อุตฯไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ผวาชิปขาด ทุบส่งออกปี’66

เครื่องใช้ไฟฟ้า-ชิปขาดตลาด

อุตฯไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์จับสัญญาณ “ชิปขาด” คัมแบ็ก ผลิตส่งออกอีก 4 เดือนสุดท้ายยังไปได้มีสต๊อกชิปเก่า แต่ปี 2566 ขาดแน่ ผลกระทบผลิต-ส่งออก 2.2 ล้านล้านบาท

นายสุรเดช บุณยวัฒน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงปัญหาการขาดแคลนชิปในกลุ่มผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เริ่มมีสัญญาณออกมาแล้วว่า กำลังจะกลับมาอีกครั้ง จากที่คลี่คลายลงไประดับหนึ่ง โดยมีสาเหตุมาจากความตึงเครียดบริเวณช่องแคบไต้หวันระหว่างจีนกับสหรัฐ เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศ ล้วนเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของโลกและผู้ประกอบการไทยต้องนำเข้าชิปจากทั้ง 2 ประเทศ ทางกลุ่มคาดการณ์ว่า การขาดแคลนชิปจะส่งผลกระทบต่อการผลิตและการส่งออกสินค้าตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป

“ในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปีนี้ ผู้ผลิตยังมีสต๊อกชิปเก่าเหลืออยู่พอที่จะผลิตเพื่อส่งออกตามคำสั่งซื้อในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ได้ เราคาดว่า การส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปีนี้จะขยายตัวมากกว่า 10% หรือมีมูลค่า 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งส่งออกอยู่ที่ 2 ล้านล้านบาท แต่ต้องยอมรับว่า ผู้ผลิตและผู้ส่งออกจะระมัดระวังการส่งออกสินค้ามากขึ้น แม้จะมีคำสั่งซื้อเข้ามามาก ด้วยปัญหาชิปขาดทำให้ผู้ส่งออกต้องประเมินว่า ถ้ารับออร์เดอร์แล้วจะผลิตและส่งออกสินค้าได้หรือไม่ แต่สำหรับปี 2566 น่าเป็นห่วงมาก”

อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าในกลุ่มนี้ช่วง 6 เดือนแรกขยายตัว 15% หรือมีมูลค่า 1.2 ล้านล้านบาท ตลาดสำคัญยังอยู่ที่สหรัฐ, กลุ่ม CLMV และตลาดเอเชีย สมาชิกปัจจุบันของกลุ่มอุตสาหกรรมมีอยู่ประมาณ 200 บริษัท ซึ่งที่ผ่านมาต้องเผชิญกับปัญหาชิปขาดแคลน การขนส่งทางเรือมีปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ แต่ผู้ประกอบการได้พยายามปรับตัวเพื่อรับสถานการณ์และปรับเปลี่ยนวิธีขายให้เข้าถึงลูกค้ามากขึ้น

ด้านนางสุภาณี จันทศาศวัต ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น กล่าวว่า ปัญหาชิปขาดแคลนสำหรับกลุ่มเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น “ได้รับผลกระทบน้อยมาก” ส่วนใหญ่จะใช้ในเครื่องทำความเย็นที่มีขนาดใหญ่ เครื่องปรับอากาศที่ใช้ภายในบ้าน แต่สิ่งที่จะกระทบมากสุดคือ ราคาวัตถุดิบในการผลิตเครื่อง เช่น เหล็ก, ทองแดง, อะลูมิเนียม ที่ผ่านมาราคาปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าอย่างมาก แม้ว่าราคาปรับลงแล้ว แต่ผู้ประกอบการยังต้องแบกรับภาระต้นทุน


สำหรับภาพของการส่งออกสินค้าในช่วง 6 เดือนแรก ขยายตัว 13% โดยตลาดส่งออกที่ขยายตัว เช่น สหรัฐ มีมูลค่า 26,600 ล้านบาท, เวียดนาม 10,000 ล้านบาท, ออสเตรเลีย 8,100 ล้านบาท, ไต้หวัน 6,500 ล้านบาท และญี่ปุ่น 5,800 ล้านบาท ทั้งปีคาดว่า การส่งออกจะขยายตัว 25% เมื่อเทียบจากปีที่ผ่านมา แต่ยังต้องจับตาปัญหาขาดแคลนชิป ราคาพลังงาน ที่จะเป็นอุปสรรคในการส่งออก ข้อดีคือ ค่าเงินบาทแข็งทำให้ไทยแข่งขันได้