วัดพลัง “ชิป” จีน-ไต้หวัน TSMC เตือนสงครามจะมีแต่ “ผู้แพ้”

ชิปจีน-ไต้หวัน
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

ภายหลังจากนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐอเมริกา เยือนไต้หวัน เมื่อต้นเดือนสิงหาคม ซึ่งถือเป็นการเยือนของบุคคลระดับสูงจากสหรัฐในรอบ 25 ปี ได้สร้างความขุ่นเคืองอย่างมากให้กับจีน จนทำให้จีนมีปฏิกิริยาตอบโต้ตามที่ขู่ไว้ ทั้งการซ้อมรบรอบเกาะไต้หวันและตามมาด้วยการแบนสินค้าไต้หวันประมาณ 2,000 รายการ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอาหารและเกษตร

ขณะเดียวกันจีนได้ระงับการขาย “ทราย” ให้กับไต้หวันด้วย ซึ่งทรายดังกล่าวเป็นวัตถุดิบที่จะนำมาเป็นส่วนประกอบในการผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ จึงทำให้เกิดความกังวลว่าโลกจะขาดแคลนชิป ซ้ำเติมภาวะเดิมที่ขาดแคลนอยู่แล้ว เนื่องจากไต้หวันเป็นผู้ผลิตชิปขั้นสูงรายใหญ่สุดของโลกหรือคิดเป็น 90% ของชิปขั้นสูงทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสินค้านับพันรายการที่ถูกแบน เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่ปรากฏสินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์รวมอยู่ด้วยแต่อย่างใด เพราะจีนเองต้องพึ่งพาชิปจากไต้หวันเช่นกัน

“แพทริก เฉิน” หัวหน้าฝ่ายวิจัยของ CLSA ในไต้หวัน ชี้ว่า บริษัทผลิตชิปในไต้หวันอาจไม่ได้ต้องการพึ่งพาจีนมากเท่ากับที่จีนต้องพึ่งพาไต้หวัน เพราะบริษัทขนาดใหญ่ของไต้หวันอย่าง TSMC อยู่แถวหน้าสุดของโลก ส่วนบริษัท UMC ของไต้หวันเช่นกัน และ “โกลบอล เฟาดรีส์” ของอเมริกาอยู่ระดับ 2 ขณะที่ SMIC และหัวหงของจีนอยู่ระดับ 3 ดังนั้นจีนไม่ใช่คู่แข่งที่น่ากลัวของไต้หวัน

เมห์ดิ ฮอสเซนิ นักวิเคราะห์ฮาร์ดแวร์เทคโนโลยีของซัสคิวฮันนา ระบุว่า ถึงแม้จีนจะพยายามเร่งมือผลิตชิปเองในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล แต่ SMIC ยังต้องใช้เวลาประมาณ 15 ปี เพื่อให้ไปถึงจุดที่ TSMC เคยอยู่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เพราะจีนไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีล้ำสมัยได้ เนื่องจากสมัยรัฐบาล “โดนัลด์ ทรัมป์” ได้สั่งแบนหัวเว่ย บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนและ SMIC ไม่ให้ใช้เทคโนโลยีอเมริกัน

ส่วนในด้านรายได้ ปัจจุบันรายได้จากจีนของ TSMC คิดเป็นเพียง 10% เท่านั้น หลังจากหัวเว่ยถูกอเมริกาแบนในปลายปี 2020 ทำให้ TSMC ไม่สามารถผลิตชิปให้กับหัวเว่ย จึงหันไปผลิตให้รายอื่นแทน จากเดิมที่รายได้จากจีนเคยอยู่ระดับเกือบ 20% ในช่วงปี 2018-2020

ทั้งนี้มีรายงานว่า ปัจจุบัน SMIC มีความสามารถในการผลิตชิปขนาด 45 นาโนเมตร ส่วน TSMC ล้ำหน้าไปไกลที่ 3 นาโนเมตรแล้ว

ส่วนประเด็นของทรายธรรมชาติ ที่จีนระงับการขายให้กับไต้หวันนั้น “สำนักเหมืองแร่ของไต้หวัน” เปิดเผยว่า ส่งผลกระทบแค่เพียงเล็กน้อย เนื่องจากในปี 2020-2021 ไต้หวันนำเข้าทรายเพียง 0.64-0.75% หรือ 450,000-540,000 แสนตัน ของความต้องการภายในประเทศ ในจำนวนนี้นำเข้าจากจีนเพียง 70,000-170,000 ตัน ขณะเดียวกันไต้หวันได้เพิ่มความพยายามในการขุดทรายเองภายในประเทศ คาดว่าปีนี้จะผลิตทรายได้เอง 48.85 ล้านตัน

กระทรวงเศรษฐกิจไต้หวัน ระบุว่า ความต้องการภายในประเทศจะไม่ได้รับผลกระทบจากการที่จีนระงับขายทราย เนื่องจากสามารถจัดหาซัพพลายทรายจากด้านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศแทน รวมทั้งจะนำเข้าทรายจากประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

ตามข้อมูลของสำนักการค้าของไต้หวัน ชี้ให้เห็นว่าปริมาณการค้าในส่วนที่เป็นเป้าโจมตีของจีนนั้น “เล็กน้อยมาก” เทียบได้กับน้ำหนึ่งหยดในมหาสมุทร โดยทรายธรรมชาติที่จีนส่งขายให้ไต้หวันคิดเป็นมูลค่าเพียง 3.5 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ขณะที่ผู้ป้อนทรายรายใหญ่สุดให้กับไต้หวันก็คือออสเตรเลียและเวียดนามมีมูลค่าประมาณ 64 ล้านดอลลาร์

ส่วนความเคลื่อนไหวของสหรัฐ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านชิปให้กับประเทศ ภายหลังจากเกิดปัญหาห่วงโซ่อุปทานชะงักงันนับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 รวมทั้งความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับจีน ทั้งด้านการค้าและภูมิรัฐศาสตร์ ล่าสุดเดือนสิงหาคมนี้ ประธานาธิบดี “โจ ไบเดน” ได้ลงนามบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยชิปและวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะเสนอเงินสนับสนุนแก่ผู้ผลิตชิปในสหรัฐ โดยในส่วนของ TSMC ได้ลงทุนสร้างโรงงานผลิตชิปมูลค่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ในรัฐแอริโซนา

ความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวัน ทำให้เกิดความกังวลเช่นกันว่า จีนอาจจะบุกยึดไต้หวัน อาจทำให้สหรัฐไม่สามารถซื้อชิปจากไต้หวันได้ อย่างไรก็ตาม กระทรวงกลาโหมสหรัฐประเมินว่า จีนจะไม่บุกยึดไต้หวันในอีก 2 ปีข้างหน้า หลังจากการเยือนของนางเพโลซี ส่วนผู้บริหาร TSMC เตือนว่า หากเกิดสงครามไต้หวัน-จีน จะมีแต่ผู้แพ้ทั้งหมด ไม่ว่าจีนหรือชาติตะวันตก