ค่ายรถป่วน “ชิปขาด” อีกรอบ เอ็มจีหั่นเป้ายอดขาย 20%

ค่ายรถยนต์-มอเตอร์ไซค์ป่วน เจอปัญหาซ้ำชิปขาดและแพง ผู้ผลิตสินค้าหวั่นวิกฤตไต้หวันยืดเยื้อ “เอ็มจี” ประกาศปรับลดยอดขาย 20% เหลือ 40,000 คัน ชี้รถอีวีกระทบหนักแบ็กออร์เดอร์ 7,000 คัน “เกรท วอลล์ฯ” ยังไม่เปิดรับจอง ORA Good Cat “โตโยต้า” ออกโรงขออภัยส่งมอบรถให้ลูกค้าช้า ส่วนมอเตอร์ไซค์ยามาฮ่าปรับแผนผลิตรถรุ่นที่ใช้ชิปน้อยที่สุด

ความตึงเครียดที่บริเวณช่องแคบไต้หวัน หลังจากที่จีนประกาศขยายเวลาซ้อมรบไปจนกระทั่งถึงเดือนกันยายน 2565 เพื่อตอบโต้การเดินทางไปเยือนไต้หวันของ นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฏรสหรัฐ อย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ส่งผลทำให้อุตสาหกรรมที่ต้องใช้ “ชิป” ต่างตกอยู่ในความเสี่ยง เนื่องจากไต้หวันเป็นผู้ผลิตชิป-เซมิคอนดักเตอร์อันดับ 1 ของโลก ครองส่วนแบ่งทางการตลาดถึงร้อยละ 63 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตชิปขั้นสูง

โดยในระยะสั้นสินค้าที่จำเป็นต้องใช้ชิป ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์-รถ EV-เครื่องใช้ไฟฟ้า-โทรศัพท์-อุปกรณ์โทรคมนาคม มีการทำคำสั่งซื้อล่วงหน้า เนื่องจากกังวลกันว่าสถานการณ์ชิปขาดและมีราคาแพงกำลังจะหวนกลับมาอีกครั้ง

ด้านระยะยาว สหรัฐกำลังออก กม. Chips and Science Act หรือ CHIPS+ ด้วยการจัดตั้งกองทุนเพื่ออุดหนุนให้กับผู้พัฒนาชิป มูลค่า 52,000 ล้านเหรียญ สำหรับใช้ “ดึงดูด” ให้ผู้ผลิตชิปเข้ามาลงทุนพัฒนาและตั้งโรงงานในสหรัฐ ซึ่งเรื่องนี้เชื่อกันว่าจะส่งผลให้มีการ “เลือกข้าง” ระหว่างสหรัฐกับจีน ในการครอบครองผูกขาดการพัฒนาและผลิตชิปขั้นสูงในอนาคตอันใกล้

โตโยต้าเร่งส่งมอบรถลูกค้า

ด้านผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศไทย หลังจากที่เผชิญกับชิปขาดในช่วงปีที่ผ่านมารอบหนึ่งมาแล้วนั้น นายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวถึงสถานการณ์เซมิคอนดักเตอร์ที่กำลังเป็นปัญหาในอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ว่า

ในส่วนของ “โตโยต้า” เองอาจจะได้รับผลกระทบและทำให้ลูกค้าต้องรับรถยนต์ล่าช้ากว่าที่กำหนด “ซึ่งเราต้องขออภัยไว้ก่อน” และจากนี้เอง ผู้ประกอบการก็ยังไม่สามารถประเมินสถานการณ์ของโลกได้ ดังนั้นจึงพูดได้ไม่เต็มปากว่า “จะไม่เกิดปัญหา แต่โตโยต้าจะพยายามส่งมอบรถให้กับลูกค้าเร็วที่สุด”

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ โตโยต้า ถือเป็นค่ายรถยนต์ที่ได้ผลกระทบน้อยที่สุดจากปัญหาเซมิคอนดักเตอร์ เนื่องจากเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่มีเครือข่าย การบริหารจัดการทั่วโลก ก่อนหน้านี้ กรรมการผู้จัดการใหญ่ได้ประกาศปรับเพิ่มเป้าหมายยอดผลิตรถยนต์ในประเทศไทยขึ้นอีก 28.3% จาก 647,000 คันในปี 2564 ที่ผ่านมา เป็น 659,000 คันในปีนี้

เนื่องจากสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าดีขึ้น ความต้องการของลูกค้าในต่างประเทศเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้ตลาดส่งออกของโตโยต้า น่าจะอยู่ที่ 380,000 คัน โต 29.8% ส่วนตลาดในประเทศเพิ่มขึ้น 21% จาก 284,000 คัน เป็น 290,000 คัน

ADVERTISMENT

ลูกค้า MG EV รอกว่า 7,000 คัน

นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ กล่าวถึงสถานการณ์ของ “เอ็มจี” ในขณะนี้ว่า บริษัทได้ “ปรับเป้าหมายยอดขายรถยนต์” จากเดิมตั้งเป้าไว้ที่ 50,000 คันในปีนี้ เหลือเพียง 40,000 คัน หรือลดลง 20% โดยหลัก ๆ จะเป็นรถยนต์ในกลุ่ม EV อย่าง MG ZS ev ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มียอดจองกว่า 3,000 คัน แต่ขณะนี้บริษัทสามารถส่งมอบรถยนต์ไปได้แค่ 80 คันเท่านั้น

ส่วนอีกรุ่น MG EP รถยนต์ไฟฟ้า 100% ที่ตอนนี้มียอดจองสูงกว่า 4,000 คัน และรถยนต์รุ่นอื่น ๆ ทั้ง MG HS PHEV และ MG 5 บางส่วน ทำให้บริษัทตัดสินใจปรับเป้าหมายยอดขายทั้งปีให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงมากที่สุด “เรากำลังทำงานกับบริษัทแม่อย่างหนักเพื่อที่จะบริหารจัดการและจัดสรรรถยนต์มาเพื่อตอบสนองให้กับลูกค้าชาวไทยได้เร็วที่สุด

ซึ่งวันนี้ไม่เฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น แต่รุ่นอื่นที่เราเองก็มีปัญหาเพราะรถยนต์ทุกคันต่างมีการใช้ชิป (เซมิคอนดักเตอร์) ในการผลิต โดยเฉพาะรถที่มีระบบพวกอัตโนมัติเยอะ ระบบเกียร์ ระบบควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องมีชิปเข้าไปเป็นส่วนประกอบ อย่าง MG EP และ MG ZS ev เราเองก็ต้องประกาศหยุดรับจองไปก่อน” นายพงษ์ศักดิ์กล่าว

ลุ้นเปิดจอง ORA Good Cat อีก

เช่นเดียวกับ นายณรงค์ สีตลายน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ยอมรับว่า หลังจากปิดรับจอง ORA Good Cat ไปตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา กระแสของรถยนต์รุ่นนี้ยังคงได้รับความนิยมอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่วนจะเปิดให้จองได้อีกครั้งจะเป็นเมื่อไรนั้น บริษัทต้องวิเคราะห์ว่าจะสามารถส่งมอบรถยนต์ที่มีคำสั่งซื้ออยู่ในมือในปัจจุบันกว่า 2,200 คัน ได้เสร็จสิ้นเมื่อไร

“ขณะนี้บริษัทกำลังทำงานกับบริษัทแม่อย่างใกล้ชิด เพื่อขอโควตารถให้ได้มากที่สุดเพื่อนำมาส่งมอบให้แฟน ๆ ชาวไทยให้ได้เร็วที่สุด หากประเมินได้แล้วจึงจะสามารถบอกได้ว่าจะสามารถเปิดจองอีกทีได้เมื่อไหร่ แต่คิดว่าจะไม่ให้เกินภายในปีนี้อย่างแน่นอน” นายณรงค์กล่าว

มอเตอร์ไซค์ผลิตรุ่นใช้ชิปน้อย

ด้านแหล่งข่าวจากกลุ่มบริษัทฮอนด้าในประเทศไทยกล่าวว่า ในภาพรวมสถานการณ์ของปัญหาชิปของฮอนด้า ทั้งในส่วนของการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ แต่ยังถือว่า “ไม่ได้ดีขึ้นมาก” ถึงแม้จะมีสัญญาณการฟื้นตัวและความต้องการของตลาดที่เริ่มกลับมา

ดังนั้น สิ่งที่ฮอนด้าทำก็คือพยายามอย่างเต็มที่ในการจัดสรรการผลิต เพื่อรองรับในรถยนต์รุ่นที่ได้รับความนิยม หรือมี back order มาก โดยจะผ่อนคลายผลกระทบที่จะเกิดกับลูกค้าให้น้อยที่สุด (การ balance stock)

เช่นเดียวกับผู้บริหารจากบริษัท ไทยยามาฮ่า จำกัด ที่ยอมรับว่า “สถานการณ์ชิปยังไม่คลี่คลายเท่าที่ควร” ที่ผ่านมายามาฮ่าใช้วิธีบริหารจัดการและผลิตรุ่นรถที่ใช้ชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์น้อยที่สุดออกสู่ตลาด รวมทั้งพยายามนำเสนอรถจักรยานยนต์รุ่นที่อื่น ๆ ทดแทนให้กับลูกค้า ซึ่งสามารถทำให้ตลาดขับเคลื่อนไปได้

ปรับเป้าส่งออกรถยนต์ใหม่

ด้านนายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ทางกลุ่มกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา “ทบทวน” ตัวเลขเป้าหมายการส่งออกรถยนต์ในปี 2565 จากที่ตั้งไว้ประมาณ 1 ล้านคัน เนื่องจากตัวเลขดังกล่าวเป็นการประเมินก่อนที่จะเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งกระทบต่อราคาพลังงานโลก ประกอบกับภาพรวมสถานการณ์การส่งออกรถยนต์ในช่วงครึ่งปีแรกลดลงร้อยละ 11 ในเชิงปริมาณ

ส่วนเชิงมูลค่าลดลงร้อยละ 6.3 เป็นผลต่อเนื่องมาจากปัญหาการขาดแคลนชิปที่ใช้ในการผลิตและประกอบรถยนต์ยังไม่คลี่คลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์นั่ง มีความต้องการใช้ชิปในการผลิตมากที่สุด

“ตลาดส่งออกเมียนมาตอนนี้ก็มีปัญหาการเมืองในประเทศ ทำให้ยอดส่งออกหายไป 2,000-3,000 คัน ส่วนตัวเลขเป้าหมายการส่งออกรถยนต์ใหม่คาดว่าน่าจะใกล้เคียงกับการส่งออกปี 2564 คือ 959,000 คัน ซึ่งเราจะสรุปตัวเลขกันกลางเดือนสิงหาคมนี้” นายสุรพงษ์กล่าว