TSMC เบอร์ 1 ผู้ผลิตชิปโลก เบื้องหลังเพโลซีเยือนไต้หวัน ?

TSMC เบอร์ 1 ผู้ผลิตชิปโลก เบื้องหลังเพโลซีเยือนไต้หวัน ?
Photo by AFP / China OUT

การเดินทางเยือนไต้หวันของ “เพโลซี” ทำให้ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลกกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง ท่ามกลางการห้ำหั่นระหว่างสหรัฐกับจีน

วันที่ 4 สิงหาคม 2565 ซีเอ็นบีซีรายงานว่า แม้ “แนนซี เพโลซี” จะเดินทางออกจากไต้หวันไปแล้ว แต่การเยือนไต้หวันของเธอครั้งนี้ได้จุดกระแสความสนใจเกี่ยวกับบทบาทของไต้หวันที่มีต่อห่วงโซ่อุปทานชิปทั่วโลกอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลกอย่าง Taiwan Semiconductor Manufacturing Co. หรือ TSMC

ระหว่างการเยือนที่สร้างความไม่พอใจให้กับจีน เพโลซีได้พบกับ “มาร์ค หลิว” ประธาน TSMC เพื่อแสดงให้เห็นว่าเซมิคอนดักเตอร์มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของสหรัฐอย่างไร อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของ TSMC ในการผลิตชิปที่ทันสมัยที่สุด

เซมิคอนดักเตอร์ซึ่งมีความสำคัญกับทุกสิ่ง ตั้งแต่สมาร์ทโฟนไปจนถึงรถยนต์ และตู้เย็น ได้กลายเป็นส่วนสำคัญของการแข่งขันด้านเทคโนโลยีของสหรัฐกับจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ทำให้สหรัฐต้องพยายามไล่ตามเอเชียให้ทัน เพื่อรักษาความเป็นผู้นำเหนือจีนในอุตสาหกรรมนี้

“รีมา ภัทรชยะ” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเอเชีย บริษัทที่ปรึกษาความเสี่ยงทางธุรกิจเวอร์ริสค์ เมเปิลครอฟท์ (Verisk Maplecroft) ให้สัมภาษณ์ซีเอ็นบีซีว่า สถานะทางการทูตที่ยังไม่ถูกชี้ขาดของไต้หวัน จะยังคงเป็นที่มาของความไม่แน่นอนทางภูมิศาสตร์การเมืองที่รุนแรง แม้แต่การเดินทางของเพโลซียังตอกย้ำถึงความสำคัญของไต้หวันสำหรับทั้งสองประเทศ

“เหตุผลที่ชัดเจนคือความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญในฐานะผู้ผลิตชิป และในฐานะห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก”

การไปเยือนไต้หวันของเพโลซี และการพบกับผู้บริหาร TSMC แสดงให้เห็นว่าสหรัฐไม่สามารถทำได้โดยลำพัง และจะต้องได้รับความร่วมมือจากบริษัทในเอเชียที่ครอบครองชิปที่ล้ำสมัยที่สุด

บทบาทสำคัญของ TSMC

TSMC เป็นโรงหล่อ ซึ่งหมายความว่าสามารถผลิตชิปที่บริษัทอื่นออกแบบ โดยมีรายชื่อลูกค้าจำนวนมาก ตั้งแต่ Apple ไปจนถึง Nvidia และบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลกอื่น ๆ

ในขณะที่สหรัฐล้าหลังในการผลิตชิปในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา บริษัทต่าง ๆ เช่น TSMC และ Samsung Electronics ในเกาหลีใต้ ได้พัฒนาเทคนิคการผลิตชิปที่ล้ำไปข้างหน้า โดยพึ่งพาเครื่องมือและเทคโนโลยีจากสหรัฐ ยุโรป และที่อื่น ๆ

โดยเฉพาะ TSMC ที่สามารถครองตำแหน่งผู้ผลิตชิปชั้นนำของโลกได้

บริษัทวิจัยการตลาด CounterPoint Research ระบุว่า TSMC ผลิตชิปคิดเป็นสัดส่วน 54% ของตลาดโรงหล่อทั่วโลก

เฉพาะไต้หวันเพียงแห่งเดียวก็สามารถผลิตชิปได้ 2 ใน 3 ของตลาดโรงหล่อทั่วโลก จากการผลิตของ TSMC ควบคู่กับผู้เล่นรายอื่น ๆ เช่น UMC และ Vanguard

ทั้งหมดนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของไต้หวันในตลาดเซมิคอนดักเตอร์โลก

และหากเพิ่ม Samsung ซึ่งมีส่วนแบ่ง 15% จากทั่วโลก หมายความว่าเอเชียเป็นภูมิภาคที่ครองพื้นที่การผลิตชิปอย่างแท้จริง

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เพโลซีหมายมั่นที่จะมาพบกับประธาน TSMC

ความกังวลเรื่องการบุกไต้หวัน

จีนมองว่าไต้หวันที่ปกครองตัวเองตามระบอบประชาธิปไตยเป็นมณฑลที่แยกออกไป ซึ่งสุดท้ายแล้วก็จะกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของจีนอีกครั้ง หลายสัปดาห์ที่ผ่านมาจีนจึงพร่ำบอกเพโลซีว่าอย่ามาไต้หวัน

ระหว่างที่เพโลซีเยือนไต้หวัน จีนได้เพิ่มความตึงเครียดด้วยการจัดซ้อมรบทางทหาร

มีความกังวลว่าจีนจะบุกไต้หวันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อโครงสร้างตลาดชิปทั่วโลก ทำให้จีนได้ควบคุมเทคโนโลยีที่ไม่เคยมีมาก่อน ยิ่งไปกว่านั้นยังมีความกังวลว่าการบุกไต้หวันอาจส่งผลต่ออุปทานของชิปทั่วโลก

“อาบีชูร์ ปรากาศ” ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษา Center for Innovating the Future ตอบซีเอ็นบีซีทางอีเมล์ว่า “เป็นไปได้มากว่าชาวจีนจะทำให้ TSMC เป็นสมบัติของชาติ และเริ่มรวมบริษัทกับเทคโนโลยีเข้ากับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของตนเอง”

อย่างไรก็ตาม หลิว ประธาน TSMC ให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็นว่า การบุกไต้หวันจะทำให้ผู้ผลิตชิป “ไม่สามารถทำงานได้”

“ไม่มีใครสามารถควบคุม TSMC ได้ ด้วยกำลัง” หลิวกล่าว

สหรัฐกำลังทำอะไร ?

สหรัฐให้ความสำคัญกับการปรับฐานการผลิตใหม่ ภายใต้การบริหารของซีอีโอ Intel อย่าง “แพท เกลซิงเกอร์” Intel กำลังพัฒนาปรับปรุงธุรกิจโรงหล่อ หลังจากพ่ายให้กับ TSMC มานานหลายปี

สหรัฐยังพยายามโน้มน้าวให้บริษัทอื่น ๆ มาตั้งโรงงานในประเทศด้วย

ปัจจุบัน TSMC กำลังสร้างโรงงานผลิตมูลค่า 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในรัฐแอริโซนา เพื่อผลิตชิปขั้นสูง

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐได้ผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยชิปและวิทยาศาสตร์ ซึ่งรวมถึงเงินทุนจำนวน 52,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ออกแบบมาเพื่อส่งเสริมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในสหรัฐ และพัฒนาความสามารถในการแข่งขันกับจีน

สหรัฐยังหาทางจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีของจีนอีกด้วย

เมื่อปี 2563 สหรัฐได้ออกกฎที่กำหนดให้ผู้ผลิตต่างประเทศที่ใช้เครื่องมือผลิตชิปของสหรัฐ ต้องได้รับใบอนุญาตก่อนจึงจะสามารถขายเซมิคอนดักเตอร์ให้กับ Huawei ยักษ์ใหญ่ด้านอุปกรณ์โทรคมนาคมของจีนได้

และ TSMC ก็เป็นผู้ที่ผลิตชิปโปรเซสเซอร์สมาร์ทโฟนของ Huawei

หลังจากความเคลื่อนไหวของสหรัฐครั้งนั้น TSMC ก็ไม่สามารถจัดหาชิปให้กับ Huawei ได้อีกต่อไป ส่งผลให้ธุรกิจสมาร์ทโฟนของ Huawei ได้รับผลกระทบ

ในปีเดียวกัน บริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของจีนอย่าง “Semiconductor Manufacturing International Corporation” หรือ SMIC ถูกสหรัฐขึ้นบัญชีดำการส่งออก จึงถูกจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีที่สำคัญ

จีนวางตัวอย่างไร ?

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในเชิงยุทธศาสตร์ โดยมุ่งเน้นไปที่การพึ่งพาตนเองและการตัดขาดจากเทคโนโลยีสหรัฐ

SMIC มีความสำคัญต่อความปรารถนาของจีน แต่การคว่ำบาตรได้ตัดขาด SMIC จากเครื่องมือสำคัญที่ต้องใช้เพื่อผลิตชิปที่ล้ำสมัยที่สุดอย่างที่ TSMC ทำ

SMIC ยังคงตามหลังคู่แข่งอยู่หลายปี และอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของจีน ยังคงพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก

TSMC มีโรงงานผลิตชิปสองแห่งในจีน แต่ทั้งสองแห่งถูกใช้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่มีความซับซ้อนน้อยกว่า ซึ่งแตกต่างจากโรงงานผลิตในรัฐแอริโซนา

สหรัฐกำลังมองหาความร่วมมือด้านเซมิคอนดักเตอร์กับพันธมิตรในเอเชีย ซึ่งรวมถึงญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เพื่อเป็นแนวทางในการจัดหาส่วนประกอบที่สำคัญ และรักษาความเป็นผู้นำเหนือจีน

ขณะเดียวกัน TSMC ก็ติดอยู่ท่ามกลางการแข่งขันระหว่างสหรัฐกับจีน และอาจถูกบังคับให้เลือกข้าง ตามความเห็นของปรากาศ

“ความมุ่งมั่นในการสร้างโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงในสหรัฐ อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าไต้หวันกำลังเลือกเข้าข้างประเทศใด”

ปรากาศกล่าวอีกว่า อันที่จริง บริษัทอย่าง TSMC ได้เลือกข้างไปแล้ว โดยกำลังลงทุนในสหรัฐเพื่อสนับสนุนการผลิตชิปในสหรัฐ และระบุว่าต้องการทำงานร่วมกับประชาธิปไตย อย่างสหภาพยุโรป ในการผลิตชิป


“บริษัทต่าง ๆ กำลังให้ความสนใจในเชิงอุดมการณ์มากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับผู้ที่พวกเขาทำงานด้วย คำถามคือ ความตึงเครียดระหว่างไต้หวันกับจีนที่เพิ่มขึ้น จะทำให้ TSMC สามารถรักษาจุดยืนของตนเอง (ซึ่งสอดคล้องกับตะวันตก) ได้หรือไม่ หรือจะถูกบังคับให้ปรับกลยุทธ์ทางภูมิศาสตร์การเมือง”