หวั่นสงคราม “ชิป” ป่วนโลก “เสี่ยวหมี่” เล็งปักหมุดอีอีซี

ชิป

อุตสาหกรรมชิป 1 แสนล้านเหรียญป่วนโลก “สหรัฐ-ไต้หวัน” เปิดศึกTech War รอบใหม่ หอการค้าไทยในจีนหวั่นเจอปัญหาชิปขาดและแพง ลามถึงตลาดสินค้าไฮเทค เผยรถอีวีเลื่อนส่งมอบ จี้รัฐบาลไทยเร่งอัดนโยบายดูดลงทุน ชี้อีก 2-3 ปีโรงงานชิปโลกเตรียมย้ายฐาน “เสี่ยวหมี่”เล็งตั้งโรงงานผลิตชิปใน EEC

วิกฤตความตึงเครียดระหว่าง “สหรัฐจีน-ไต้หวัน” หลังนางแนนซี่ เพโลซี่ เยือนแถบเอเชียเมื่อสัปดาห์ก่อน กำลังสร้างความสั่นสะเทือนต่ออุตสาหกรรมชิปทั่วโลก เพราะไต้หวันเป็นผู้ผลิตชิปคุณภาพสูงรายใหญ่ของโลก ที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์

เฉพาะ Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) เพียงบริษัทเดียวก็ครองส่วนแบ่งตลาดเกินกว่า 50% ของตลาดโลก หรือมูลค่าเกือบ 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 3.3 ล้านล้านบาทในปี 2564

แต่ไต้หวันต้องนำเข้าทรายบริสุทธิ์และกรวดจากจีนเป็นวัตถุดิบในการผลิตชิป ซึ่งปี 2563 มีการนำเข้า 5.67 ล้านตัน สัดส่วน 90% ของทั้งหมด เพื่อสกัดเอาซิลิกอนไปใช้ร่วมกับแร่แรร์เอิร์ทจากจีน เพื่อผลิตเซมิคอนดักเตอร์ และเป็นรายได้หลักส่งออกของไต้หวัน ซึ่งราว 41% มาจากการผลิตและส่งออกเซมิคอนดักเตอร์และชิปอิเล็กทรอนิกส์

ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ของจีนสั่งงดส่งออกทรายธรรมชาติไปยังไต้หวัน เพื่อตัดต้นทางวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ จึงวิตกกันว่าไต้หวันจะต้องขาดแคลนวัตถุดิบและกระทบต่อตลาดส่งออกที่รุนแรง ทั้งมีผลต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องทั่วโลก

หวั่นชิปขาดกระทบทั่วโลก

ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน (อดีตทูตพาณิชย์ปักกิ่ง) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีจีนไม่ขายทรายให้ไต้หวันในการผลิตชิป ย่อมส่งผลกระทบแน่ แต่หากไต้หวันหาแหล่งวัตถุดิบทรายทดแทนได้ปัญหาอาจคลี่คลาย ซึ่งแหล่งทรายมีที่สหรัฐและเวียดนาม แต่การนำเข้าจะมีค่าขนส่งสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนชิปของไต้หวันสูงขึ้นตาม อาจมีผลต่อราคาในอนาคต และอาจรอนานขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ชิปเป็นชิ้นส่วน โดยเฉพาะชิปคุณภาพสูงกว่า 7 นาโนที่ไต้หวันสามารถผลิตได้

“การแข่งขันในการผลิตชิปโลกจะรุนแรงมากขึ้น เทคโนโลยีจะเปลี่ยนเร็ว หรืออาจเกิด tech war รอบใหม่ ตอนนี้สหรัฐยังครองตลาดอันดับ 1 ด้วยมูลค่า 20-30 ล้านล้านเหรียญสหรัฐคิดเป็น 1 หรือ 2 เท่าของขนาดเศรษฐกิจ ขณะที่จีนพัฒนาเติบโตมาถึง 60% ของอุตสาหกรรมทั้งหมด”

Tech War รอบใหม่

เดิมอุตสาหกรรมนี้แข่งขันรุนแรงอยู่แล้ว กล่าวคือ สหรัฐและจีนเป็นผู้ผลิตอันดับหนึ่งของโลกมาโดยตลอด โดยจีนครองส่วนแบ่งตลาดชิปคุณภาพกลางและล่างได้แล้ว พร้อมมุ่งพัฒนาชิปคุณภาพสูง แต่ถูกกีดกันโดยสหรัฐ ทำให้ไม่สามารถเข้าซื้อเทคโนโลยีจากเนเธอร์แลนด์ได้ เพราะสหรัฐใช้สนธิสัญญากับเนเธอร์แลนด์ป้องกันไว้ ส่งผลให้จีนหันมาพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ด้วยตัวเอง โดยวางให้เป็นสินค้ายุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ และด้านความมั่นคง ในฐานะเป็นยุทโธปกรณ์ ซึ่งข่าววงในระบุว่า จีนสามารถพัฒนาชิปคุณภาพสูงสำเร็จแล้ว โดยใช้วิธีการยิงโมเลกุล ทำให้ได้ชิปขนาดจิ๋ว แต่จีนไม่ได้ประกาศให้โลกรู้

“ทั้ง 2 ค่ายต่างเริ่มหาพันธมิตร หลังเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดการแบ่งข้างชัดขึ้น โดยเกาหลีใต้มีซัมซุงตั้งโรงงานที่จีน ขณะที่ไต้หวัน TSMC ไปตั้งโรงงานในแอริโซนา ซึ่งสหรัฐเตรียมเร่งออกกฎหมายกองทุนพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และเตรียมใช้วงเงิน 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐดึงดูดการลงทุนเข้าสหรัฐให้มากขึ้น หลังกรณีนางแนนซี่ เชื่อว่าจะทำให้ประธานาธิบดีไบเดนเร่งผ่านร่างกฎหมายนี้ออกมาบังคับใช้ และ TSMC ได้ประโยชน์เต็ม ๆ”

“ขณะที่อินเดียก็เริ่มพัฒนากฎหมายคล้ายสหรัฐ เพื่อรองรับเทคโนโลยีนี้จากสหรัฐเช่นกัน แต่อินเดียมีความสัมพันธ์กับจีน ในฐานะกลุ่มประเทศ BRICs อินเดียอาจจะเลือกข้างนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศตัวเอง”

ไทยกระทบ 4.0 ล่ม

ส่วนประเทศไทยและกลุ่มอาเซียนต้องเร่งเตรียมแนวทางให้พร้อม ซึ่งไทยมีอุตสาหกรรมผลิตชิป แต่เป็นชิประดับกลางและล่าง ยังไม่สามารถพัฒนาชิประดับที่เกาหลีใต้ผลิต

หากไทยถูกบีบให้เลือกข้าง “ดร.ไพจิตร” มองว่า ท่าทีกระทรวงการต่างประเทศจะวางตัวเป็นกลาง แต่ท่าทีนี้อาจมีผลต่อการพิจารณาตัดสินใจเลือกพันธมิตร เพื่อขยายการลงทุนทั้งสหรัฐ-จีน เพราะการเป็นพันธมิตรหมายถึงการเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรม และถ่ายทอดเทคโนโลยี หากไทยไม่ชัดเจนในด้านนโยบาย เราอาจถูกมองข้ามไปที่เวียดนามได้

“แม้ไทยมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ และการไปสู่อินดัสทรี 4.0 แต่แนวทางปฏิบัติของเราไม่ได้ชัดเจน ไม่ได้พัฒนาวิศวกร หรือนักวิทยาศาสตร์รองรับอุตสาหกรรมนี้ เมื่อทียบกับจีนได้พัฒนาปีละเป็นพัน ๆ คน โดยไทยเน้นเรื่องบริการ เรื่อง soft power หากไทยเน้นทางนี้คงต้องไปให้สุด เพื่อดึงให้ทุกคนมาใช้บริการเรา การไม่ได้เน้นอุตสาหกรรมชิปก็ไม่ผิด เพราะตลาดมีผู้เล่นเยอะ แข่งขันรุนแรง เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว แต่เราต้องแข็งแกร่งในทางที่เราเลือก ทั้งบริการหรืออาหาร”

ชิปขาดรถ EV สะเทือน

แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การขาดแคลนหรือผลิตชิปล่าช้าย่อมมีผลต่อการขับเคลื่อนเป้าหมายอุตสาหกรรมในปีนี้ และอาจต่ำกว่าเป้าเดิมที่วางไว้คือ 1 ล้านคัน เพราะขณะนี้การจองรถหลายค่ายใช้เวลาส่งมอบนานขึ้น ทั้งค่ายเอ็มจีและเกรท วอลล์ฯ (รถฮาวาล)

“ในอนาคตเมื่อจีนควบคุมแร่แรร์เอิร์ท 90% ของโลก ซึ่งเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมชิปเซมิคอนดักเตอร์และแบตเตอรี่ไฟฟ้ารถยนต์ แม้ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส สหรัฐ จะมีเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย แต่หากขาดวัตถุดิบแร่แรร์เอิร์ทก็จบ ทั้งกระทบถึงอุตสาหกรรมรถยนต์ รถไฟฟ้า เรือ เครื่องบิน คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ไฟฟ้า ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจโลก”

เผยยอดส่งออกชิป

รายงานข่าวระบุว่า ข้อมูล Trade Map ปี 2021 การค้าเซมิคอนดักเตอร์ของโลก มีมูลค่า 296,027 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นส่งออก 145,803 แสนล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้า 150,224 ล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศส่งออกอันดับ 1 คือ จีน มูลค่า 48,793 ล้านเหรียญสหรัฐ ครองส่วนแบ่ง 33% ขณะที่สหรัฐส่งออก 7,491 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นอันดับ 7

ส่วนไต้หวันส่งออก 6,356 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นอันดับ 8 ส่วนไทยส่งออก 2,661 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5% จากปี 2563 ครองสัดส่วน 2% ของตลาดโลก ส่วนประเทศผู้นำเข้าเซมิคอนดักเตอร์ อันดับ 1 คือ จีน มูลค่า 33,356 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 22% สหรัฐเป็นผู้นำเข้าอันดับ 3 มูลค่า 13,436 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 13%

เสี่ยวหมี่จ่อปักหมุด EEC

รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตัวแทนบริษัท เสี่ยวหมี่ ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีจากจีน ได้เข้าพบรองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) โดยแสดงความสนใจจะเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตชิปสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในไทย และต้องการทราบเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่จะได้รับ หากเข้ามาลงทุนในอีอีซี