ประท้วงปิดถนนผักไห่-บางบาล อยุธยา กดดันกรมชลฯเปิดประตูระบายน้ำ

กรมชลประทาน-ระบายน้ำ

กรมชลประทาน รุดเจรจาชาวบ้านประท้วงปิดถนนผักไห่-บางบาล จ.อยุธยา กดดันเปิดประตูระบายน้ำริมคลองโผงเผง เข้าทุ่งป่าโมก ขณะที่น้ำเหนือทะลักผันเข้าทุ่งบางระกำเต็มความจุแล้ว ผสมน้ำหลากจากแม่น้ำปิงไหลรวมน้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจาก จ.ชัยนาทถึงสมุทรปราการ จำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำอยู่ในเกณฑ์ 2,700-2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

วันที่ 5 ตุลาคม 2565 กรมชลประทาน โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผักไห่ ได้ลงพื้นที่เข้าเจรจากับตัวแทนชาวบ้านเขตตำบลบางหลวงโดด และตำบลบางหลวง อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประท้วง อ.บางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประท้วงปิดถนนเส้น ผักไห่-บางบาล บริเวณคันกั้นน้ำชลประทานริมคลองโผงเผง เพื่อกดดันให้กรมชลประทานเปิดประตูระบายน้ำริมคลองโผงเผง เข้าทุ่งป่าโมกเพิ่มเติม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร นอกคันกั้นน้ำริมคลองโผงเผง

ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาและลดความขัดแย้งเบื้องต้นกับราษฎรภายในคันกั้นน้ำและนอกคันกั้นน้ำ โดยภายหลังการเจรจาได้มีข้อสรุปให้กรมชลประทานเปิดประตูระบายน้ำคลองตานึ่ง เพิ่มเติม 0.50 เมตร เข้าทุ่งป่าโมก แต่ไม่ให้กระทบกับทางสัญจรสายหลักภายในทุ่ง รวมทั้งบ้านเรือนที่มีอยู่ประมาณ 30 หมู่บ้าน 640 หลังคาเรือน ซึ่งราษฎรทั้งสองฝ่ายต่างเข้าใจและยินดีปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว

ทั้งนี้ปัจจุบันโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผักไห่ได้ดำเนินการเปิดประตูระบายน้ำคลองตานึ่งขึ้น 0.50 เมตร และบริหารจัดการน้ำตามกระบวนการอย่างระมัดระวังและตามความเหมาะสมของสถานการณ์ โดยการเพิ่มการระบายน้ำเป็นลำดับ แบบขั้นบันได โดยบูรณาการในทุกภาคส่วนและประชาชนในพื้นที่ในการมีส่วนร่วม และเน้นย้ำด้านการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับความสอดคล้องในการระบายน้ำ และระดับน้ำที่จะเพิ่มขึ้น เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถเตรียมรับมือได้อย่างทันเวลา

อย่างไรก็ดี กองอำนวยการน้ำแห่งชาติยังคงเฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงวันที่ 3-9 ตุลาคม 2565 คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ประมาณ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร กรมชลประทานจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำเพื่อควบคุมปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมเพื่อรักษาเสถียรความมั่นคงของตัวเขื่อน

โดยจะทยอยปรับเพิ่มจากอัตรา 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นอัตรา 800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะทำให้พื้นที่ริมแม่น้ำป่าสักด้านท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ถึงเขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 0.40-1.00 เมตร

และบริเวณท้ายเขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 0.40-0.60 เมตร และจุดบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยา อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 0.25-0.50 เมตร ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่าน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา อยู่ในเกณฑ์ 3,300-3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และส่งผลให้เกิดน้ำอัดเท้อไหลย้อนเข้ามาในแม่น้ำน้อยทำให้ระดับแม่น้ำน้อยเพิ่มสูงขึ้น

ประกอบกับลุ่มน้ำยมเกิดน้ำป่าไหลหลาก ซึ่งได้หน่วงน้ำโดยการผันน้ำเข้าไปเก็บในทุ่งบางระกำเต็มความจุแล้ว และมีน้ำหลากจากแม่น้ำปิงไหลมารวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการลดผลกระทบ
น้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจาก จ.ชัยนาทถึงสมุทรปราการ จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ 2,700-2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาบริเวณ อ.เมืองชัยนาท และมโนรมย์ จ.ชัยนาท และ อ.เมืองอุทัยธานี จ.อุทัยธานี เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.30 เมตร