การประกาศของ “อินเทล” เมื่อ 24 ก.ค. 2020 โดยยืดระยะเวลาของการเริ่มผลิตชิป 7 นาโนเมตร ออกไปจากปัญหากระบวนการผลิต พร้อมส่งสัญญาณว่าจะถอนตัวออกจากการเป็นผู้ผลิตชิปเพื่อหันไปโฟกัสในกระบวนการออกแบบและวิจัยแทน ซึ่งหากอินเทลถอนตัวออกจากการเป็นผู้ผลิตชิปจริง เท่ากับผลักดันให้ “ทีเอสเอ็มซี” (TSMC) เข้ามาเติมเต็มช่องว่างจนกลายเป็นผู้ผูกขาดตลาดการผลิตชิป และส่งเสริมบทบาททางภูมิรัฐศาสตร์ของทีเอสเอ็มซี รวมถึงไป “ไต้หวัน” ที่เป็นแผ่นดินแม่ของบริษัทให้สูงขึ้น ท่ามกลางบรรยากาศสงครามเทคโนโลยีระหว่างจีนและสหรัฐ
ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทที่สามารถผลิตชิประดับสูงมีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น ซีเอ็นเอ็นรายงานโดยอ้างงานวิจัยจาก “ยูเรเชียน กรุ๊ปส์” บริษัทที่ปรึกษาในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีซึ่งระบุว่า ปัจจุบันมีบริษัทผู้ผลิตชิปเพียง 3 แห่งในโลกเท่านั้นที่มีเทคโนโลยีและความรู้ความสามารถที่เพียงพอสำหรับการผลิตชิประดับสูงขนาด 7 นาโนเมตรลงไปได้ ได้แก่ อินเทล ซัมซุง และทีเอสเอ็มซีซึ่งการถอนตัวของอินเทลออกจากการเป็นผู้ผลิตชิปจะทำให้ “ทีเอสเอ็มซี” มีอำนาจต่อรองในตลาดเพิ่ม ขณะที่ผู้ผลิตอีกรายคือ “ซัมซุง” ยังมีธุรกิจอีกมากมายให้พะวง และยังไม่มีความประหยัดเชิงขนาด (economy of scale) เท่ากับทีเอสเอ็มซี
ดังนั้น ทีเอสเอ็มซีจึงทวีความสำคัญต่อการเป็นผู้ผลิตชิประดับสูงที่เป็นหัวใจสำคัญของเทคโนโลยียุคอนาคต
“เบรต สเวนสัน” นักวิจัยจาก “สถาบันวิสาหกิจอเมริกัน” (American Enterprise Institute) สำนักคิดด้านนโยบายจากกรุงวอชิงตัน ชี้ว่า แม้อินเทลจะไม่หายไปจากการเป็นผู้ผลิตชิปทันที แต่จะลดบทบาทอย่างต่อเนื่อง
และจะส่งผลให้ “ทีเอสเอ็มซี” ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำอย่างช้า ๆ และมีบทบาทสูงยิ่งจากการเป็นผู้ซัพพลายชิปให้กับสหรัฐและจีน ที่กำลังแข่งขันกันพัฒนาเทคโนโลยีชิงนำการเป็นเบอร์หนึ่งโลกอย่าง เอไอ ไอโอที คลาวด์คอมพิวติ้ง
ด้วยบทบาทของทีเอสเอ็มซีต่อซัพพลายเชนนี้เอง ได้ส่งผลให้เกาะไต้หวันซึ่งมีฐานโรงงานของทีเอสเอ็มซีจำนวนมากมีความสำคัญเชิงภูมิรัฐศาสตร์ไปโดยปริยาย รายงานของ “เคาน์เตอร์พอยต์ รีเสิร์ช” บริษัทที่ปรึกษาในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอีกแห่งชี้ว่า ในปี 2019 ทีเอสเอ็มซีมีสัดส่วนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์มากกว่า 50% ของทั้งโลก ซึ่งโรงงานส่วนใหญ่ของบริษัทตั้งอยู่ใน “ไต้หวัน” นอกจากนี้ยังระบุอีกว่า ทีเอสเอ็มซีจะเพิ่มสัดส่วนการผลิตชิป 5 นาโนเมตร สู่ระดับ 38.5% ของทั้งโลกในปี 2024 ซึ่งปัจจุบันทีเอสเอ็มซีมีโรงงานใน “ไต้หวัน” และ “แอริโซนา” เท่านั้น ที่สามารถผลิตชิป 5 นาโนเมตร อันเป็นอุปกรณ์จำเป็นสำหรับเทคโนโลยีชั้นสูง เช่น สมาร์ทโฟนรุ่นเรือธงของแต่ละค่าย และสถานีฐาน 5G
สำหรับจีนที่ยังมีอุตสาหกรรมการผลิตชิปในประเทศที่ตามหลังสหรัฐอยู่ แม้รัฐบาลจีนจะเร่งสนับสนุนบริษัทผู้ผลิตชิปภายในประเทศก็ตาม
โดย “พอล ทริโอโล” หัวหน้าทีมวิจัยด้านเทคโนโลยีจาก “ยูเรเชียน กรุ๊ปส์” ชี้ว่า บริษัทผู้ผลิตชิปที่ก้าวหน้าที่สุดของจีนอย่างเอสเอ็มไอซี (SMIC) ยังตามหลังบริษัทผู้นำในอุตสาหกรรมนี้อย่างน้อย 3-5 ปี จีนจึงต้องพึ่งพาการนำเข้าชิปจากไต้หวัน และยังต้องการให้ทีเอสเอ็มซีขยายฐานการผลิตมายังประเทศของตนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม
ซึ่งจากความสำคัญดังกล่าว “พอล ทริโอโล” ได้ตั้งข้อสังเกตว่า จีนไม่กล้าลงดาบต่อทั้งทีเอสเอ็มซีและไต้หวันจากกรณีการไปตั้งโรงงานที่แอริโซนา เนื่องจากอำนาจต่อรองของทีเอสเอ็มซีมีสูงจากการกุมซัพพลายการผลิตชิป
ในส่วนของสหรัฐที่มีบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำจำนวนมาก เช่น แอปเปิล ควอลคอม อินวิเดีย หรือแม้แต่อินเทล เป็นต้น ที่สามารถออกแบบชิปเองได้ แต่ในขั้นตอนการผลิตจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าจากไต้หวัน
ดังนั้นเกาะไต้หวันจึงกุมความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ต่อสหรัฐเป็นอย่างมาก หากเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลให้ไต้หวันไม่สามารถส่งออกสินค้าเหล่านี้ได้ ย่อมกระทบต่อบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐ
ซึ่ง “เบรต สเวนสัน” ชี้ให้เห็นว่า บทบาทของสหรัฐที่แสดงออกว่าพร้อมจะปกป้องไต้หวันจากภัยคุกคาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากจีน ไม่ได้แสดงออกเพียงวัตถุประสงค์ทางการเมืองระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความสำคัญของเกาะไต้หวันที่มีต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีของสหรัฐอีกด้วย
จึงกล่าวได้ว่าสหรัฐก็ต้องพึ่งพาไต้หวันในลักษณะเดียวกับจีนเช่นกัน
ดังนั้น บทบาทบนเวทีการเมืองระหว่างประเทศของทั้ง “ทีเอสเอ็มซี” และ “ไต้หวัน” หลังยุคการถอนตัวออกจากการเป็นผู้ผลิตของอินเทลก็จะพุ่งขึ้นสูงลิ่ว กลายเป็นคนเนื้อหอม ในเกมการแย่งชิงตัวเข้าสู่อ้อมปีกของมหาอำนาจทั้งสอง ที่ต้องการให้ทีเอสเอ็มซีขยายฐานการผลิตมายังประเทศของตน และรับประกันการเป็นผู้ซัพพลายชิปให้กับบริษัทเทคโนโลยีของประเทศตน
แม้สหรัฐดูจะได้เปรียบกว่าจีนในเกมดึงตัวครั้งนี้ อย่างล่าสุดเพิ่งโน้มน้าวให้ทีเอสเอ็มซีเข้ามาตั้งโรงงานในแอริโซนา มูลค่ากว่า 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งปัจจุบันเป็นโรงงานที่มีเทคโนโลยีการผลิตที่สูงสุดที่ตั้งอยู่นอกเกาะไต้หวัน อีกทั้งสหรัฐก็ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาล “ไช่อิงเหวิน”
อย่างไรก็ตาม หากการเมืองไต้หวันเกิดการพลิกขั้ว โดยพรรคก๊กมินตั๋งที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลจีนสามารถเอาชัยเหนือไช่อิงเหวินได้ เกมการแข่งขันก็อาจจะเปลี่ยนไปได้