เพิ่มอำนาจ ธปท. คุมลีสซิ่ง ฝ่าฝืนโทษคุก 3 ปี สกัดหนี้ครัวเรือน

มอเตอร์ไซค์

แบงก์ชาติจับมือ สศค. ยกร่างพระราชกฤษฎีกาคุมธุรกิจ “เช่าซื้อ-ลีสซิ่ง”รถยนต์และรถจักรยานยนต์ ต้นตอสำคัญ “หนี้ครัวเรือน” มูลหนี้คงค้าง 1.8 ล้านล้านบาท เพิ่มอำนาจ ธปท.เข้ากำกับ “น็อนแบงก์-บริษัทลีสซิ่งค่ายรถ-ดีลเลอร์มอเตอร์ไซค์ที่ให้บริการเช่าซื้อ”

ปิดช่องโหว่ไร้หน่วยงานกำกับ เข้มเปิดเผยข้อมูลอัตราดอกเบี้ย-ค่าบริการ พร้อมรายงานฐานะการเงิน ฝ่าฝืนเจอโทษปรับและจำคุก “ฐิติกร” เจ้าตลาดเช่าซื้อมอ’ไซค์ หวั่นรายเล็กเจอกฎเหล็กไปไม่รอด

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นร่าง “พระราชกฤษฎีกากำหนดการประกอบธุรกิจทางการเงินบางประเภทอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 พ.ศ. …. เพื่อกำกับดูแลธุรกิจการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดย ธปท.จะเปิดรับฟังความคิดเห็นถึง 31 สิงหาคม 2565

คุมหนี้ครัวเรือน “รถ-มอเตอร์ไซค์”

เนื่องจากธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่งรถยนต์และจักรยานยนต์ให้บริการแก่ประชาชนเป็นวงกว้าง และมีอัตราการขยายตัวสูงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ปริมาณธุรกรรมมีนัยสำคัญทั้งในระดับเศรษฐกิจและระดับหนี้ครัวเรือนของประเทศไทย โดยสิ้นปี2564สัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับ 90% ต่อจีดีพี ยอดหนี้รวม 14.6 ล้านล้านบาท โดยเป็นยอดคงค้างของการให้เช่าซื้อและลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์1.8 ล้านล้านบาท หรือ 12.3% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด

และเป็นส่วนของผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินและไม่ใช่บริษัทลูกธนาคารพาณิชย์ (น็อนแบงก์) สัดส่วนถึง 31.6% ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ

ดอกเบี้ยสูง-ร้องเรียนเยอะ

ขณะที่ธุรกิจนี้มีการเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูง และปริมาณเรื่องร้องเรียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากข้อมูลสถิติผ่านศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ระหว่างปี 2562-2565 มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเช่าซื้อรวม 489 เรื่องในจำนวนนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ถึง 82%

ดึง พ.ร.บ.การเงินคุมเช่าซื้อรถ

ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย เห็นชอบในหลักการให้มีหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจการให้เช่าซื้อและการใช้เช่าแบบลีสซิ่งเป็นการเฉพาะ เพื่อยกระดับการประกอบธุรกิจให้มีมาตรฐาน ดังนั้น ธปท. และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จึงได้ร่วมกันยก (ร่าง) “พระราชกฤษฎีกากำหนดการประกอบธุรกิจทางการเงินบางประเภทอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 พ.ศ. ….”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่าง พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ระบุว่า ผู้ประกอบการภายใต้กฎหมายนี้ไม่ต้องขอใบอนุญาต (license) จาก ธปท. แต่ต้องดำเนินธุรกิจตามหลักเกณฑ์ที่ ธปท.กำหนด เช่น การให้ข้อมูลบริการเช่าซื้อให้กับลูกค้าอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลดอกเบี้ย ค่าบริการ และเบี้ยปรับต่าง ๆ เพื่อให้ลูกค้าได้รับทราบข้อมูลตามเกณฑ์ที่ ธปท.กำหนด

รวมทั้งมีหน้าที่ต้องรายงานข้อมูล การแจ้งและแสดงวิธีรายละเอียดในการคิดคำนวณค่าบริการรายปี รวมถึงการจัดทำบัญชีเพื่อแสดงผลการดำเนินงานและฐานะการเงินให้กับ ธปท.

ฝ่าฝืนเจอโทษทั้งจำ-ปรับ

กฎหมายได้มีการกำหนดบทลงโทษเพื่อป้องปรามมิให้มีการกระทำความผิด และทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ โดยกรณีผู้ประกอบธุรกิจ ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม (ร่าง) พ.ร.ฎ. หรือหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามกฎหมาย กรณี กรรมการ ผู้จัดการ ผู้ที่มีอำนาจในการจัดการที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.ฎ.ต้องระวางโทษตามพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 ตั้งแต่ปรับไม่เกิน 3 แสน ถึงไม่เกิน 1 ล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 3,000 บาท ถึงไม่เกินวันละ 10,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง

ในกรณีผู้ใดให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือขัดขวาง ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้ตรวจการ ที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

หรือในกรณีทำลาย ซ่อนเร้นทรัพย์สินหรือเอกสารใด ๆ ที่ผู้ตรวจการได้ยึด อายัดไว้อัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 6 หมื่นบาทถึง 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังอยู่ในช่วงการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการธุรกิจรวมทั้งจะต้องส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ซึ่งก็อาจจะมีการปรับแก้รายละเอียดอีกมาก

กระทบถึงบริษัทลีสซิ่งค่ายรถ

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การยกร่าง พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ เป็นการขยายขอบเขตของ ธปท. เพื่อให้สามารถกำกับดูแลธุรกิจให้บริการเช่าซื้อและลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ให้ครอบคลุมทั่วถึง เพราะเดิม ธปท.กำกับได้เฉพาะลีสซิ่งที่เป็นบริษัทลูกของแบงก์เท่านั้น

โดยกฎหมายฉบับนี้จะทำให้ ธปท. มีอำนาจการกำกับดูแลผู้ให้บริการเช่าซื้อ-ลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในกลุ่ม “น็อนแบงก์” ทั้งหมด ซึ่งรวมถึงกลุ่มแคปทีฟ ไฟแนนซ์ ของค่ายรถอย่าง โตโยต้า ลีสซิ่ง, ฮอนด้าลีสซิ่ง, เป็นต้น รวมถึงกลุ่มดีลเลอร์จักรยานยนต์ที่ให้บริการลีสซิ่งกับลูกค้าควบคู่ไปด้วย ซึ่งทั่วประเทศมีหลายพันราย

โดยที่ผ่านมาผู้ประกอบการเช่าซื้อและลีสซิ่ง จะอยู่ภายใต้กฎหมายประมวลแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น ซึ่งการกำกับดูแลจะเป็นเรื่องของสัญญา รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งจะดูแลในเรื่องความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค และจะมีการตรวจสอบก็ต่อเมื่อผู้บริโภคร้องเรียน แต่ พ.ร.ฎ.ฉบับนี้อยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 จะเป็นการคุ้มครองผู้ใช้บริการ และเป็นการกำกับดูแลไม่ให้มีความเสี่ยงเชิงระบบของผู้ประกอบการและทำให้แบงก์ชาติมีฐานข้อมูลหนี้ครัวเรือนครอบคลุมมากขึ้น

ธปท.ชี้เช่าซื้อน็อนแบงก์ไร้กำกับ

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวเสริมว่า ตอนนี้มีผู้ประกอบการเช่าซื้อ-ลีสซิ่งที่กำลังพูดคุยอยู่หลายร้อยราย โดยในรายละเอียดอาจจะต้องรอร่างนี้ออกมาในแง่ชั้นกฎหมาย เพื่อให้ ธปท.มีอำนาจ ส่วนจะกำหนดอะไรจะเป็นขั้นตอนต่อไป โดย ธปท.จะมีเวลาเตรียมตัวอีก 180 วันหลังกฎหมายประกาศลงราชกิจจานุเบกษา

“ธปท.จะดู 2 มุม คือ การให้บริการที่เป็นธรรม และเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งเรื่องนี้เราทำมาระยะหนึ่งแล้ว เป็นการผลักดันจากคณะกรรมการแก้ไขหนี้ภาคประชาชน และพบว่าเรื่องนี้ยังไม่มีเจ้าภาพกำกับดูแล ส่วนจะกำกับอะไรบ้างต้องรอฟังความคิดเห็น”

TK หวั่นคุมเข้มรายเล็กไม่รอด

ด้านนายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK ผู้ให้บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์รายใหญ่ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้ยังไม่ทราบแนวทางและหลักเกณฑ์การกำกับภายใต้ร่าง พ.ร.ฎ. แต่เบื้องต้น ธปท.คงมองว่าสินเชื่อเช่าซื้อมีมูลค่าสูงและขยายตัวเร็ว ซึ่งปัจจุบันตลาดรถจักรยานยนต์มีอยู่ประมาณ 1 แสนล้านบาท และมีผู้ประกอบการทั่วประเทศกว่า 1,000 ราย ซึ่งในต่างจังหวัดจะเป็นทั้งดีลเลอร์และปล่อยสินเชื่อด้วย

สิ่งที่กังวลคือ มีผู้ประกอบการจำนวนมาก หากคุมจะต้องคุมเท่าเทียมกัน และผู้ประกอบรายเล็กความพร้อมอาจน้อยกว่ารายกลางและรายใหญ่ หรือหาก ธปท.เข้ามากำหนดดอกเบี้ย ค่าติดตามทวงถาม จะต้องเป็นราคาที่เหมาะสมทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ เพราะหากกดต่ำจนเกินไป อาจทำให้ผู้ประกอบการอยู่ไม่รอด และลูกค้ากลุ่มเสี่ยงอาจหลุดออกไปใช้นอกระบบได้

“ตอนนี้ทุกคนรอความชัดเจน แต่อยากให้ ธปท.คำนึงถึงทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการต้องสมดุลกัน เพดานต่าง ๆ ต้องปรับเปลี่ยนตามต้นทุนที่แท้จริง เพราะในช่วง 5-10 ปีก่อนดอกเบี้ยต่ำ แต่ตอนนี้ดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น จะใช้ต้นทุนเดิมไม่ได้ และการคุมต้องคุมให้หมดในคราวเดียว ธปท.จะไหวหรือไม่”

มอเตอร์ไซค์หนี้เสียปีแรกสูง 30%

นายกานต์ดนัย ชลสุวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการด้านบัญชีและการเงิน บริษัทไมโครลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ร่าง พ.ร.ฎ.ดังกล่าว ธปท.ต้องการให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียม ในช่วงแรกอาจจะเป็นการคุมเรื่องการให้บริการอย่างเป็นธรรมก่อน และน่าจะทยอยไปสู่การกำกับอย่างอื่นเพิ่มเติม

ในส่วนของดอกเบี้ยหากมีการกำหนดเพดาน อาจจะกระทบผู้ประกอบการรายเล็ก เพราะหากดูเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ทั้งระบบประมาณ 20-30% จะเป็นดีลเลอร์ทำเอง หากมีการคุมดอกเบี้ย กลุ่มนี้จะโดนกระทบกลุ่มแรก และหากดูอัตราหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ของรถจักรยานยนต์จะมีอัตราหนี้เสียตั้งแต่ปีแรกสูงถึง 30% ทำให้บางรายคิดอัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอกสูงราว 36%

“มองในมุมดี ธปท.ต้องการให้แข่งขันเท่าเทียม แต่เรื่องดอกเบี้ยจะเป็นการบีบผู้ประกอบการ เพราะปกติแข่งขันตามกลไกตลาด ในอดีตดอกเบี้ยเคยคิดสูงถึง 36-40% แต่ก็ลดลงมาเรื่อย ๆ ตามการแข่งขัน และที่ผ่านมา สคบ.ก็คุมหมดเกือบทุกอย่าง มองว่าช่วงแรก ธปท.คงออกเกณฑ์เกี่ยวกับบริการที่เป็นธรรมก่อน และค่อยออกเรื่องดอกเบี้ย เพราะถ้าคุมแรง บีบน็อนแบงก์ ผู้บริโภคจะไหลออกนอกระบบมากขึ้น”

ค่ายรถเชื่อไม่กระทบ

แหล่งข่าวจากค่ายรถยนต์รายใหญ่กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เรื่องนี้ไม่น่ากังวล เพราะน่าจะเป็นเรื่องดีที่พยายามดูแลผู้บริโภค เพราะที่ผ่านมาก็มีหลายเคสที่ปรากฏให้เห็น เช่น ดอกเบี้ยค่าปรับ ค่าทวงถาม ที่ไม่เป็นธรรม ส่วนใหญ่จะเกิดกับน็อนแบงก์รายเล็กถ้าเป็นบริษัทใหญ่ปฏิบัติตามอยู่แล้ว

เช่นเดียวกับ นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปกติแคปทีฟไฟแนนซ์รายงานสถานะการเงินเป็นปกติอยู่แล้ว ซึ่งผลกำไรก็ไม่ค่อยดี หากมีการกำกับทั้งหมด ค่ายใหญ่พอร์ตใหญ่อาจจะได้รับผลกระทบเยอะ ซึ่งขึ้นอยู่กับการบาลานซ์ของลีสซิ่งแต่ละรายเป็นสำคัญ

ขณะที่แหล่งข่าวดีลเลอร์จักรยานยนต์กล่าวว่า เรื่องเข้ามากำกับและให้รายงานสถานะคงไม่ใช่ปัญหา แต่ที่กังวลคือการออกมาตรการบังคับบางอย่าง เช่น กำหนดเงินดาวน์ เพดานอัตราดอกเบี้ย พวกนี้กระทบการทำตลาดแน่ ๆ

สมาคมขานรับยกมาตรฐาน

นายธีรชาติ จิรจรัสพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด และในฐานะหัวหน้าคณะทำงาน Market Conduct กลุ่มสินเชื่อรถยนต์ สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย กล่าวว่า ร่าง พ.ร.ฎ.ฉบับนี้มีเจตนารมณ์ที่มุ่งเน้นในการสร้างมาตรฐานและยกระดับแนวปฏิบัติงานและการให้บริการของกลุ่ม nonbank ให้อยู่มาตรฐานเดียวกับสถาบันการเงิน ซึ่งจะมีผลดีต่อลูกค้า เพราะ ธปท.จะดูแลให้ผู้บริโภคได้รับการบริการอย่างเป็นธรรม ทั้งการเปิดเผยข้อมูลครบถ้วนโปร่งใส

เรื่องนี้สมาคมธุรกิจเช่าซื้อฯได้ดำเนินแนวทางแก่สมาชิกให้ความร่วมมือแล้วตั้งแต่ปี 2560 แต่การกำกับในครั้งนี้จะยกระดับครอบคลุมกว้างขึ้น เช่น การดูแลอัตราดอกเบี้ย ดอกเบี้ยผิดนัด ค่าธรรมเนียมค่าบริการต่าง ๆ ให้มีมาตรฐานเดียวกัน นอกเหนือจากส่วนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สคบ.

กลุ่มสินเชื่อห้องแถวลำบาก

แหล่งข่าวผู้ประกอบธุรกิจเช่าซื้อเปิดเผยว่า ร่าง พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ เบื้องต้นเน้นเรื่องการเปิดเผยข้อมูล ดอกเบี้ย ค่าปรับในกลุ่มน็อนแบงก์ แต่ในอนาคตหากมีเกณฑ์เพิ่มเติม เช่น เรื่องเพดานดอกเบี้ย ก็อาจกระทบในส่วนแบงก์ได้ เพราะปัจจุบันธุรกิจเช่าซื้อยังไม่ได้มีการคุมดอกเบี้ย ซึ่งแตกต่างจากธุรกิจจำนำทะเบียนรถที่กำหนดไว้24% ต่อปี

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ประกอบการที่จะเข้าไปอยู่ในกำกับของร่าง พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ มี 3 กลุ่ม คือ 1.บริษัทลีสซิ่งของผู้ผลิตรถยนต์ (captive finance) ซึ่งกลุ่มนี้ไม่น่าจะมีปัญหา โดยเฉพาะรายใหญ่เป็นสมาชิกสมาคมธุรกิจเช่าซื้อฯ มีการดำเนินตามมาตรฐานอยู่แล้ว เช่น ค่าปรับ การตั้งสำรอง แม้จะไม่ได้โดนคุม 2.กลุ่มน็อนแบงก์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ กลุ่มนี้ก็มีมาตรฐานที่ดีในเรื่องการรายงานข้อมูลอยู่แล้ว แต่อาจจะมีผลกระทบในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากแหล่งเงินทุนจะแตกต่างจากธนาคารที่มีแหล่งเงินทุนถูกกว่า

และ 3.ดีลเลอร์มอเตอร์ไซค์ที่จัดไฟแนนซ์เอง กลุ่มนี้จะทำธุรกิจหรือทำบัญชีไม่ได้เป็นมาตรฐาน ซึ่งกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับนี้เป็นพิเศษ

“เชื่อว่า ธปท.ต้องฟังความคิดเห็นอีกพอสมควร และเกณฑ์การกำกับน่าจะออกมาเป็นเฟส ๆ เพื่อให้มีช่วงระยะการปรับตัว เพราะผู้ประกอบการรายย่อยดีลเลอร์เป็นเหมือนสินเชื่อห้องแถว กลุ่มนี้บริหารตามสไตล์ตัวเอง หากมาอยู่ในเกณฑ์จะมีต้นทุน ต้องทำระบบใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องยากพอสมควร”