จุรินทร์ ขอ USTR ปลดไทยออกจากบัญชี WL ด้านทรัพย์สินทางปัญญา

จุรินทร์ ขอ USTR ปลดไทยออกจากบัญชี WL

”จุรินทร์” ถกรัฐมนตรี USTR สหรัฐ ขอช่วยปลดไทยออกจากบัญชี WL ด้านทรัพย์สินทางปัญญา ขณะที่ ประเทศไทย พร้อมเข้าร่วมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF)

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือสองฝ่ายระหว่างรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับ นางแคทเธอรีน ไท ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา หรือยูเอสทีอาร์ (USTR) ว่า USTR ได้แสดงความยินดีและชื่นชมการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปคของไทยและสหรัฐก็พร้อมที่จะรับเป็นเจ้าภาพต่อไปในปี 2566

นอกจากนี้ ประเทศไทยเองก็ได้แสดงเจตจำนงในการเข้าร่วม กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) ด้วย

สำหรับความสำคัญในกรอบความร่วมมือมีด้วยกัน 4 ด้านสำคัญ คือ 1.การค้า 2.ห่วงโซ่อุปทานหรือ Supply Chain 3.พลังงานสะอาด 4.ปราศจากการทุจริต เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่เป็นธรรมให้เกิดขึ้น พร้อมกันนี้ ไทยได้เน้นย้ำและสนใจที่จะยังคงเข้าร่วม

“สำหรับรายละเอียด เช่น เสาการค้า กระทรวงพาณิชย์จะเป็นกระทรวงหลักในการรับผิดชอบ อาจจะมีเรื่องสิ่งแวดล้อม แรงงานและเรื่องใหม่ที่จะเป็นประเด็นหารือต่อไป เช่น ดิจิทัลเทรด การอำนวยความสะดวกทางการค้าหรือความร่วมมือด้านเทคโนโลยีทางการค้าและความร่วมมือด้านเทคนิคต่าง ๆ ด้านการค้าและเศรษฐกิจเป็นต้น”

นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นร่วมที่จะเดินหน้าประชุม กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐ (Trade and Investment Framework Agreement: TIFA) หลังจากมีการประชุมไปล่าสุดเมื่อปี 2562 โดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยคาดว่าจะนี้จะมีการประชุมระดับเจ้าหน้าที่ เพื่อหาข้อสรุปและการจัดประชุมต่อไป โดยสหรัฐจะเป็นเจ้าภาพ

นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า ไทยยังได้ขอให้สหรัฐพิจารณางานด้านทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะมีการประชุมกันในเดือนเมษายน 2566 โดยขอให้ไทยพ้นจากสถานะบัญชี WL (บัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง : Watch List) เนื่องจากที่ผ่านมากรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ทำงานร่วมกับ USTR ในการแก้ไขปัญหางานด้านทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีประเทศที่อยู่ในบัญชี WL ทั้งหมด 19 ประเทศรวมถึงประเทศไทย

“ประเทศที่ยังติดบัญชี WL มีด้วยกัน 19 ประเทศ ซึ่งมีประเทศไทยอยู่ในนั้น หากสหรัฐฯพิจารณาปลดออกจากบัญชีนี้จะกลายเป็นประเทศที่ไม่อยู่ในบัญชี ทำให้สถานะประเทศไทยด้านการให้ความสำคัญกับทรัพย์สินทางปัญญาดูดีขึ้น และ มีภาพลักษณ์ทางการค้า ทางเศรษฐกิจ การลงทุนที่ดีขึ้นสำหรับหลายประเทศในโลกในอนาคตต่อไป ส่วนสิทธิพิเศษทั่วไปทางภาษี (จีเอสพี) ที่สหรัฐตัดจีเอสพีไทยไปนั้น ก็จากการหารือสหรัฐก็อยู่การพิจารณา เนื่องจากต้องหารือกับสภาสหรัฐด้วย”

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าลำดับที่ 3 ของไทย รองจากจีนและญี่ปุ่น ในปี 2565 (ม.ค.-ก.ย.) สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปสหรัฐฯ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+27.5%) ผลิตภัณฑ์ยาง (-9.7%) เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+202.4%) อัญมณีและเครื่องประดับ (31.2%) เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ (36.0%) เป็นต้น

“จุรินทร์” จับมือแดนจิงโจ้ ลงนาม MOU 8 ด้าน เพิ่มมูลค่าการค้า 2 ประเทศ

นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า ตนร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ว่าด้วยยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Strategic Economic Cooperation Arrangement: SECA) ระหว่างไทยกับออสเตรเลีย ว่าเป็นการลงนามเพื่อฉลองครบ 70 ปีความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับออสเตรเลีย ที่จะครบรอบ 70 ปี ในวันที่ 19 ธันวาคม 2565

“โดยเป็นบันทึกความเข้าใจในความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ การค้าและวิชาการ 8 ด้านด้วยกัน คือ 1) ด้านเกษตร เทคโนโลยี และระบบอาหารที่ยั่งยืน 2) ด้านการท่องเที่ยว 3) ด้านบริการ สุขภาพ 4) ด้านการศึกษา 5) ด้านการค้าดิจิทัลและเศรษฐกิจดิจิทัล 6) ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 7) ด้านการลงทุนระหว่างกัน และ 8) ด้านพลังงาน เศรษฐกิจสีเขียว และการลดการปล่อยคาร์บอน”

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า 8 เดือนแรกของปี 2565 (ม.ค.-ส.ค.65) การค้าระหว่างประเทศไทยกับออสเตรเลียมีมูลค่ารวม 12,762.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+18.50%) โดยเป็นการส่งออก 7,349.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+2.34%) และการนําเข้า 5,413.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+50.82%) โดยไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ามูลค่า 1,936.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ