ค้างชำระ เช่าซื้อรถ พุ่ง แบงก์อัดมาตรการอุ้มลูกค้าสกัดหนี้เสีย

เช่าซื้อรถ

แบงก์หวั่นหนี้เสียสินเชื่อรถพุ่ง หลังตัวเลขหนี้ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือนเพิ่มต่อเนื่อง เร่งจัดมาตรการช่วยเหลือต่อเนื่อง “ทิสโก้” เผยลูกค้าแห่คืนรถ 600-800 คันต่อเดือน ลุยจัดมาตรการ “คืนรถจบหนี้ เฟส 3” ขณะที่ “ทีทีบี” จัดโปรแกรมปรับโครงสร้างหนี้อุ้มลูกค้าผ่อนไม่ไหว

ยันสถานการณ์ “รถยึด-คืนรถ” ยังปกติตก 2-3 พันคันต่อเดือน ฟาก “กรุงศรี ออโต้” ชี้มีมาตรการช่วยเหลือรายกรณี ทั้ง “ลดค่างวด-ขยายระยะเวลาผ่อน” ด้าน สศช.เฝ้าระวัง SM สินเชื่อยานยนต์หวั่น NPL พุ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากธนาคารกสิกรไทย รวบรวมจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า ในไตรมาส 2 ปีนี้ สินเชื่อเช่าซื้อมีหนี้ที่ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน (SM) เพิ่มขึ้นเป็น 154,345 ล้านบาท คิดเป็น 13.11% จากไตรมาสแรกอยู่ที่ 141,985 ล้านบาท หรือ 12.05% ส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ยังทรงตัว

ก่อนหน้านี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า ต้องเฝ้าระวังสินเชื่อเพื่อยานยนต์ เนื่องจากมีสัดส่วนหนี้ที่ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือนเพิ่มขึ้น ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดหนี้เสียในอนาคต โดยเฉพาะในครัวเรือนกลุ่มที่มีภาระหนี้สูง โดยไตรมาสแรกปี 2565 สัดส่วนหนี้เสียสินเชื่อยานยนต์อยู่ที่ระดับ 1.47%

นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มการยึดรถ และคืนรถ จากสถานการณ์ค่าครองชีพสูง พบว่าอัตราการยึด-คืนรถของธนาคาร มีทั้งช่วงที่ปรับขึ้นและลดลง โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 600-700 คันต่อเดือน

ตาราง สินเชื่อเช่าซื้อ 65

แต่จะมีบางช่วงที่โครงการคืนรถจบหนี้ขึ้นไปสูงสุด (พีก) ราว 800 คันต่อเดือน ในทุกประเภท ทั้งรถใหม่-รถเก่า และจำนำทะเบียน ล่าสุดธนาคารได้มีโครงการ “คืนรถจบหนี้” ครั้งที่ 3 เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ผ่อนชำระไม่ไหว สามารถนำรถมาคืนได้ถึงวันที่ 30 ก.ย.นี้

“หลังจากทำโครงการไปแล้ว 2 ครั้ง มีลูกค้าคืนรถราว 6,000 ราย เป็นเงินกว่า 600 ล้านบาท คาดว่าเฟส 3 จะมีลูกค้าที่ให้ความสนใจลดลงแล้ว เพราะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว อาจใช้วิธียืดเวลาผ่อนชำระ หรือปรับลดค่างวด เป็นต้น”

ทั้งนี้ มองไประยะข้างหน้า คาดว่าสัญญาณการคืนรถ-ยึดรถอาจจะปรับเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันได้ เนื่องจากธนาคารจะขยายสินเชื่อจำนำทะเบียนมากขึ้น ซึ่งเป็นสินเชื่อให้ผลตอบแทนสูง แต่ก็มีความเสี่ยงสูงขึ้น เพราะเป็นกลุ่มลูกค้าที่ขาดสภาพคล่องและต้องการใช้วงเงิน อย่างไรก็ดี ต้องระมัดระวังว่า หากปล่อยวงเงินต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) สูงเกินไป อาจทำให้ลูกค้าต้องคืนรถได้

“เราคิดว่าคืนรถจบหนี้เฟส 3 จะแก้ไขปัญหาหนี้แบบเบ็ดเสร็จ แต่การปล่อยสินเชื่อใหม่ก็ต้องพิจารณารายได้-รายจ่ายลูกค้า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาคืนรถยึดรถตามมา โดยสัดส่วนรายได้ต่อภาระหนี้ หรือ DSR ระดับศักยภาพไม่ควรเกิน 50%” นายศักดิ์ชัยกล่าว

นายชัชฤทธิ์ ตั้งเถกิงเกียรติ์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ผลิตภัณฑ์ธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ ธนาคารทหารไทยธนชาต (ทีทีบี) กล่าวว่า ตัวเลขยึดรถคืนรถของแบงก์ ตอนนี้ไม่ได้น่ากังวลและยังอยู่ในกรอบที่สามารถบริหารจัดการได้ โดยเฉลี่ยมีรถยึดหรือคืนรถ 2,000-3,000 คันต่อเดือน (รวมทุกผลิตภัณฑ์) ถือว่าตัวเลขไม่ได้สูงมาก เมื่อเทียบกับพอร์ตของธนาคารที่มีปล่อยสินเชื่อรถไปมากกว่า 1 ล้านคัน

“เราเห็นตัวเลขขยับขึ้นลงมาสักพัก แต่ไม่ได้น่าตกใจ และเราเองมีโปรแกรมช่วยเหลือลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้หากลูกค้าผ่อนไม่ไหว หรือลูกค้ามีความประสงค์จะคืนรถก็สามารถทำได้ โดยธนาคารมีทีมคอยแนะนำช่วยเหลือลูกค้า เพื่อทำให้มูลหนี้ของลูกค้าเหลือน้อยที่สุด” นายชัชฤทธิ์กล่าว

นายคงสิน คงคา ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (กรุงศรี ออโต้) กล่าวว่า อัตราการยึดรถนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมายังไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์ความไม่แน่นอน กรุงศรี ออโต้ มีมาตรการช่วยเหลือเหมาะสมและตรงจุดให้กับลูกค้ารายบุคคล และครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์ เช่น ลดอัตราค่างวดการผ่อนชำระ การขยายระยะเวลาการชำระ เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้รถในชีวิตประจำวันได้ต่อไป