3 ไตรมาสแรก ต่างชาติลงทุนไทย แตะ 1 แสนล้าน “อีอีซี” กวาด 4 หมื่นล้าน

3 ไตรมาส แรก ปี 65 ต่างชาติลงทุนไทย แตะ 1 แสนล้านบาท พุ่ง 82% จ้างงานคนไทยรวมกว่า 4,041 คน เฉพาะพื้นที่อีอีซี กวาด 4 หมื่นล้าน ญี่ปุ่นนำโด่ง

วันที่ 14 ตุลาคม 2565 นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (นายทศพล ทังสุบุตร) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว รายงานให้ทราบว่า ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ช่วง 3 ไตรมาสแรก (ม.ค. – ก.ย.) ของปี 2565 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 436 ราย

โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว แบ่งเป็น ใบอนุญาตประกอบธุรกิจ จำนวน 164 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ จำนวน 272 ราย เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 99,369 ล้านบาท จ้างงานคนไทยกว่า 4,041 คน

โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 110 ราย (ร้อยละ 25) เงินลงทุน 34,972 ล้านบาท สิงคโปร์ 71 ราย (ร้อยละ 16) เงินลงทุน 11,425 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา 61 ราย (ร้อยละ 14) เงินลงทุน 3,305 ล้านบาท ฮ่องกง 28 ราย (ร้อยละ 6) เงินลงทุน 7,788 ล้านบาท และ จีน 21 ราย (ร้อยละ 5) เงินลงทุน 20,754 ล้านบาท

เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 (ม.ค. – ก.ย.) พบว่า การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพิ่มขึ้น 47 ราย คิดเป็นร้อยละ 12 (ปี 2565 อนุญาต 436 ราย ปี 2564 อนุญาต 389 ราย) เม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 44,781 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 82 (ปี 2565 ลงทุน 99,369 ล้านบาท ปี 2564 ลงทุน 54,588 ล้านบาท) และจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้น 490 ราย คิดเป็นร้อยละ 14 (ปี 2565 จ้างงาน 4,041 คน ปี 2564 จ้างงาน 3,551 คน) โดยปี 2564 ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนสูงสุด คือ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และ สหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับปี 2565

3 ไตรมาสแรก (ม.ค. – ก.ย.) ของปี 2565 ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ อาทิ บริการออกแบบ ก่อสร้าง ติดตั้ง และตรวจสอบระบบกักเก็บพลังงาน สำหรับโครงการโรงผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานสำหรับสนามบินอู่ตะเภา

บริการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย บริการขุดลอก ถมทะเลและก่อสร้างม่านดักตะกอนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ในโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดบริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Electric Vehicle Charging Station) สำหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า

บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การให้คำปรึกษา เชิงเทคนิคแบบครบวงจรในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ การช่วยเหลือด้านการออกแบบ การพัฒนา และทดสอบระบบ เป็นต้น บริการให้ใช้แพลตฟอร์มแอปพลิเคชัน และเว็บไซต์ สำหรับการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า และสั่งซื้อสินค้าและบริการ บริการพัฒนาและให้บริการซอฟต์แวร์ด้านวิเคราะห์และเชื่อมโยงเพื่อบริหารจัดการข้อมูล Big Data, Data Analytics

สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ 3 ไตรมาส (ม.ค. – ก.ย.) ปี 2565 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 80 ราย คิดเป็นร้อยละ 18 ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด โดยมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC กว่า 40,555 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41 ของเงินลงทุนทั้งหมด

ทั้งนี้ เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 34 ราย ลงทุน 23,256 ล้านบาท สิงคโปร์ 8 ราย ลงทุน 2,006 ล้านบาท และ สหรัฐอเมริกา 6 ราย ลงทุน 1,075 ล้านบาท ธุรกิจที่ลงทุน อาทิ 1) บริการโทรคมนาคมเพื่อสาธารณะ (Public Switched Telecommunication Service) ภายในประเทศ ประเภทบริการขายต่อบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2) บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การให้คำปรึกษาเชิงเทคนิค และ การออกแบบเครื่องจักร เครื่องกล เครื่องมือ และอุปกรณ์ และ 3) บริการตรวจสอบและวิเคราะห์สภาพการทำงาน ของเครื่องจักรชนิดหมุน โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Services) ด้วยระบบคลาวด์ (Cloud) และเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ (Sensor Technology) เป็นต้น

“คาดว่าอีก 1 ไตรมาสที่เหลือ (ต.ค. – ธ.ค.) ของปี 2565 จะมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากภาครัฐมีมาตรการส่งเสริมการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจโดยให้มีการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ และเพิ่มการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเสริมให้เศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น”

ทั้งนี้ เฉพาะเดือนกันยายน 2565 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจในประเทศไทย 55 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว แบ่งเป็น ใบอนุญาตประกอบธุรกิจ จำนวน 23 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ จำนวน 32 ราย

โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 16,086 ล้านบาท จ้างงานคนไทยกว่า 279 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการจากประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาและสิงคโปร์ รวมถึง มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับสตรีมมิ่งเซิร์ฟเวอร์ (Streaming Server) องค์ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานนอกชายฝั่งทะเลและในสถานการณ์ฉุกเฉิน องค์ความรู้เกี่ยวกับเรือขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลวและการขนส่งทางทะเล และองค์ความรู้พื้นฐานการปฏิบัติการใช้โปรแกรมและซอฟต์แวร์ซื้อขายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นต้น

สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่ บริการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ และติดตั้งแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม (Wellhead Platforms) บริการกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) โดยการเป็นผู้ให้บริการระบบฝากซื้อขายสินค้าและบริการ ผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน

บริการพัฒนา ติดตั้ง โปรแกรมคอมพิวเตอร์ทุกประเภท คลาวด์เซิฟเวอร์ (Cloud Server) และเว็บไซต์ บริการติดตั้ง ซ่อมแซมและบำรุงรักษาระบบไฟส่องสว่างบนถนนอัตโนมัติ บริการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย เป็นต้น