึงเครื่องล้างจานราคาถูกลง และยังจะช่วยสร้างตำแหน่งงานใหม่ ทั้งสร้างความมั่นใจว่า ซัพพลายเชนของอุตฯชิปของสหรัฐจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งพาต่างชาติ

แต่ข้อห้ามการลงทุนในจีนก็สร้างความยากลำบากให้กับบริษัทเซมิคอนดักเตอร์โดย“ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์” และ “เอสเค ไฮนิกซ์” สองผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า บริษัทกำลังจับตากฎหมายฉบับใหม่ของสหรัฐอย่างใกล้ชิดและทบทวนแผนการลงทุนในจีน

“คิม ยัง-วู” หัวหน้าทีมวิจัยบริษัทหลักทรัพย์เอสเค และที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของรัฐบาลเกาหลีใต้ ระบุว่า “บริษัทผู้ผลิตชิปของเกาหลีใต้มีแนวโน้มที่จะสร้างโรงงานในสหรัฐมากขึ้น เพราะบริษัทเหล่านี้ไม่สามารถผลิตชิปล้ำสมัยจำนวนมากได้ หากขาดเทคโนโลยีของสหรัฐ”

เช่นเดียวกับ “อินเทล” ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของสหรัฐ ที่เตรียมเดินหน้าก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ในรัฐโอไฮโอ มูลค่า 20,000 ล้านดอลลาร์ หลังจากที่ออกมาระบุว่า อาจต้องชะลอโครงการ หากสภาไม่ผ่านกฎหมายชิปพลัส

ขณะที่การเดินทางเยือนไต้หวันล่าสุดของ “แนนซี เพโลซี” ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ยังได้มีการพบกับ “มาร์ค หลิว” ประธาน “ทีเอสเอ็มซี” (TSMC) ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์อันดับ 1 ของโลก เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมชิป หลังจากที่สหรัฐผ่านร่างกฎหมายชิปพลัส โดยเฉพาะการเดินหน้าก่อสร้างโรงงานมูลค่า 12,000 ล้านดอลลาร์ในรัฐแอริโซนา

ในเวลาเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ของจีน สั่งระงับการส่งออก “ทรายธรรมชาติ” ไปไต้หวัน เพื่อตัดต้นน้ำวัตถุดิบทำแผ่นซิลิคอน สำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งจะทำให้ไต้หวัน “ขาดแคลนวัตถุดิบ” ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ส่งออกกว่า 40% ของประเทศ

ไม่เพียงแต่สหรัฐเท่านั้น อีกหลายประเทศ ทั่วโลกก็มีการออกกฎหมายสนับสนุนการผลิตชิปภายในประเทศ เช่น เยอรมนี มีการตั้งกองทุนอุดหนุนโครงการเซมิคอนดักเตอร์มูลค่า 10,000 ล้านยูโร ส่วนญี่ปุ่นก็ตั้งงบประมาณ 6,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐส่งเสริมอุตสาหกรรมชิปในประเทศเช่นกัน ซึ่งเป็นผลมาจากความขาดแคลนชิปที่เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก