จ่อขึ้นค่าน้ำดันราคาสินค้าพุ่ง เครื่องดื่ม-ปิโตร-โรงกลั่น แบกต้นทุนอ่วม

ค่าน้ำขึ้น

กกร.สกัด ขึ้น“ค่าน้ำ” หลัง สทนช.เปิดประชาพิจารณ์ขอปรับเรตใหม่แพงขึ้น 22 ลุ่มน้ำเรตไม่เท่ากัน หวั่นทุบซ้ำต้นทุนผู้ผลิตอ่วมไตรมาส 4 แบกทั้งค่าไฟ-ค่าแรง-วัตถุดิบพุ่ง เกินกว่า 20% ปรับค่าสินค้าไม่ได้ ชี้ “อุตสาหกรรมน้ำดื่ม-ปิโตรเคมี-โรงกลั่น” อ่วมสุด ด้าน สทนช.แจง มธ.ยังไม่ตกผลึกเรตค่าน้ำ

นายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช ประธานสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มีมติให้ทำหนังสือ ข้อคิดเห็นเพื่อเสนอสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ขอให้พิจารณาเลื่อนระยะเวลาในการเรียกเก็บค่าใช้น้ำ ตามข้อกำหนดในพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เรื่อง การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ หมวด 4 ออกไปก่อน หรือหากต้องเรียกเก็บให้ใช้อัตราค่าใช้น้ำเดิมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้ใช้ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นรอบปัจฉิมก่อนหน้านี้ซึ่งได้ผ่านการให้ความเห็นจากภาคเอกชนไปแล้ว

“เหตุที่ต้องเสนอเรื่องนี้อีกครั้ง เพราะภายหลังจากที่ได้มีข้อสรุปแล้ว ทราบว่าทาง สทนช.ได้ให้ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปรับเพิ่มเรตค่าน้ำแพงขึ้นอีก เปรียบเทียบได้ยาก เพราะค่อนข้างละเอียด แต่ละลุ่มน้ำ 22 ลุ่มน้ำ เรตไม่เท่ากัน ซึ่งให้ทางผู้วิจัยมารับฟังความเห็นจากเอกชนอีกครั้ง ทาง ส.อ.ท.ได้มีการสอบถามไปยังสมาชิก ส.อ.ท.ในภูมิภาคต่าง ๆ เห็นพ้องกันว่าควรให้ใช้เรตเดิม และได้เคยมีหนังสือในนาม ส.อ.ท.

แต่ครั้งนี้เราเสนอ กกร.พิจารณาอนุมัติอีกครั้ง เพราะตอนนี้ภาคเอกชนต่างแสดงความกังวล เพราะแต่ละรายได้รับผลกระทบจากภาวะโควิดต่อเนื่องด้วยน้ำท่วม ทั้งยังมีการปรับขึ้นต้นทุนอื่น ๆ เช่น ค่าไฟฟ้าเอฟทีล่าสุดปรับขึ้น 20% ค่าแรงงานขั้นต่ำเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2565 และต้นทุนวัตถุดิบอื่น ๆ อีก หากมีค่าน้ำเพิ่มขึ้น เอกชนก็จะยิ่งมีต้นทุนเพิ่มขึ้นในทันทีในไตรมาส 4 จากที่เงินเฟ้อ ขึ้นไปก่อนหน้านี้จากราคาน้ำมัน ที่สำคัญบางสินค้าไม่สามารถปรับขึ้นราคาจำหน่ายได้ เพราะเป็นสินค้าที่อยู่ในรายการสินค้าควบคุมของกระทรวงพาณิชย์”

ทั้งนี้คาดว่าอุตสาหกรรมหลักที่จะได้รับผลกระทบรุนแรง คือ อุตสาหกรรมที่ใช้น้ำเป็นวัตถุดิบอย่างอุตสาหกรรมน้ำดื่ม เครื่องดื่ม อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและโรงกลั่นที่ใช้น้ำในกระบวนการหล่อเย็น นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานความร้อนจากไอน้ำ ก็จะได้รับผลกระทบด้วย

สำหรับข้อเสนอของเอกชน เสนอว่าควรระบุเงื่อนไขการเรียกเก็บให้ชัดเจน เช่น การรับน้ำจากผู้สูบจ่ายหรือปรับปรุงคุณภาพน้ำ ผู้ที่รับน้ำไม่ควรชำระค่าน้ำซ้ำซ้อน และการใช้ที่ดินหรืองบประมาณของภาคเอกชนในการสร้างแหล่งเก็บน้ำ ไม่ควรต้องชำระเงินค่าน้ำให้กับภาครัฐ และกรณีที่ใช้น้ำเพื่อกิจกรรม CSR ให้กับภาคเกษตรและชุมชน หรือเก็บกักน้ำในที่ดินเอกชนเพื่อป้องกันปัญหาน้ำแล้งและอุทกภัย ควรยกเว้น หรือได้รับการลดหย่อนการเรียกเก็บค่าใช้น้ำ

ล่าสุดแหล่งข่าวจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศึกษาการเรียกเก็บค่าใช้น้ำ ตามข้อกำหนดในพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เรื่องการจัดสรรน้ำและการใช้น้ำหมวด 4

ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปอัตราจัดเก็บ ราคาค่าน้ำ และกำหนดกรอบเวลา ซึ่งต้องมีการพิจารณาของหน่วยงานน้ำ 3 กรม คือ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม กรณีราคาค่าน้ำแต่ละประเภท กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเป็นผู้พิจารณาอัตราการจัดเก็บ ซึ่งยังต้องมีการประชุมร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ชัดเจนในการประชุมครั้งต่อไป

รายงานข่าวระบุว่า ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนเมษายน 2564 ในการพิจารณายกร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะหรือรายละเอียดการใช้น้ำแต่ละประเภท ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 หมวด 4 การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ มาตรา 41 การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะ ได้กำหนดแบ่งการใช้น้ำออกเป็น 3 ประเภท คือ

1) การใช้น้ำประเภทที่หนึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ ซึ่งมีหลักเกณฑ์คือ การเพาะปลูกในรอบแรกไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะปลูกจำนวนกี่ไร่ แต่สำหรับช่วงฤดูแล้งที่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำจะเริ่มเก็บเงินสำหรับผู้ใช้น้ำที่ใช้น้ำในที่ดินเกิน 66 ไร่ สำหรับการทำนาเกลือสมุทรจะเริ่มมีการเก็บเงินหากผู้ใช้น้ำถือครองที่ดินเกิน 142 ไร่

2) การใช้น้ำประเภทที่สอง ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปาและกิจการอื่น โดยมีการกำหนดการจัดเก็บในอัตราต่างกัน ตัวอย่าง กรณีที่มีปริมาณการใช้น้ำไม่เกิน 45,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อเดือน ให้ชำระตามอัตราค่าใช้น้ำพื้นฐาน แต่หากมีปริมาณการใช้น้ำตั้งแต่ 45,001 แต่ไม่เกิน 90,000 ลบ.ม.ต่อเดือน ให้ชำระเพิ่มขึ้นอีก 10% ของอัตราค่าใช้น้ำพื้นฐาน และกรณีที่มีปริมาณการใช้น้ำเกินกว่า 90,000 ลบ.ม.ต่อเดือน ให้ชำระเพิ่มขึ้นอีก 20% ของอัตราค่าใช้น้ำพื้นฐาน

และ 3) การใช้น้ำประเภทที่สาม การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำ หรือครอบคลุมพื้นที่อ่างกว้างขวาง โดยกำหนดการใช้น้ำที่มากกว่าประเภทที่ 2 กล่าวคือ อัตราการใช้น้ำบาดาลต่อบ่อต้องมากกว่า 3,200 ลบ.ม./วัน

และอัตราการใช้น้ำผิวดินต้องมากกว่า 30,000 ลบ.ม./วัน รวมถึงการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำทุกกรณี ไม่ว่าจะผันน้ำในปริมาณเท่าไหร่ สำหรับผู้ใช้น้ำประเภทที่สาม ตัวอย่างกรณีใช้น้ำตั้งแต่ 90,000 แต่ไม่เกิน 135,000 ลบ.ม.ต่อเดือน ให้ชำระเพิ่มขึ้นอีก 40% ของอัตราค่าใช้น้ำพื้นฐาน และกรณีที่มีปริมาณการใช้น้ำเกินกว่า 135,001 ลบ.ม.ต่อเดือนขึ้นไป ให้ชำระเพิ่มขึ้นอีก 50% ของอัตราค่าใช้น้ำพื้นฐาน