ประยุทธ์โชว์สัมพันธ์ไทย-จีนแน่น สี จิ้นผิง ร่วมเอเปค ดันเศรษฐกิจรุ่ง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ประยุทธ์ หยอดไทย-จีน คู่ค้า คู่มิตร ยินดี สี จิ้นผิง ร่วมประชุมเอเปค อวด 9 เดือน ปี’65 ลงทุน 4.5 หมื่นล้านบาท รถยนต์ไฟฟ้าอนุมัติแล้ว 26 โครงการ 17 บริษัท กำลังการผลิต 8 แสนคัน ยอดการจดทะเบียนสะสม 8 เดือน 1 หมื่นคัน

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 ที่โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพมหานคร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในงานสัมมนา Thailand-China Investment Forum (CONNECTED GROWTH GREENER BOOSTS) ตอนหนึ่งว่า “วันนี้เป็นวันแห่งความสุขของผมอีกวันหนึ่ง ได้ทำงานอะไรที่เป็นอนาคตของบ้านของเมืองของเรากับเพื่อนของเรา เป็นความริเริ่มที่ดีของภาคเอกชนไทย ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีน”

รวมทั้งเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองประเทศจะฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 และยกระดับความร่วมมือรับกับสถานการณ์เปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปอีก และเป็นการต่อยอดไปสู่ความร่วมมือเพื่อให้เกิดความยั่งยืนตลอดไป

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลพยายามทำงานอย่างเต็มที่ในการขับเคลื่อนฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้ไปข้างหน้าได้อย่างเต็มกำลัง ผ่านนโยบายการเปิดประเทศ ซึ่งส่งผลดีต่อภาคการค้า การลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนจากต่างประเทศและการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและบริการ ทำให้เกิดการขยายตัวของการลงทุนจากต่างประเทศเป็นอย่างมากในปีนี้

“หนึ่งในประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญของประเทศไทย คือประเทศจีน เรามีความสำคัญที่แน่นแฟ้นในทุกระดับ มีพลวัตอย่างต่อเนื่อง ความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจนั้นกลายเป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญต่อเราระหว่างสองประเทศ นอกจากจะเป็นประเทศคู่ค้าแล้ว เรายังเป็นประเทศคู่มิตรที่มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นทางวัฒนธรรมอย่างยาวนาน รวมถึงไมตรีจิตของรัฐบาลและประชาชนชาวจีนในการร่วมกันฝ่าฟันวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ในปี 2565 เป็นปีที่ครบรอบ 1 ทศวรรษของความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือด้านยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน ดังนั้น เพื่อจะฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เกิดผลกระทบจากโควิด-19 และสถานการณ์โลกในปัจจุบัน รวมทั้งฟื้นฟูเศรษฐกิจของภูมิภาคต่าง ๆ และความท้าทายต่าง ๆ รัฐบาลไทยพร้อมร่วมมือกับรัฐบาลจีน เพื่อพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนสู่ทศวรรษหน้าในทุกมิติ โดยเราจะก้าวไปสู่อนาคตที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนไปพร้อม ๆ กัน ดังคำกล่าวที่กล่าวไว้ว่า จีนและไทยใช่อื่นไกล เราเป็นพี่น้องกัน

นอกจากนี้ ไทยได้สนับสนุนบทบาทเชิงสร้างสรรค์ของรัฐบาลจีน ตามแผนริเริ่มการพัฒนาโลก (Global Development Initiative: GDI) ซึ่งสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทย ที่มุ่งเน้นความเจริญรุ่งเรือง โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง นำไปสู่การเติบโตที่สมดุล ยั่งยืน และครอบคลุมในทุกมิติ

รัฐบาลไทยได้ส่งเสริมการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งยกระดับความเชื่อมโยงทางด้านโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ เชื่อมโยงกับภูมิภาคและโลก รวมถึงการพัฒนา EEC เชื่อมโยงกับข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) รวมทั้งพัฒนาปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุน การปรับปรุงร่างข้อเสนอยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) เพื่อดึงดูดกิจการใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพมาลงทุนในไทย

นอกจากนี้ ไทยถือเป็นจุดยุทธศาสตร์เชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ในภูมิภาค รัฐบาลพร้อมผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นจุดยุทธศาสตร์การคมนาคมไร้รอยต่อ สอดคล้องกับการยกระดับการพัฒนา EEC เชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Delta: YRD) ของจีน แสดงให้เห็นความพร้อมของไทยในการรองรับการลงทุนจากจีน ในสาขาที่จีนมีศักยภาพและความเชี่ยวชาญ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และดิจิทัล

“ในช่วง 9 เดือนของปี’65 การส่งเสริมการลงทุนจากจีน มีเงินลงทุนกว่า 45,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของไทย เช่น การลงทุนจาก GWM รถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับการอนุมัติแล้วมีทั้งหมด 26 โครงการ จาก 17 บริษัท กำลังการผลิตกว่า 8 แสนคัน โดยยอดการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าสะสม 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค. 65) จำนวน 1 หมื่นคัน แสดงให้เห็นถึงการเติบโตของตลาดอีวีอย่างแท้จริง”

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การเชื่อมต่อห่วงโซ่อุปทานของการลงทุนระหว่างไทยกับจีนนับว่าเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงโครงการรถไฟจีน-ลาว กับระบบรางของไทย จะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ การขนส่งสินค้า และการท่องเที่ยว ทำให้เกิดประโยชน์นำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ภูมิภาคอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ไทยและจีนยังมีความร่วมมืออื่น ๆ ทั้งในกรอบทวิภาคี กรอบอนุภูมิภาค อย่างแม่โขง-ล้านช้าง ACMECS GMS และระดับภูมิภาค อย่างอาเซียน-จีน การขยายความร่วมมือภายใต้ BRICS Plus ที่จีนริเริ่ม

“ประการสำคัญ การที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปีนี้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากจีนเป็นอย่างดียิ่ง และเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะเดินทางเข้าร่วมการประชุมกลางเดือนนี้ด้วยตนเอง แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์และความเป็นหุ้นส่วนที่แนบแน่นของทั้งสองประเทศอย่างแท้จริง” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว


พล.อ.ประยุทธ์ทิ้งท้ายความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับจีน การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโต เสถียรภาพ และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่มั่งคงและยั่งยืน ก้าวไปข้างหน้าพร้อมกัน ควบคู่ไปกับการรับมือกับความท้าทายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนของโลก