ปตท. ร่วมเวที APEC CEO Summit มองมุมใหม่ดูแลสุขภาพหลังโควิด-19

 ปตท.ร่วมถกเวที APEC CEO Summit Thailand 2022   “มองมุมใหม่กับการดูแลสุขภาพหลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19”   ชูสร้างความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทาน การวินิจฉัยโรค การรักษาทางไกล และความรู้ความเข้าใจเรื่องสาธารณสุข  ผู้แทนจากองค์การอนามัยโลกหนุนให้ประเทศต่าง ๆ ลงทุนด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น 

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวที  APEC CEO Summit Thailand 2022  หัวข้อ “มองมุมใหม่กับการดูแลสุขภาพหลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19”  สำหรับผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วย นพ. จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย   นายคาลวิน ชมิดท์ รองประธานอาวุโส บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน และนายบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน  บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

นพ. จอส ฟอนเดลาร์​ ผู้แทนจากองค์การอนามัยโลก นำเสนอในประเทศแนะนำให้ประเทศต่าง ๆ ลงทุนในด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสาธารณสุขพื้นฐาน เพราะจากสถิติแสดงให้เห็นว่าประเทศที่มีการพัฒนาทางด้านสาธารณสุขสามารถรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ได้ดีกว่า

“เรายังสรุปไม่ได้ว่าการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ได้ผ่านจุดรุนแรงที่สุดไปแล้ว แต่เราก็ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง จากการระบาดในช่วงที่ผ่านมา” นพ. จอส ฟอนเดลาร์กล่าวว่า

ขณะที่นายบุรณิน รัตนสมบัติ  ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน   บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า ประเทศไทยจัดอยู่ในลำดับต้น ๆ ในโลกเกี่ยวกับการรับมือกับโควิด-19  แต่ยังมีสิ่งที่ปรับปรุงได้อีก  ในการสร้างความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทาน การวินิจฉัยโรค การรักษาทางไกล และความรู้ความเข้าใจในเรื่องสาธารณสุข

“ความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานเป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงด้านสุขภาพ…ความยืดหยุ่นไม่ได้หมายถึงแค่การมีบริการที่เพียงพอ แต่ยังรวมถึงความสามารถในการเข้าถึงบริการด้วย”  นายบุรณินกล่าว 

ด้านนายคาลวิน ชมิดท์ รองประธานอาวุโส  บริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน กล่าวว่าบทเรียนสี่ข้อจากการระบาดใหญ่คือ ความจำเป็นที่จะต้องทำให้ห่วงโซ่อุปทานไม่ขาดตอน ความสำคัญของการแบ่งปันข้อมูลสาธารณสุข การทำให้กฎหมายมีมาตรฐานเดียวกัน และการลงทุนพัฒนาบุคลากรสาธารณสุข

การชะงักงันในห่วงโซ่อุปทานทำให้เกิดการกักตุน  ซึ่งสร้างความไม่เท่าเทียมตามมา   และการแบ่งปันข้อมูลสาธารณสุขมากขึ้น จะมีผลประโยชน์อย่างมหาศาลสำหรับนวัตกรรมทางการแพทย์  อย่างไรก็ตามสิทธิของผู้ป่วยและสิทธิในด้านข้อมูลส่วนบุคคลต้องได้รับการปกป้องเช่นกัน

“การพัฒนาศักยภาพของพยาบาล แพทย์ และบุคลากรสาธารณสุขแถวหน้า เป็นปัจจัยที่สร้างความแข็งแกร่งให้ระบบสาธารณสุข…การลงทุนเพื่อการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับระบบสาธารณสุข” นายคาลวิน ชมิดท์กล่าว