“ลีสซิ่ง” นำร่องขึ้นดอกเบี้ย 1 ก.ค. รับมือต้นทุนผ่อนรถขยับ

ลีสซิ่ง

ธุรกิจเช่าซื้อเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยรถใหม่รับมือต้นทุนเพิ่ม หลัง กนง.ส่งสัญญาณเทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้น ประธานสมาคมเผยถกสมาชิกรับมือ “KKP” ชี้ผู้ประกอบการเตรียมขึ้นดอกเบี้ยรถใหม่เดือน ก.ค.นี้ ระบุมาร์จิ้นบาง-ต้นทุนการเงินขยับไปล่วงหน้า “ลีสซิ่งกสิกรไทย” คาดตลาดขยับดอกเบี้ยรอบแรก 0.10-0.20% ต่อปี จับตาช่วงปลายไตรมาส 3 ขยับขึ้นอีกรอบ พร้อมปรับเกณฑ์เข้มปล่อยกู้ รับมือความเสี่ยงเงินเฟ้อ-ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น กระทบความสามารถชำระหนี้ ค่ายรถยอมรับส่งผลในเชิงจิตวิทยา เผยภาระผ่อนเพิ่มประมาณ 100 บาทต่องวด

ลีสซิ่งถกขึ้นดอกเบี้ย

นายวิสิทธิ์ พึ่งพรสวรรค์ ประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้ จำกัด เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP) ซึ่งจะมีผลกระทบเชิงนโยบายต่อธุรกิจเช่าซื้อ ตอนนี้ทางสมาคมเช่าซื้อไทยก็ได้มีการพูดคุยกันเบื้องต้นถึงการรับมือดอกเบี้ยขาขึ้นดังกล่าว

ทั้งนี้ ธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อจะคิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ (flat rate) กับลูกค้าตลอดอายุสัญญา ซึ่งหาก ธปท.ปรับขึ้นดอกเบี้ยจะกระทบสินเชื่อทั้งพอร์ต เพราะผู้ประกอบการลีสซิ่งไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยลูกค้าได้ โดยเบื้องต้นได้พูดคุยในสมาคม ถึงต้นทุนที่เกิดขึ้น และหากจะขยับดอกเบี้ยจะขยับไปอยู่ในระดับใด โดยส่วนตัวอยากให้กำหนดดอกเบี้ยที่เป็นมาตรฐานออกมา ส่วนจะมีแคมเปญที่ออกมาแข่งขันก็จะขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการแต่ละรายที่จะทำ เพื่อดึงฐานลูกค้า

“เช่าซื้อไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยมาหลายปี ซึ่งมีการคุยกันในสมาคมเบื้องต้นถึงต้นทุน และถ้าจะขยับดอกเบี้ยจะขยับกันเท่าไร อย่างไรก็ดี หาก ธปท.ขยับดอกเบี้ย 0.25% เราควรจะต้องขึ้นเท่าไร ซึ่งเรากำลังดูว่าเราจะกำหนดเป็นดอกเบี้ยมาตรฐานไปเลยหรือไม่”

ก.ค.ขึ้น ดอกเบี้ยดักหน้าแบงก์ชาติ

นายเตชินท์ ดุลยฤทธิรงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมธุรกิจเช่าซื้อในช่วงครึ่งหลังของปีนี้มีปัจจัยท้าทายค่อนข้างมาก ทั้งแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนธุรกิจเช่าซื้อ และเนื่องจากสินเชื่อเช่าซื้อคิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ (flat rate) ตลอดระยะเวลาผ่อน 5-7 ปี หากธนาคารแห่งประเทศไทยมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยทุกไตรมาสหลังจากนี้ ทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการจะปรับเพิ่มขึ้น โดยที่บริษัทไม่สามารถปรับขึ้นดอกเบี้ยลูกค้าได้

ดังนั้น ภายในต้นเดือน ก.ค.นี้ผู้ประกอบการธุรกิจเช่าซื้อน่าจะปรับดอกเบี้ยขึ้น เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เพราะต้นทุนการเงินที่รับมา ปรับขึ้นแล้วตามธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยจะขึ้นในส่วนของรถยนต์ใหม่ก่อน เพราะหักต้นทุนการเงินจะเหลือส่วนต่างกำไร (margin) ค่อนข้างน้อย

โดยปัจจุบันดอกเบี้ยรถใหม่เฉลี่ยอยู่ที่ 1.99% ต่อปี หรือคิดเป็นลดต้นลดดอก (effective rate) ประมาณกว่า 4% เมื่อเทียบต้นทุนการเงินทะลุ 3% โดยการปรับดอกเบี้ยน่าจะสอดคล้องกับ ธปท.อยู่ที่ 0.25% และคาดว่าปลายปีนี้น่าจะขยับเพิ่มอีกรอบ ส่วนรถใช้แล้วหรือรถมือสอง อาจจะต้องดูทิศทางตลาดและคู่แข่ง เพราะต้นทุนรถใช้แล้วยังสามารถบริหารจัดการได้

เข้มเกณฑ์ปล่อยกู้สกัดหนี้เสีย

นายเตชินท์กล่าวว่า ขณะที่ปัจจัยเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น โดยตัวเลขเดือน พ.ค. 65 อยู่ที่ 7.1% ส่งผลให้ธนาคารอาจจะต้องทบทวนนโยบายการปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าในกลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มรายได้น้อย ซึ่งเดิมครัวเรือนอาจใช้เงินจับจ่ายในชีวิตประจำวันประมาณ 50% ของรายได้ แต่เงินเฟ้อขึ้นไป 6-7% ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายครัวเรือนเพิ่มขึ้นเป็น 56% ทำให้เงินเหลือน้อยลง จึงเป็นกลุ่มที่ธนาคารต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพราะไม่อยากให้ก่อหนี้เกินตัวมากเกินไป

ทั้งนี้ ธนาคารอาจกลับมาทบทวนว่าเซ็กเมนต์ลูกค้ากลุ่มไหนที่พอจะสามารถรับผลกระทบจากเงินเฟ้อ ซึ่งในเบื้องต้นอาจจะมีการพิจารณาขยับฐานรายได้ผู้กู้ เช่น จากเดิมอยู่ที่ 2 หมื่นบาทต่อเดือน อาจจะเพิ่มเป็น 2.5 หมื่นบาทต่อเดือน นอกจากดูความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า เพื่อป้องกันปัญหาหนี้เสียที่จะตามมา

อย่างไรก็ดี ลูกค้าบางกลุ่มอาจไม่ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเลย ซึ่งโดยภาพรวมพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อและลูกค้าเก่าของธนาคารยังคงมีความสามารถในการชำระหนี้ และยังไม่มีสัญญาณผิดนัดชำระหนี้แต่อย่างใด

“วันนี้ตลาดเช่าซื้อคล้ายกับช่วงที่เจอโควิด-19 รอบแรก จากซัพพลายเชนขาดแคลน สินค้าน้อยกว่าดีมานด์ และจากเงินเฟ้อและดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ทำให้ลูกค้าที่ซื้อรถในช่วงนี้จะเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อ แต่เราก็ยังดูสถานการณ์ใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อ ซึ่งในไตรมาสแรกเราเติบโต 5% พอร์ตสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 1.64 แสนล้านบาท”

จับตาปลาย Q3 ขึ้นรอบสอง

สอดคล้องกับนายธีรชาติ จิรจรัสพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากภาวะเงินเฟ้อและทิศทางดอกเบี้ยนโยบายที่กลับสู่ขาขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 จะกระทบสินเชื่อเช่าซื้อ ทั้งการปล่อยสินเชื่อใหม่เพราะต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น และคุณภาพสินเชื่อที่อยู่ในพอร์ต เพราะปัญหาเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น ส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งอาจจะเห็นการปรับนโยบายรายได้ขั้นต่ำ หรือสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) ของผู้กู้

ในส่วนของอัตราดอกเบี้ย แม้ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังไม่ได้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่ต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบธุรกิจเช่าซื้อได้ปรับตัวสูงขึ้นแล้ว จึงเริ่มเห็นการปรับอัตราดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย.หรือ ก.ค.เป็นต้นไป โดยเบื้องต้นน่าจะปรับดอกเบี้ยรถใหม่เฉลี่ย 0.10-0.20% ต่อปี และอาจมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายไตรมาส 3

กระทบเฉพาะลูกค้าใหม่

อย่างไรก็ตาม การปรับอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้จะไม่ส่งผลต่อค่างวดรายเดือนของลูกค้าเก่าที่ผ่อนอยู่เดิม เพราะดอกเบี้ยเช่าซื้อเป็นการคิดอัตราคงที่ตลอดอายุสัญญา ส่วนลูกค้าใหม่ก็จะมีภาระการผ่อนที่เพิ่มขึ้นไม่มาก เช่น กรณีกู้ 5 แสนบาทผ่อน 5 ปี หากดอกเบี้ยขึ้น 0.10% ภาระดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นราว 2,500 บาท หรือประมาณ 42 บาทต่องวด
เท่านั้น แต่ถ้าปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.20% ผ่อนดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 5,000 บาท จะมีภาระผ่อนเพิ่มประมาณ 84 บาทต่อเดือน

นายธีรชาติกล่าวว่า กรณีกู้ 7 แสนบาท ผ่อน 5 ปี ถ้าดอกเบี้ยปรับขึ้น 0.10% ภาระดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้น 3,500 บาท หรือผ่อนเพิ่ม 59 บาทต่องวด ถ้าดอกเบี้ยปรับขึ้น 0.20% ภาระก็เพิ่มขึ้น 7,000 บาท หรือผ่อนเพิ่มขึ้น 118 บาทต่องวด

“แต่ภาวะเงินเฟ้อจะกระทบความสามารถในการชำระหนี้โดยตรง เพราะค่าใช้จ่ายประจำเดือนเช่น ค่าน้ำมันที่สูงขึ้น ทำให้เงินได้คงเหลือลดลง ผู้ประกอบธุรกิจเช่าซื้อจึงอาจมีการพิจารณาปรับเกณฑ์ DSR ให้สะท้อนสถานการณ์ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกจากสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนด้านยอดขายรถยนต์และการปล่อยสินเชื่อใหม่ รวมถึงคุณภาพสินเชื่อในพอร์ตปัจจุบัน”

ค่ายรถตั้งรับเอฟเฟ็กต์ขึ้น ดอกเบี้ย

ขณะนี้แหล่งข่าวจากค่ายรถยนต์รายหนึ่งยอมรับว่า ได้รับแจ้งจากบริษัทลีสซิ่งว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเช่าซื้อรถใหม่อัตรา 0.25% ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้เป็นต้นไป

ด้านนายวัลลภ ตรีฤกษ์งาม รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงกรณีที่สถาบันการเงินจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยว่า จะมีผลกระทบทางจิตวิทยา ประกอบกับราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่ม ก็ทำให้มีผลต่อการตัดสินใจของกลุ่มผู้ซื้อรถยนต์บ้าง

แต่เชื่อว่าลูกค้าที่ตัดสินใจซื้อรถในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่มีความจำเป็นใช้รถจริง ๆ ซึ่งย่อมกระทบต่อลูกค้าอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่บริษัทก็จะพยายามหาและเสนอโปรโมชั่นที่ตอบโจทย์ มานำเสนอให้กับลูกค้า ทั้งนี้แต่ละสถาบันการเงินมีการปรับเพิ่มดอกเบี้ยที่ไม่เท่ากัน สูงบ้าง เล็กน้อยบ้าง ซูซูกิพยายามแนะนำให้ส่งที่ดอกเบี้ยต่ำ ๆ รวมถึงการสนับสนุนการทำดอกเบี้ย 0%

จ่ายเพิ่มงวดละ 100 บาท

เช่นเดียวกับนายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า กรณีที่ลีสซิ่งประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดรถยนต์ใหม่มากนัก เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่เลือกผ่อนชำระรถยนต์อยู่ในระยะเวลา 4 ปี จะกระทบไม่มาก ส่วนรถที่ผ่อน 6 ปี ซึ่งหากคำนวณราคารถยนต์ 800,000 บาท ก็จะทำให้ลูกค้าผ่อนชำระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นประมาณ 100 บาท ส่วนกลุ่มรถยนต์ที่ราคามากกว่า 1 ล้านบาทเชื่อว่าไม่น่ามีผลกระทบ

“ตรงนี้ต้นทุนทางการเงิน และเงินกู้ไม่ได้เกี่ยวกับค่ายรถยนต์ แต่ก็น่าจะมีผลทางจิตวิทยาต่อลูกค้าเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าอัตราที่เพิ่มขึ้นไม่ได้เกี่ยวกับเศรษฐกิจไม่ดีนะ ตอนนี้เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น และแบงก์ชาติก็น่าจะมองว่าเหมาะสมแล้ว”