หอการค้าชวนทุนจีนปักหมุดไทย หนุนเทคโนโลยี เผยผลศึกษาจุดอ่อนลงทุนไทย

ประยุทธ์ - สนั่น อังอุบลกุล

หอการค้าชวนนักลงทุนจีน ปักหมุดไทย หวังเวที “Thailand-China Investment Forum” ช่วยเปิดประตูหนุนการลงทุน เร่งดึงดูดกระตุ้นด้านเทคโนโลยี ก่อนปีหน้า 2566 คาดการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอ พร้อมรอต้อนรับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ร่วมประชุม APEC เผยผลศึกษานักลงทุนจีนมองอุปสรรคลงทุนที่ไทยต้องแก้ ภาษา ค่าแรงสูง กฎหมายที่ชัดเจน

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำราชอาณาจักรไทย นำโดย ท่านหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย จัดงาน “Thailand-China Investment Forum” ซึ่งเป็นประตูสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

สนั่น อังอุบลกุล
สนั่น อังอุบลกุล

โดยได้รับเกียรติจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดงาน โดยมีวัตถุประสงค์ในการเป็นเวทีสนับสนุนความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนระหว่างประเทศไทยและประเทศจีน โดยเฉพาะในการส่งเสริมให้นักลงทุนจากประเทศจีนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

โดยประเทศจีนมีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ในช่วงเวลาที่ผ่านมาประเทศจีนมีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจในหลายมิติ ทั้งการเป็นฐานการผลิต การเป็นตลาดขนาดใหญ่ และการเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในหลายประเทศ สำหรับประเทศไทยแล้ว จีนยังเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยในช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด ซึ่งในปีนี้ 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) ปี’65 มีเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่มายื่นขอรับการส่งเสริมกับ BOI เป็นมูลค่ารวม 275,624 ล้านบาท ซึ่งมาจากประเทศจีนมากที่สุดถึง 45,024 ล้านบาท

โดยที่ผ่านมาจีนเข้ามาลงทุนในไทยเป็นลำดับ 6 ของอาเซียน ซึ่งถือว่ายังมีการลงทุนที่น้อยมาก จึงเป็นโอกาสที่ดีในการขยายความร่วมมือในด้านนี้ โดยขณะนี้มีบริษัทขนาดใหญ่ของจีนหลายแห่ง ที่เห็นโอกาสและศักยภาพของไทย จึงเริ่มเข้ามาลงทุนในไทย ไม่ว่าจะเป็นบริษัท BYD ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีน และธุรกิจ Supply Chain จะเข้ามาลงทุนเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้จึงต้องเร่งส่งเสริมให้นักลงทุนจากประเทศจีนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพื่อดันรายได้เข้าประเทศ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกปีหน้าได้คาดการณ์ว่าจะชะลอตัว ดังนั้น ประเทศไทยต้องเร่งดึงต่างชาติเข้ามาลงทุน และเชื่อว่าจีนยังสามารถเติบโตได้ และจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจของไทย

โดยเฉพาะในด้านการลงทุน ซึ่งจะส่งผลดีต่อเนื่องไปยังภาคส่วนต่าง ๆ ของไทยอีกมาก ซึ่งนอกจากเม็ดเงินมาหนุนเศรษฐกิจ ยังได้เทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าเข้ามาช่วยพัฒนาประเทศ พร้อมทั้งกลางเดือนนี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มาร่วมประชุม APEC พร้อมเข้าประชุมทวิภาคีกับไทย ถือเป็นเรื่องที่ดีในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศต่อไป

ทั้งนี้ ไฮไลต์ที่สำคัญของงานนี้คือ การนำเสนอผลการศึกษาของคณะทำงาน Taskforce ไทย-จีน ที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้ศึกษาปัญหา อุปสรรค ความท้าทาย และโอกาสในการส่งเสริมการค้า การลงทุนร่วมกันของทั้งสองประเทศ โดยผลการสรุปที่สำคัญ พบว่าอุปสรรคการลงทุนของจีนในไทย คือ

1.ปัญหาด้านแรงงาน ที่มีผลมาจากการขาดแคลนแรงงาน ขาดทักษะด้านภาษา ขาดความรู้ทางเทคนิคหรือความรู้เฉพาะทาง และค่าจ้างแรงงานในประเทศไทยสูง

2.ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ ที่ถือว่าไม่ครอบคลุม และยังไม่เชื่อมโยงกันทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ รวมถึงการดำเนินการล่าช้า

3.กฎระเบียบไม่เอื้อต่อนักลงทุนจีน นักลงทุนจีนจำนวนไม่น้อยมีความไม่เข้าใจและกังวลใจต่อกฎหมาย หรือกฎระเบียบต่าง ๆ ของไทย ด้วยกฎหมายหรือกฎระเบียบต่าง ๆ เหล่านั้นอาจจะล้าสมัย สร้างความยุ่งยาก ไม่มีความชัดเจน

4.ปัญหานโยบายด้านการลงทุนของไทยยังเป็นภาพกว้าง นักลงทุนจีนส่วนใหญ่จึงไม่ทราบว่ามีหน่วยงานที่คอยช่วยเหลือและให้ข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนในไทยได้ และไม่เน้นตอบโจทย์กลุ่มนักลงทุนจีน

5.ปัญหาการซื้อที่ดินของนักลงทุนจีน ยังมีข้อจำกัดบางประการและไม่มีความชัดเจน เช่น จำนวนเงินลงทุน จำนวนที่ดิน วัตถุประสงค์การใช้ที่ดิน ลักษณะการลงทุน และ

6.ปัญหาอุตสาหกรรมบางประเภทมีอุปสงค์ในไทยต่ำ ตลาดมีขนาดไม่ใหญ่หรือน่าดึงดูด ความต้องการการบริโภคน้อย การผูกขาดในตลาดของผู้ผลิตหน้าเก่า อุตสาหกรรมจำนวนมากจนสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ทั้งหมดแล้ว เช่น อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ

จากการศึกษาคณะทำงานของสองประเทศ ได้นำเสนอแนวทางที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนให้เกิดการค้าการลงทุนระหว่างไทย-จีน ให้มากขึ้น ประกอบด้วย

1.การปรับปรุงกลไกความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนไทย-จีน จัดตั้งและปรับปรุงกลไกการเจรจาในระดับทางการ จัดตั้งแพลตฟอร์มเพื่อแบ่งปันข้อมูลทางการค้าและการลงทุนทั้งภาษาจีนและภาษาไทย จัดตั้งเครือข่ายวิสาหกิจไทย-จีน รวมถึงการแลกเปลี่ยนระหว่างสมาคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ และหอการค้าระหว่างไทยและจีน เพื่อแสดงบทบาทเป็นสะพานเชื่อมระหว่างสมาคมและหอการค้าอย่างมีประสิทธิภาพ

2.ขยายขอบเขตความร่วมมือด้านการลงทุนของจีนในประเทศไทย โดยสอดประสานกับยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม 4.0 และการสร้างระเบียงเศรษฐกิจ EEC ใช้ประโยชน์จาก RCEP การสร้างเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน การยกระดับความร่วมมือล้านช้าง-แม่น้ำโขง การเชื่อมโยงการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ด้วยรถไฟจีน ลาว ไทย

3.การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมไทย-จีน หรือสำรวจรูปแบบความร่วมมือในลักษณะเป็นสองประเทศสองนิคม

4.กระชับความร่วมมือไทย-จีนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยส่งเสริมมหาวิทยาลัยไทย-จีน ผลักดันการศึกษาทางภาษาให้ลงลึก สร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและวิสาหกิจระหว่างไทยและจีน ตลอดจนการจัดตั้งทุนการศึกษาของทั้งสองประเทศ

5.ปรับปรุงระบบบริการข้อมูลการลงทุน โดยพัฒนาระบบบริการแบบครบวงจรของไทย จัดทำบัญชี WeChat ของการลงทุนในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ใช้ภาษาจีนเพื่อสื่อสารนโยบายที่เกี่ยวข้องและขั้นตอนการลงทุน รวมถึงเพิ่มสาขา BOI ที่ปัจจุบันมีอยู่ 3 แห่งในประเทศจีน

“ที่ผ่านมา ประเทศไทยให้ความสำคัญกับประเทศจีน โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน ซึ่งไทยมีศักยภาพและความพร้อมที่จะต้อนรับการลงทุนตรงจากจีนในประเทศไทย จึงเกิดเป็นความริเริ่มเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว ระหว่างหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน

โดยมุ่งหวังว่าผลการศึกษาครั้งนี้จะนำไปสู่การขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนระหว่างไทยและจีนในทุกมิติอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสและการฟื้นตัวของภาคการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างกันให้กลับมาเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปีหน้า โดยในส่วนของผลการศึกษาเชิงลึก จะนำผลจากการสัมมนาในวันนื้มาเสริม และจะเผยแพร่ต่อหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของสองประเทศต่อไป”

ด้าน ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผลการศึกษาวิจัยการลงทุนของนักลงทุนจีนที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยนั้น พบว่าอันดับการลงทุนไทยขยับขึ้นมาลำดับต้น ๆ โดยไทยมีจุดแข็งที่กระตุ้นนักลงทุนจีน ทั้งนโยบายไทยแลนด์ 4.0 การผลักดันเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แม้มีโอกาส ศักยภาพระหว่างกันอีกมาก แต่ยังมีอุปสรรคและความท้าทาย

จากผลศึกษามีข้อสรุปส่วนใหญ่ นักลงทุนจีนมองว่าอุปสรรคการลงทุนในไทยยังมีทั้ง 1.ช่องทางการเข้าถึงข้อมูลยังมีไม่มากพอ 2.การสื่อสาร อุปสรรคทางภาษา 3.นักลงทุนไม่ทราบว่ามีหน่วยงานส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอในจีน อีกทั้งมองว่านโยบายการซื้อที่ดินของไทยนั่นมีข้อจำกัด เงื่อนไขค่อนข้างมาก

4.ปัญหาอุตสาหกรรมบางประเภทมีอุปสงค์ต่ำ เช่น ด้านดิจิทัล แรงงานไม่เพียงพอ ค่าจ้างแรงงานสูงเกินไป แม้ไทยนำเข้าแรงงานต่างชาติมาทดแทนแต่จากการระบาดโควิด-19 ปัจจุบันก็ยังไม่กลับมาเป็นปกติเช่นเดิม ที่สำคัญคืออัตราค่าแรงไทยสูงกว่าประเทศอื่นในอาเซียน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่พร้อม กฎหมาย กฎระเบียบซับซ้อน กว้างเกินไป ไม่ชัดเจน และไม่พุ่งเป้าไปที่นักลงทุนจีนเท่าที่ควร

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ที่ปรึกษาพิเศษด้านการพัฒนาการขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กล่าวว่า ความสัมพันธ์ไทย-จีน แน่นแฟ้นมายาวนาน โดยจะเห็นได้ว่ามีทุนรายใหญ่เข้ามาตั้งฐานผลิตในไทยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดก็ได้หารือกับทาง บริษัท โออาร์ กลุ่ม ปตท. ในการดึงการลงทุนจากจีนในเรื่องเครื่องบินที่เป็นไฮบริด

นอกจากนี้ ยังมี BGI ที่จะเดินหน้าลงทุนด้านการแพทย์ โดยไทยเองก็มีคณะกรรมการอีอีซีคอยอำนวยความสะดวก นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างทำแผน BRI marine เป็นการคมนาคมทางน้ำ ทั้งนี้ ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ไทยมีแนวคิดสร้างเศรษฐกิจมูลค่าสูง ซึ่งอนาคตอาจจะต้องเพิ่มสัดส่วนการผลิตให้มากขึ้น และขยายความร่วมมือ

อาทิ จีน-อาเซียนต้องจับมือขยายไปยังอินเดีย ตะวันออกกลาง เพื่อให้เกิดความเเข็งแกร่งและพึ่งพาตัวเองได้ จากจุดเด่นที่มี เช่น ฐานการผลิตรถยนต์อีวี แบตเตอรี่ อิเล็กทรอนิกส์ และการแพทย์ นอกจากนี้ ยังมี 5G ดังนั้น EEC กับทีมไทยจะขับเคลื่อนต่อไปและอนาคตเกิดการลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท จะเป็นเม็ดเงินที่สร้างมูลค่ามหาศาลให้กับประเทศ