ปมขัดแย้ง “จีน-ไต้หวัน” เขย่าขวัญวงการไอที หวั่น “ชิป” หายครึ่งประเทศ

จีนงดส่ง “ทรายธรรมชาติ” ให้ไต้หวัน หวั่นกระทบอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ลามห่วงโซ่อุปทานชิป รายงานเผย หากจีนโจมตีวัตถุดิบอุตสาหกรรมเวเฟอร์-ชิป คือ “กลืนเลือด” ส่งผลต่ออุปทานชิปกว่า 60% ของจีนโดยตรง

วันที่ 5 สิงหาคม 2565 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า หลังจากทางการจีนประกาศงดส่งออกสินค้ากว่า 2,000 รายการให้ไต้หวัน เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา จากปม นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ เยือนไต้หวันและเอเชีย-แปซิฟิก สินค้าสำคัญที่หลายฝ่ายจับตามองคือ “ทรายธรรมชาติ” ที่นอกจากจะเป็นวัตถุดิบสำหรับคอนกรีตแล้ว ยังอาจเป็นวัตถุดิบของ “เวเฟอร์” ส่วนประกอบต้นน้ำของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดในโลก ที่ไต้หวันเป็นผู้ผลิตที่ครองสัดส่วนการผลิตชิปกว่า 64% ของทั้งโลก

เซมิคอนดักเตอร์ มีสองส่วนที่สำคัญยิ่งคือ แผงวงจรรวม (IC-integrated circuit) ที่ใช้เทคโนโลยีการขึ้นรูปขั้นสูง และ “แผ่นเวเฟอร์” ซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้ประกอบวงจรรวม ส่วนนี้เป็นต้นน้ำของการผลิต “ชิป” ที่ใช้ในสมาร์ทโฟน เครื่องมือแพทย์ ส่วนประกอบยานยนต์ อากาศยาน ตลอดจนเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์เล็ก ๆ น้อย ๆ ทุกชิ้นในโลก หากเทียบ “ชิป” กับพิซซ่า แผ่นเวเฟอร์ก็คือแผ่นแป้งพิซซ่า และวงจรรวมคือเครื่องเทศและซอสที่วางอยู่บนแป้งนั้น

โดยแผ่นเวเฟอร์ได้จากการนำทรายธรรมชาติมาแยกเอาธาตุซิลิกอนบริสุทธิ์ 99% แล้วทำการตกผลึกก่อนขึ้นรูป ดังนั้นการถลุงแยกเอาผลึกซิลิกอน จึงไม่ได้ใช้ “ทรายธรรมชาติ” ทุกประเภท โดยเฉพาะทรายแม่น้ำและทรายทะเลที่ใช้ในการทำคอนกรีตแทบจะไม่มีผลึกซิลิกาให้สกัด ทรายที่เหมาะสมคือ ทรายควอตซ์ หรือ ทรายซิลิกา เท่านั้น

จึงไม่อาจกล่าวได้อย่างชัดเจนว่า การที่จีน “แบน” ส่งออก “ทรายธรรมชาติ” ให้ไต้หวัน จะส่งผลโดยตรงกับการผลิตแผ่นเวเฟอร์ที่เป็นหัวใจของการผลิตชิป ดังนั้นยังคงต้องจับตาต่อไปว่า “ทรายธรรมชาติ” ที่ว่านี้ หมายรวมถึง ทรายควอตซ์ หรือทรายซิลิกาด้วยหรือไม่ ?

สำนักข่าว CNBC รายงานว่า การส่งออกชิปของไต้หวัน มีคู่ค้าสำคัญคือ “จีน” โดยไต้หวันส่งออกสินค้ามูลค่า 1.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ไปยังแผ่นดินใหญ่ และฮ่องกง ในปี 2564 มากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รองลงมาคืออุปกรณ์เกี่ยวกับสายตา

ขณะที่สำนักข่าว Aljazeera รายงานว่า มาตรการกดดันทางเศรษฐกิจต่อไต้หวัน เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา เน้นสินค้าประเภทอาหาร ผลไม้ และประมง แทบไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหลักของไต้หวัน เนื่องจากรายได้กว่า 40% มาจากการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งคิดเป็น 15% ของจีดีพีไต้หวัน และการผลิตกำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จากยุทธศาสตร์การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่จะใช้เทคโนโลยีชั้นสูงเป็นหลัก

รายงานดังกล่าวระบุด้วยว่า การที่จีนไม่ยอมตัดการนำเข้าชิปจากไต้หวัน เกิดจากจีนต้องพึ่งพาการส่งออกชิ้นส่วนชิปของไต้หวันเกือบเท่าตัวของที่ไต้หวันต้องการเอง ดังนั้นสำหรับจีน การมุ่งเป้าไปที่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวันจะต้องเสียค่าใช้จ่ายอย่างมากเพื่อสร้างความเสียหายแก่ไต้หวัน

ทั้งนี้ จีนมีมูลค่าเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และมีความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ถึง 60% ของความต้องการทั่วโลก ตามรายงานของ Congressional Research Service ในปี 2563 รายงานฉบับเดียวกันระบุว่า กว่า 90% ของความต้องการชิปเหล่านี้ ต้องนำเข้าและบริษัทต่างประเทศที่มีการผลิตในประเทศ

ดังนั้น หากจีนจะ “แบน” ทรายซิลิกาและตัดการนำเข้าชิปเพื่อโจมตีเศรษฐกิจไต้หวันโดยตรงจะต้อง “กลืนเลือด” ตัวเอง ด้วยการก่อปัญหาที่ซัพพลายเชนให้ตัวเอง เนื่องจากความต้องการเซมิคอนดักเตอร์กว่า 60% ของจีนมาจากต่างประเทศ “ชิป” จึงอาจหายไปครึ่งประเทศ

อย่างไรก็ตาม หากเกิดการแบนวัตถุดิบหลักในอุตสาหกรรมชิปจริง ผลย่อมส่งผลถึงชัพพลายเชนของชิปทั่วโลกด้วย โดยเฉพาะชิปขนาดเล็กที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ชิปขนาด 7 นาโนเมตร ที่ไต้หวันผลิตให้กับโลกถึง 92% (ตามรายงานของ Aljazeera)

โดยในช่วงหลายปีมานี้ ทั้งจีนและสหรัฐอเมริกา ทุ่มเงินหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ แต่ยังไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้ทัดเทียมไต้หวัน เช่น ชิป 7 นาโนเมตรที่บริษัท SMIC แห่งนครเซี่ยงไฮ้ของจีนเพิ่งเริ่มผลิตได้ด้วยตัวเอง ในขณะที่ Intel ของสหรัฐยังติดสะดุดที่ชิป 10 นาโนเมตรมานานหลายปี

ในขณะที่ TSMC ของไต้หวัน และ Samsung จากเกาหลีใต้ สามารถผลิตชิป 7 นาโนเมตร มาตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งเกิดพร้อมกับการเติบโตก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก ทั้งได้เตรียมนำชิปขนาด 5 และ 3 นาโนเมตร มาใช้งานแล้วในระยะอันใกล้นี้

แม้ว่าขนาดของชิปจะไม่ส่งผลกับประสิทธิภาพการคำนวณนัก แต่ขนาดของชิปเป็นหัวใจสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีแนวโน้มเล็กลง แต่ซับซ้อนสูงขึ้นอย่างสมาร์ทโฟน ไอโอที อุปกรณ์ทางการแพทย์ และอุปกรณ์ไฮเทคต่าง ๆ

แหล่งที่มา
aljazeera.com/economy/2022/8/4/why-china-is-not-sanctioning-taiwans-crucial-tech-industry
https://www.cnbc.com/2022/08/05/taiwans-trade-with-china-is-far-bigger-than-its-trade-with-the-us.html