ไทย-จีน เร่งศึกษาตั้งนิคมอุตสาหกรรมใน EEC และเขตเศรษฐกิจชายแดน

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

การนิคมอุตสาหกรรมฯ เร่งศึกษาตั้งนิคมอุตสาหกรรม ซัพพอร์ตจีนใน EEC และเขตเศรษฐกิจชายแดน (SEZ) “สุริยะ” เผยไทย-จีน ลงนาม MOU ตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนส่งเสริมความร่วมมือ ตามแนวคิด “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road initiatives) ทั้งด้านการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม และสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมการลงทุน เจาะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การแพทย์ อุตสาหกรรมชีวภาพ และเศรษฐกิจหมุนเวียนชีวภาพ” มอบ กนอ.เร่งดำเนินการประสานงาน กระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณประชาชนจีน (MOFCOM)

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) จัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม และสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมการลงทุน

โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อส่งเสริมนโยบายความคิดริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road initiatives) เชื่อมโยงสู่นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ตลอดจนร่วมกันเสริมสร้างความร่วมมือทวิภาคีด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การค้า และการลงทุน ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เร่งศึกษาและดำเนินการประสานงานต่อไป

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า การลงนาม MOU ครั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล และสนับสนุนขีดความสามารถด้านความร่วมมือของอุตสาหกรรม ด้วยการแบ่งปันประสบการณ์ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การแพทย์ อุตสาหกรรมชีวภาพ และเศรษฐกิจหมุนเวียนชีวภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่าของห่วงโซ่ในภาคการผลิต

วีริศ อัมระปาล
วีริศ อัมระปาล

ขณะเดียวกันยังศึกษาความเป็นไปได้ ในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ทั้งในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) และพื้นที่อื่น ๆ ที่เหมาะสมอีกด้วย ซึ่ง กนอ.จะเร่งดำเนินการประสานงานต่อไป

“กนอ.จะแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการลงทุน ข้อบังคับ นโยบาย และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน พร้อมทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริมการลงทุน การจัดสัมมนาสำหรับภาคธุรกิจ และการจับคู่ธุรกิจ เพื่อสนับสนุนการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนความร่วมมือในการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานไทย-จีน รวมถึงการดำเนินงานในด้านอื่น ๆ ที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกัน ซึ่ง MOU มีผลบังคับใช้ 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนาม”

สำหรับนโยบายหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (BRI) มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงตลาดการค้าระหว่างประเทศจีนและประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียและยุโรป โดยรัฐบาลจีนมุ่งหวังให้เป็นเส้นทางสายไหม (Silk Road) เส้นใหม่ เพิ่มเส้นทางขนส่งทางทะเล เพื่อเชื่อมโยงประเทศในแถบชายฝั่งรวมถึงทวีปแอฟริกาด้วย