
สปป.ลาว ชูจุดแข็งค่าแรงถูก สิทธิประโยชน์ โควตา-ลดภาษีเชื่อมโยงขนส่งรถไฟความเร็วจีน-ลาว เข้าตลาดจีน หวังดึงดูดนักลงทุนไทย โปรยยาหอมโอกาสสินค้าเกษตร-อุปโภค บริโภค-โลจิสติกส์ ด้านหอการค้าหนองคาย หนุนขยายฐานการลงทุน 2 เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน
นายคัดตะพอน พรมมะปันยา รองประธานสภาการค้าและอุตสาหกรรมแขวงหลวงพระบาง และที่ปรึกษาสมาคมนักธุรกิจหนุ่มแห่งชาติลาว กล่าวในงานเสวนา “เชื่อมโยงอุตสาหกรรมไทยกับประเทศ ACMECS ไทย-เมียนมา-สปป.ลาว” เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมาจัดโดยศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ สปป.ลาว โดยเฉพาะในแขวงหลวงพระบาง
- ประกาศใหม่ ผลประโยชน์ตอบแทนบำเหน็จชราภาพ ผู้ประกันตน ม.33,39
- ชัชชาติ พับ “ทางเลียบเจ้าพระยา” ดับโครงการในฝันประยุทธ์
- TRUE เกิดอะไรขึ้น ? ราคาดิ่ง-CHINA MOBILE ตัดขายทิ้ง 906 ล้านหุ้น
ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ยังส่งผลต่อภาคธุรกิจ บริการ การท่องเที่ยว เพราะหลวงพระบางเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ทั้งนี้ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและดึงดูดการลงทุน สปป.ลาวพร้อมสนับสนุนการเข้ามาลงทุนการทำธุรกิจของไทย และอุตสาหกรรมที่จะเป็นโอกาสให้กับไทย อุตสาหกรรมแปรรูป ปศุสัตว์ เป็นต้น
“สปป.ลาวนำเข้าสินค้า ผัก ผลไม้จากไทยและจีน และยังขาดผู้เชี่ยวชาญด้านการแปรรูปสินค้า ซึ่งเป็นโอกาสอย่างมากที่นักลงทุนจะเข้ามาทำธุรกิจ แม้กำลังซื้อในสปป.ลาวจะยังไม่มาก แต่ต้องการให้มองตลาดจีน เพราะนักลงทุนไทยสามารถส่งออกสินค้าจากลาวเข้าจีนได้
เนื่องจากลาวมีแรงงานจำนวนมาก ค่าแรงถูก อีกทั้งลาวยังได้สิทธิพิเศษทางภาษีจากจีนด้วย รวมถึงระบบโลจิสติกส์ รถไฟความเร็วสูงก็จะเป็นส่วนช่วยให้การส่งออกสินค้าเข้าจีนได้ดีมากขึ้น อีกทั้งช่วยลดต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่งด้วย”
นอกจากนี้ การลงทุนปศุสัตว์เป็นอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ เพราะจีนได้ให้โควตาลาวในการส่งออกวัวต่อปีประมาณ 5 แสนตัว แต่ปัจจุบันส่งออกได้ปีละ 2,000 ตัว ซึ่งนักลงทุนไทยสามารถเข้ามาร่วมทุนทำธุรกิจนี้เพื่อขยายตลาดส่งออกไปยังจีนได้ และยังมีโควตาในสินค้าพืชสำคัญด้วย เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว สาลี ทุเรียน เป็นต้น
“ไม่ใช่เพียงแค่นั้น สินค้าอุปโภค-บริโภค ซึ่งลาวนำเข้าจากไทย 90% หากไทยเข้ามาลงทุนสินค้าในกลุ่มนี้ เพื่อขยายตลาดการค้า การส่งออก ก็จะเป็นการเพิ่มตลาดให้กับผู้ประกอบการนักลงทุนไทยได้ด้วย”
แม้ปัจจุบันนี้ค่าเงินกีบของ สปป.ลาวจะอ่อนค่ามาก ส่งผลให้มุมมองผู้ประกอบการไทยมองว่า หากเข้ามาลงทุนในช่วงนี้จะกระทบต่อการเติบโตทางธุรกิจ ไม่คุ้มค่า แต่อยากให้มองโอกาสที่ไทยจะส่งออกไปยังประเทศที่ 3 โดยเฉพาะจีนที่เป็นตลาดใหญ่
นอกจากนี้ ทาง สปป.ลาวอยากเสนอให้สามารถนำเงินกีบชำระค่าสินค้าและบริการระหว่างกัน เพื่อช่วยหนุนให้เศรษฐกิจและธุรกิจทั้ง 2 ประเทศมีเสถียรภาพ โดยเฉพาะในเขตชายแดนที่ติดกัน และสุดท้ายการส่งเสริมเส้นทางท่องเที่ยวไทย-ลาว เพราะเชื่อว่าหากสถานการณ์โควิดจีนผ่อนคลายมากขึ้น จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อโอกาสทางธุรกิจและรายได้ในอนาคต
นางสาวศิริกุล กิติวงศ์ไพศาล รองประธานหอการค้าจังหวัดหนองคาย ฝ่ายอุตสาหกรรมกล่าวว่า ปัจจุบันในจังหวัดหนองคายมีเขตเศรษฐกิจพิเศษ 2 แห่ง ในอำเภอเมืองและอำเภอสระใคร โดยเฉพาะในอำเภอสระใครมีพื้นที่ 718 ไร่ พร้อมจะรองรับการขนส่งสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
และขยายตลาดไปยังประเทศที่ 3 ขณะนี้กำลังจะเปิดประมูลให้ลงทุนธุรกิจ พร้อมส่งเสริมสนับสนุนกลุ่มธุรกิจที่ตรงตามเป้าหมายในการส่งเสริมในเขตเศรษฐกิจนี้
นอกจากนี้ ทางหอการค้าเองก็ต้องการให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามาสนับสนุนและเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะศูนย์กระจายสินค้า การเชื่อมเส้นทางรถไฟ โดยเร่งก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเพื่อเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ ใช้ประโยชน์เส้นทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว เพื่อส่งออกสินค้าไปยังจีนได้เร็วขึ้น
ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า การส่งออกสินค้าไทยไป สปป.ลาวมูลค่าส่งออก 12,736 ล้านบาท ขยายตัว 28.75% สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันสำเร็จรูปอื่น ๆ และน้ำตาลทราย
ขณะที่ไทยนำเข้า 9,106 ล้านบาท ขยายตัว 13.32% สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เชื้อเพลิง เครื่องรับ-ส่งสัญญาณ ทองแดงและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ส่งผลให้ไทยได้ดุลการค้า 3,629 ล้านบาท โดยด่านที่มีมูลค่าการค้ามากที่สุดคือด่านมุกดาหาร รองลงมาคือหนองคาย นครพนม และเชียงของ
นายพงษ์ศักดิ์ พิบูลศักดิ์ ประธานสมาพันธ์อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทยและกรรมการบริหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่ากรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับอนุภูมิภาคที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมเชื่อมโยงธุรกิจ ลดช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิก
ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย ต้องการให้เอกชนไทยมองการเป็นผู้ให้ เพราะโอกาสต่าง ๆ เมื่อไปลงทุนแล้วผลตอบแทนมีมูลค่าที่สูงขึ้น เพราะต้องมองโอกาสที่มากคือการส่งออกไปยังจีน
“การเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ให้สำเร็จเป็นสิ่งสำคัญ ปัจจุบันพบว่าไทยยังมีความล่าช้ามาก ต้องเร่งสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศกับ สปป.ลาว เพื่อเชื่อมเส้นทางขนส่งระหว่างกันให้เร็วขึ้น จะสร้างโอกาสทางการค้า-การส่งออกในอนาคต”