ยอดรถยึดทะลัก 3 แสนคัน ค้างผ่อนค่างวด 1.54 แสนล้าน

รถยึด
อัพเดตข้อมูลล่าสุด 17 กันยายน 2565 เวลา 11.02 น.

มาตรการพักหนี้จบ-ลูกหนี้หมดแรง สถาบันการเงินจ่อยึดรถเพิ่ม ดัน “รถยนต์-จักรยานยนต์” ไหลเข้าลานประมูลเพียบ “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” เกาะติดตัวเลขเช่าซื้อรถค้างชำระพุ่งแตะ 1.54 แสนล้านบาท คิดเป็น 13% ของสินเชื่อเช่าซื้อ “แอพเพิล ออโต้ ออคชั่น” เผยสัญญาณรถยึดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดปีนี้ทะลักเข้าลานประมูลถึง 3 แสนคัน หนุนธุรกิจประมูลรถมือสองคึกคัก สยามอินเตอร์ฯเร่งขยายโกดังรองรับทั่วประเทศ “สหการประมูล” เผยราคารถมือสองขยับเพิ่ม

สินเชื่อเช่าซื้อรถโตต่ำ

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มสินเชื่อเช่าซื้อระบบธนาคารพาณิชย์ปีนี้คาดว่าจะขยายตัวราว 2% เป็นการเติบโตในกรอบที่ต่ำ ตามการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และกำลังซื้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำจากภาระต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น อาจมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ

อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งหลังของปีจะเป็นช่วงฤดูการขายรถยนต์ และการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่หนุนการเติบโตได้ และส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานที่ต่ำในปีก่อนที่ขยายตัวเพียง 0.1% จากยอดสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นปี 2564 อยู่ที่ 1.18 ล้านล้านบาท

หนี้ค้างชำระพุ่ง 1.5 แสนล้าน

ประเด็นคุณภาพหนี้สินเชื่อเช่าซื้อรถยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม เนื่องจากตัวเลขการไหลของหนี้ชั้นปกติไปสู่สินเชื่อจับตาเป็นพิเศษ (SM) หรือค้างชำระไม่เกิน 89 วัน ในไตรมาสที่ 2/65 ที่เพิ่มเป็น 1.54 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 13.11% ของสินเชื่อเช่าซื้อ จากไตรมาสที่ 1/65 อยู่ที่ 1.41 แสนล้านบาท หรือ 12.05% และสิ้นปี 2564 อยู่ที่ 1.30 แสนล้านบาท หรือ 11.08%

สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นระดับหนึ่งตามความสามารถการชำระหนี้ที่ลดลง แต่ไม่ได้เพิ่มขึ้นสูงมาก เนื่องจากธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อจะมีการบริหารจัดการหนี้ก่อนตกชั้นเป็นหนี้เสีย โดยไตรมาสที่ 2/65 เอ็นพีแอลสินเชื่อรถอยู่ที่ 1.73 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 1.48% ของสินเชื่อเช่าซื้อ ขยับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1/65 ที่อยู่ 1.72 หมื่นล้านบาท หรือ 1.47%

“ทิศทางสินเชื่อเช่าซื้อยังโตต่ำและอยู่ในกรอบจำกัด 2% เพราะยังอยู่ในช่วงเคลียร์คุณภาพหนี้ และกำลังซื้อยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ส่งผลให้พอร์ตสินเชื่อคงค้างค่อนข้างทรงตัว โดยในไตรมาสที่ 2/65 อยู่ที่ 1.18 ล้านล้านบาท ใกล้เคียงกับไตรมาสที่ 1/65 อยู่ที่ราว 1.17 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตาม คาดว่าช่วงที่เหลือสินเชื่อน่าจะทยอยฟื้วตัวเพิ่มขึ้นตามฤดูกาลการขายรถ”

รถยึดเข้าประมูล 3 แสนคัน

นายอนุชาติ ดีประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอพเพิล ออโต้ ออคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จัดการประมูลรถรายใหญ่ เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท เอ็มบีเค จำกัด (มหาชน) และกลุ่มแอพเพิลจากประเทศญี่ปุ่น กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ปัจจุบันพบว่ามีรถยึดเข้าสู่ลานประมูลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงไตรมาส 1-2 ที่ผ่านมา ทั้งระบบพบว่ามีรถเข้าลานประมูล 1.5-2 หมื่นคันต่อเดือน แต่ไตรมาสที่ 3 เริ่มเห็นเพิ่มเป็น 1.8-2.5 หมื่นคันต่อเดือน โดยในช่วงไตรมาส 3-4 มีแนวโน้มขยับเพิ่มขึ้นประมาณ 5-10%

โดยทั้งระบบปีนี้คาดว่าจะมีรถเข้าสู่ลานประมูลประมาณ 2.16-3 แสนคัน ถือว่าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับยอดขายรถใหม่ปีนี้ที่อยู่ประมาณ 8 แสนคัน โดยอัตรารถเข้าลานประมูลกลับไปใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19

“ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันการเงินสิ้นสุดลงเมื่อสิ้นปี 2564 ทำให้ลูกค้าที่ได้รับการช่วยเหลือพักชำระหนี้ หรือปรับโครงสร้างหนี้ ยืดเวลาชำระหนี้ เมื่อต้องกลับมาชำระหนี้ตามปกติ อาจมีบางรายที่ชำระต่อไม่ไหวจากผลกระทบ และภาระต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น ปล่อยให้สถาบันการเงินยึดรถแทน”

พักหนี้จบ-รถถูกยึดเพิ่ม

นายอนุชาติกล่าวว่า แนวโน้มรถยึด หรือคืนรถน่าจะทยอยเพิ่มขึ้น ในส่วนของบริษัทตั้งเป้าที่จะมีรถเข้าสู่ลานประมูลเฉลี่ย 7,000-8,000 คันต่อเดือน และทั้งปีประมาณ 50,000 คัน ซึ่งจะสร้างยอดขาย 600 ล้านบาท โดยในช่วง 6 เดือนแรกในส่วนของแอพเพิลมีรถเข้าลานประมูลเฉลี่ย 4,000-5,000 คันต่อเดือน ต่ำกว่าที่ตั้งไว้ ส่วนหนึ่งเพราะสถาบันการเงินยังมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าต่อ แต่คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี รถเข้าลานประมูลจะมากขึ้น

“สัญญาณรถยึดน่าจะเพิ่มขึ้น เพราะมาตรการพักหนี้ของ ธปท. ช่วยให้ลูกหนี้ที่ค้างจ่าย ถูกคงสถานะไว้ไม่ถือว่าผิดนัดชำระ สถาบันการเงินก็ยึดรถไม่ได้ แต่หลังจากสิ้นสุดมาตรการพักหนี้ หากลูกหนี้ผิดนัดชำระ 3 เดือน กลายเป็นเอ็นพีแอลแล้ว ตามข้อกำหนดต้องให้เวลาอีก 30 วัน หากยังไม่ชำระ แบงก์ก็สามารถเริ่มยึดรถได้” นายอนุชาติกล่าว

ยึดมอเตอร์ไซค์ทิศทางเดียวกัน

ขณะที่นายชุมพล กิตติชัยสมบัติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามอินเตอร์ การประมูล จำกัด (SIA) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มรถที่ไหลเข้าลานประมูลเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีรถยนต์เข้าสู่ลานประมูลราว 2,300 คันต่อเดือน เพิ่มขึ้นประมาณ 30-40% เมื่อเทียบจากต้นปี 2565 เช่นเดียวกับรถจักรยานยนต์ก็มีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 2,000-3,000 คันต่อเดือน และคาดว่าช่วงที่เหลือของปีนี้จะยังคงมีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ลุยเซ็นพันธมิตรรับอานิสงส์

นายชุมพลกล่าวว่า เมื่อมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของทางการที่หมดลง ทำให้ตัวเลขการยึดหรือคืนรถมากขึ้น จากเดิมที่มีมาตรการช่วยชะลอไว้ ประกอบกับบริษัทมีการทำการตลาดและแคมเปญโปรโมชั่น เพื่อให้ลูกค้าเข้ามาร่วมประมูลมากขึ้น และขยายความร่วมมือกับธนาคารเกือบทุกแห่ง และผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) ที่ทำธุรกิจเช่าซื้อ เช่น เงินติดล้อ เงินเทอร์โบ และอิออน เป็นต้น รวมถึงกลุ่มไฟแนนซ์ท้องถิ่น ทำให้มีรถไหลเข้าสู่ลานประมูลมากขึ้น

จากแนวโน้มดังกล่าว บริษัทตั้งเป้าว่าจะมีรถยนต์เข้าลานประมูลเพิ่มเป็น 3,000 คันต่อเดือน หรือทั้งปีราว 3.6 หมื่นคัน และเพื่อรองรับรถที่จะไหลเข้าสู่ลานประมูลมากขึ้น บริษัทมีแผนขยายโกดังเพิ่มเติมจากปัจจุบันมีอยู่ 33 แห่งทั่วประเทศ ภายในปีนี้จะเพิ่มเป็น 45 แห่ง และจะขยายให้ครอบคลุมทุกจังหวัด พร้อมกันนี้มีแผนนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในช่วงปลายปี 2566 หรือต้นปี 2567

“เรายังมองว่ารถที่เข้าสู่ลานประมูลยังคงเพิ่มต่อเนื่อง จากปัจจัยมาตรการช่วยเหลือหมด แบงก์ทยอยยึดรถ รวมถึงราคารถยนต์ใช้แล้วที่ยังดี ทำให้ความต้องการเพิ่ม เพราะรถใหม่หายาก และนำไปสู่การประมูลรถที่คึกคักมากขึ้น”

รถมือสองราคาขยับขึ้น

ขณะที่ นายวรัญญู ศิลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สหการประมูล จำกัด (มหาชน) หรือ AUCT ชี้แจงในรายงานผลประกอบการไตรมาส 2/2565 ว่า ช่วงไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์ใหม่ในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 9.5% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แสดงให้เห็นถึงความต้องการใช้รถยนต์ที่ยังอยู่ในระดับดี ถือเป็นสัญญาณบวกต่อธุรกิจรถยนต์ แม้ว่าความกังวลเรื่องราคาน้ำมัน การขาดแคลนชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และการปรับราคาขึ้นของวัตถุดิบต่าง ๆ ยังเป็นปัจจัยเชิงลบต่อธุรกิจรถยนต์

แต่อีกด้านถือเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้ความต้องการรถยนต์มือสองเพิ่มขึ้น และส่งผลต่อราคามือสองปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565 และหลังจากสิ้นสุดระยะเวลาการพักชำระหนี้จากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา พบว่ารถที่เข้าสู่ธุรกิจการประมูลเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยบริษัทมั่นใจว่าความเพียงพอของสถานที่เก็บรักษารถที่ยังคงรองรับได้อีกจำนวนมาก และมั่นใจในประสิทธิภาพการบริหารจัดการประมูลที่รวดเร็วของบริษัท จะสามารถรองรับความต้องการทั้งผู้ซื้อและผู้ขายได้อย่างต่อเนื่อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจประมูลรถมือสอง อันดับ 1 คือบริษัท สหการประมูล จำกัด (มหาชน) มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 34% รองลงมาเป็น บริษัท แอพเพิล ออโต้ ออคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ส่วนแบ่งตลาดราว 26% และอันดับ 3 และ 4 ได้แก่ บริษัท สยามอินเตอร์ การประมูล จำกัด และบริษัท มอตโต้ อ๊อคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด มีส่วนแบ่งตลาดใกล้เคียงกันประมาณ 20%