ราคาน้ำมันดิบ (3 ต.ค.65) ปรับลดลง ตลาดคาดโอเปกพลัส ลดการผลิต

แท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนต์ปรับลด จากแนวโน้มอุปสงค์ลดลง ท่ามกลางคาดการณ์การปรับลดกำลังการผลิตของโอเปกพลัส ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 89.38 ดอลลาร์/บาร์เรล

วันที่ 3 ตุลาคม 2565 หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ.ไทยออยล์ ระบุว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนต์ปรับลด หลังตลาดผันผวนอย่างมากในสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงกังวลกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย อีกทั้งความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความมั่นคงทางการเงินในสหราชอาณาจักร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน

Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 30 ก.ย. ปรับเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน โดยปรับเพิ่มขึ้น 2 แท่น มาอยู่ที่ระดับ 604 แท่น ในขณะที่แท่นขุดเจาะก๊าซธรรมชาติปรับลดลง 1 แท่น มาอยู่ที่ระดับ 159 แท่น

แม้ว่าค่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลง จากระดับสูงสุดในรอบ 20 ปีเมื่อต้นสัปดาห์ แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ความน่าสนใจในการลงทุนในตลาดน้ำมันลดลง สำหรับนักลงทุนที่ถือเงินสกุลอื่น เนื่องจากสัญญาน้ำมันดิบจะมีราคาแพงขึ้น

ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุน จากคาดการณ์ว่ากลุ่มโอเปกและพันธมิตร (OPEC+) จะพิจารณาลดโควตาการผลิตลงระหว่าง 500,000 ถึง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในการประชุมวันที่ 5 ต.ค.นี้ อีกทั้งนักวิเคราะห์คาดว่าอุปทานจะตึงตัวมากขึ้น หากชาติตะวันตกเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย หลังจากที่รัสเซียเตรียมที่จะผนวก 4 ดินแดนของยูเครนไปเป็นของรัสเซีย

ราคาน้ำมันเวสต์เท็กซัส อยู่ที่ 79.49 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลง 1.74 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเบรนต์ อยู่ที่ 87.96 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลง 0.53 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบดูไบ อยู่ที่ 89.38 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 2.24 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบ 3 ตค 65

ราคาน้ำมันเบนซิน

ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จากอุปสงค์ของอินโดนีเซียและมาเลเซียที่ปรับลดลง โดยการนำน้ำมันเบนซินจากสิงคโปร์ของอินโดนีเซียและมาเลเซียลดลง 71.14% และ 29.67% ตามลำดับ ในขณะที่อุปทานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการส่งออกของจีน

ราคาน้ำมันดีเซล

ปรับตัวลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ จากความไม่แน่นอนของโควตาการส่งออกของจีน อย่างไรก็ตาม อุปทานในภูมิภาคยังคงตึงตัว เนื่องจากอุปสงค์ที่ปรับตัวขึ้นจากทางยุโรป ทำให้อินเดียและตะวันออกกลางส่งออกน้ำมันดีเซลไปยังยุโรปมากขึ้น