“นมยูเอชที” ขึ้นราคา 25 สตางค์ โรงงานอ่วมต้นทุนน้ำนมดิบพุ่ง

นมยูเอชที

นมกล่องยูเอชที-พาสเจอไรซ์ปรับขึ้นราคา 25 สต./กล่อง 180 ซีซี หลัง “พาณิชย์” ไฟเขียวผู้ผลิตขึ้นราคาผลิตภัณฑ์นมพาณิชย์ ตามมติ ครม.ให้ขึ้นราคาน้ำนมดิบ 1.50 บาท/กก. ชี้คำนวณตามสัดส่วนเฉพาะ “น้ำนม” กระทบต้นทุนการผลิตนมยูเอชที-พาสเจอไรซ์ 30 สต./กก. ไม่รวมค่าบริหารจัดการ-แพ็กเกจจิ้ง

ร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากคณะรัฐมนตรีวันที่ 23 สิงหาคม 2565 มีมติให้ปรับขึ้น ณ หน้าโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม กก.ละ 1.50 บาท จาก 19 บาท เป็น 20.50 บาท

โดยให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นไปตามข้อเสนอมติของคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด) ที่ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการปรับขึ้นราคาน้ำนมดิบ พร้อมกันนั้นคณะรัฐมนตรียังได้มอบให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาราคาผลิตภัณฑ์นมพาณิชย์ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับต้นทุนของน้ำนมดิบด้วย

ล่าสุดทางผู้ประกอบการผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นมแปรรูป ได้ยื่นขออนุญาตปรับขึ้นราคาจำหน่ายนมพาณิชย์ ซึ่งทางกระทรวงได้พิจารณามีมติให้ปรับราคาตามสัดส่วนของการใช้น้ำนมดิบในแต่ละผลิตภัณฑ์ของแต่ละแบรนด์ เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี

โดยการปรับราคานี้ปรับขึ้นราคาครั้งนี้คำนวณเฉพาะในส่วนของต้นทุนเนื้อน้ำนมดิบเท่านั้น ไม่ได้พิจารณารวมต้นทุนค่าบริหารจัดการหรือแพ็กเกจจิ้งต่าง ๆ ที่ปรับสูงขึ้น

“ผู้ผลิตทุกรายที่เป็นผู้ผลิตนมพาณิชย์ยื่นคำร้องขอปรับราคาเข้ามา ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ก็พิจารณาตามหลักเกณฑ์ โดยยึดเรื่องเฉพาะต้นทุนเนื้อน้ำนมดิบที่ปรับขึ้น 1.50 บาท

ส่งผลต่อต้นทุนผลิตนมพาณิชย์กก.ละ 30 สตางค์ และให้ปรับในอัตราแตกต่างกัน เช่น นมกล่องยูเอชที ขนาด 180 ซีซี ซึ่งเป็นขนาดยอดนิยม หากรายใดที่มีการใช้น้ำนมดิบสัดส่วน 100% ให้ปรับขึ้น 30 สตางค์ต่อกล่อง

แต่ในทางปฏิบัติแล้วผู้ผลิตปรับขึ้นเพียง 25 สตางค์ต่อกล่องเท่านั้น เป็นไปตามเหรียญสตางค์ ส่วนผู้ผลิตนมพาสเจอไรซ์ที่บรรจุขวดและบรรจุกล่องแบบแช่เย็น หากใช้น้ำนมดิบ 100% ก็ให้มีการปรับขึ้นราคาขวด 200 ซีซี ที่เคยจำหน่ายในราคา 12 บาทก็ปรับขึ้นอีก 30-31 สตางค์ แต่ในทางปฏิบัติก็มีการปรับขึ้นไปเพียง 25 สตางค์เช่นกัน ซึ่งราคาที่ปรับขึ้นไปนี้จะไม่รวมผู้ผลิตที่ใช้นมผงเพราะถือเป็นคนละชนิด”

อย่างไรก็ตาม ระดับราคานี้จะมีการเปลี่ยนแปลงหลังจากนี้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาโครงสร้างต้นทุนของมิลค์บอร์ดต้นทาง และจากที่ได้หารือกับทางผู้ประกอบการทั้งผู้ผลิตและห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ยืนยันว่าการปรับราคานี้ไม่ได้มีผลทำให้เกิดปัญหานมขาดตลาด แต่ในช่วงที่ผ่านมาปริมาณน้ำนมในตลาดลดลง เนื่องจากมีภาวะที่เรียกว่า dry cow หรือเป็นช่วงที่โคนมให้ผลผลิตน้อย ซึ่งขณะนี้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติแล้ว

“กรณีที่ห้างค้าปลีกบางราย ที่ไทยแลนด์ประกาศว่าผลิตภัณฑ์นมบางแบรนด์ ประสบปัญหาสินค้าขาดตลาดชั่วคราวจากภาวะ dry cow ทางกรมการค้าภายในได้มีการประชุมติดตามสถานการณ์นม และจากการลงพื้นที่ และในการหารือกับห้างค้าส่งค้าปลีก ไม่มีประเด็นเรื่องของขาด อาจมีปริมาณที่ลดลงบ้างช่วง dry cow เช่นเดียวกับทุกปี แต่ขณะนี้สถานการณ์เป็นปกติ”

กรณีที่การปรับขึ้นน้ำนมพาสเจอไรซ์ส่งผลกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการร้านกาแฟสดที่ต้องใช้นมพาสเจอไรซ์เป็นส่วนผสม ได้ประกาศปรับขึ้นราคานั้น ทางกรมการค้าภายในได้ติดตามดูแลราคาจำหน่ายของร้านกาแฟด้วย เพราะถึงแม้ว่าจะไม่ใช่สินค้าที่จำเป็น

แต่ผู้ประกอบการร้านกาแฟจะต้องปิดป้ายแสดงราคา และห้ามจำหน่ายสินค้าในราคาที่สูงเกินสมควร โดยจะพิจารณาต้นทุนและราคาจำหน่ายเปรียบเทียบกับร้านในทำเลเดียวกัน ในขนาดธุรกิจและพื้นที่ใกล้เคียงกัน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการฉวยโอกาสขึ้นราคา