รถไฟจีน-ลาว/เส้นทาง R3A โอกาสทองท่องเที่ยว “ไทย-ลาว-จีน”

รถไฟจีน-ลาว

การเกิดขึ้นของรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญของการท่องเที่ยวในประเทศรายทาง ทั้งจีนและลาว

แม้ว่ารถไฟขบวนนี้จะไม่ได้เชื่อมโยงเข้าสู่แผ่นดินไทย แต่กูรูต่างชี้เป็นเสียงเดียวกันว่า หากด้านการท่องเที่ยว พร้อมผนึกเส้นทาง R3A รถไฟขบวนนี้ น่าจะนำพาเม็ดเงินมหาศาลมาสู่ภาคการท่องเที่ยวไทย

“รถไฟจีน-ลาว” ทางเลือกใหม่

“ดร.อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์” เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเกิดขึ้นของเส้นทางรถไฟจีน-ลาว จะช่วยอำนวยความสะดวกให้ชาวจีนตอนใต้ รวมถึงชาวลาวเดินทางเข้าประเทศไทยได้หลากหลายช่องทางมากขึ้น ซึ่งจะเกิดผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวไทยอย่างแน่นอน

โดยนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการนั้นคาดว่าส่วนใหญ่เป็นชาวจีนและเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวพักผ่อนเป็นหลัก ทั้งเดินทางด้วยตนเองและเดินทางผ่านกรุ๊ปทัวร์ ส่วนนักท่องเที่ยวไมซ์ก็อาจมีการเดินทางผ่านเส้นทางนี้ด้วยเช่นกัน

“เมื่อมีการเปิดเส้นทางรถไฟอย่างเต็มรูปแบบ คาดว่าจะมีผู้ใช้รถไฟราว 3 ล้านคน เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนอย่างน้อย 1-1.5 ล้านคน ส่วนการส่งเสริมนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทยได้มากน้อย ขึ้นอยู่กับความสะดวกในการผ่านแดน”

โอกาสใหม่ “การท่องเที่ยว”

“คงชากี พันธะสมบัติ” ประธานสมาคมการท่องเที่ยวธุรกิจการท่องเที่ยวหลวงพระบาง (LUTA) บอกว่า ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา การท่องเที่ยวในเขตหลวงพระบางนั้นเงียบเหงา ผู้ประกอบการต้องหยุดการประกอบกิจการ แต่หลังการเปิดรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ทำให้การท่องเที่ยวหลวงพระบางกลับมาคึกคักอีกครั้ง

อีกทั้งพบว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางมาหลวงพระบางส่วนใหญ่เป็นชาวไทย เห็นได้จากช่วงวันหยุดเข้าพรรษาที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางไปยังหลวงพระบางประมาณ 11,000 คน จากนักท่องเที่ยวทั้งหมด 15,000 คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 73% จากเดิมหลวงพระบางมีนักท่องเที่ยวจากสหรัฐเป็นจำนวนมาก

ปัจจุบันการท่องเที่ยวหลวงพระบางโฟกัสนักท่องเที่ยวชาวไทย ซึ่งมีความใกล้ชิดด้านวัฒนธรรม อาหารการกิน ภาษา ฯลฯ

พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวไทย

สอดคล้องกับ “มณีจันทร์ พันวาวงศ์สุข” คณะบริหารสมาคมการท่องเที่ยวลาว (LATA) และคณะบริหารสมาคมการท่องเที่ยวเวียงจันทน์ (VCAT) ที่บอกว่า ทางการท่องเที่ยวลาวพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวจากประเทศไทย และได้ฝึกฝนพนักงานด้านมาตรการสาธารณสุขเพื่อเตรียมต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก รวมถึงชาวไทย

ในส่วนการท่องเที่ยวตามเส้นทางรถไฟจีน-ลาว อาจไม่จำเป็นที่ผู้ประกอบการทัวร์จะออกแบบแพ็กเกจเฉพาะเดินทางนั่งรถไฟไป-กลับเท่านั้น แต่ต้องวางแผนการท่องเที่ยวให้เหมาะกับช่วงเวลา วัยของนักท่องเที่ยว ประเภทของการเดินทาง ซึ่งทางสมาคมการท่องเที่ยวลาวพร้อมให้ความร่วมมือกับทางไทย

R3A เส้นทางกระจายรายได้

“พัฒนา สิทธิสมบัติ” ที่ปรึกษาคณะกรรมการสํานักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ระบุว่า การเดินทางบนเส้นทาง R3A จะสามารถช่วยกระจายรายได้อันเกิดขึ้นไปยังผู้ประกอบการรายย่อยที่อยู่ตามแนวเส้นทางได้

หากต้องการสนับสนุนผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวจากชุมชนและตอบโจทย์ตลาดไมซ์ ผู้ประกอบการอาจออกแบบผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวที่เหมะสมกับพื้นที่ ใช้ความร่วมมือของเมือง-ผู้ประกอบการตามเส้นทางร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์

เชื่อม 3 ประเทศบูสต์ท่องเที่ยว

ด้านศาสตราจารย์พิเศษ วิบูลย์ ตั้งกิตติภาภรณ์ กรรมการที่ปรึกษาศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน มองว่า รถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ทำให้เกิดตลาดใหม่ด้านการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ-เอเย่นต์ทัวร์สามารถออกแบบเส้นทางนำนักท่องเที่ยวจากมณฑลยูนนาน ประเทศจีน เข้าสู่ลาวและประเทศไทยได้ด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกันก็สามารถจัดแพ็กเกจนำนักท่องเที่ยวจากไทยเดินทางไปยังลาวและจีนได้ รวมทั้งนักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์ที่สามารถใช้เส้นทางรถไฟจีน-ลาว และเส้นทาง R3A เดินทางเชื่อมต่อระหว่าง 3 ประเทศได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ในปัจจุบันของเส้นทาง R3A คือ ขาดการเชื่อมโยงระหว่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อการค้าขายที่น้อยลง ความสามารถในการแข่งขันที่ถดถอยทำให้การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบตามไปด้วย

“ศ.พิเศษ วิบูลย์” เสนอว่า การจะพัฒนาเส้นทาง R3A ดังกล่าว จำเป็นต้องมีรัฐบาลที่เป็นผู้นำในการพัฒนา โดยแต่ละประเทศออกแบบนโยบายให้สอดคล้องกับประเทศเพื่อนบ้าน และในแง่การท่องเที่ยวรัฐบาลต้องสร้างเวทีเพื่อให้เกิดการพูดคุยระดับนโยบาย สนับสนุนการปลดล็อกระบบการตรวจคนเข้าเมือง วีซ่า ฯลฯ อันจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาตามเส้นทางดังกล่าวได้

นอกจากนี้ ภาคเอกชนทั้ง 3 ประเทศต้องร่วมมือกัน กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างคุณภาพ สนับสนุนการแข่งขันที่เสรี และด้วยแนวโน้มนักท่องเที่ยวเดินทางด้วยตนเองที่มากขึ้น ผู้ประกอบการจึงต้องนำเสนอผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์ดังกล่าว พร้อมนำเทคโนโลยีมาปรับใช้

คนไทยแห่เที่ยว-อุปสรรคยังเพียบ

“โชติช่วง ศูรางกูร” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท หนุ่มสาวทัวร์ จำกัด บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันพบว่าการท่องเที่ยวลาวตอนเหนือและจีนตอนใต้นั้นนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเดินทางผ่านรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม การทำทัวร์ในเส้นทางดังกล่าวยังมีความท้าทาย คือ ตารางเวลาของรถไฟที่อาจเกิดขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องเผื่อเวลาไว้ในตารางการเดินทาง

“โชติช่วง” เชื่อว่าด้วยวัฒนธรรมของไทย-ลาวที่ใกล้เคียงกัน เป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยและลาวในการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้าและออกประเทศได้ ในส่วนของประเทศไทย พบว่า นักท่องเที่ยวชาวลาวนิยม
เดินทางมายังภาคตะวันออกของไทย จึงเป็นโอกาสในกระตุ้นการท่องเที่ยวช่วงฤดูกาลเก็บผลไม้ในภาคตะวันออกได้

ลุ้นจีนผ่อนกฎเข้าประเทศ

ด้าน “สมชาย ชมระกา” ประธาน “วีคเอนท์ทัวร์แอนด์คาร์โก เซอร์วิส” ประเมินว่าโดยในส่วนของการเดินทางท่องเที่ยวด้วยรถไฟจีน-ลาวนั้น ปัจจุบันผู้ประกอบการทัวร์ยังพบอุปสรรคจากการรถไฟจีนกำหนดจำนวนบัตรโดยสารที่ซื้อได้ต่อคน แต่เชื่อว่าในอีกสักระยะ การรถไฟจีนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง น่าจะผ่อนคลายข้อจำกัดดังกล่าวได้

“ขอแนะนำผู้ประกอบการท่องเที่ยวว่าเมื่อนำนักท่องเที่ยวไปยังจิ่งหง สิบสองปันนา เมื่อเดินทางถึงบ่อเต็น อาจเลือกใช้เส้นทางรถบัส มากกว่าการใช้รถไฟ ซึ่งอาจยังมีข้อจำกัดอยู่”

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังรอประเมินตลาดจีนอีกครั้ง โดยมองว่าช่วงต้นปี 2566 ทางรัฐบาลจีนน่าจะผ่อนคลายมาตรการการเข้าประเทศ ผู้ประกอบการทั้งไทยและลาวน่าจะได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวจากจีน

ลดขั้นตอน ตม. ดึง นทท.จีน

“ดร.อดิษฐ์” ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า การส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวจากจีนและลาวข้ามชายแดนมาท่องเที่ยวในไทยนั้น ทางการทั้ง 2 ประเทศจำเป็นต้องผ่อนคลายกระบวนการตรวจคนเข้าเมือง-ศุลกากรให้ง่ายขึ้น พร้อมใช้เทคโนโลยีเพื่อลดขั้นตอนทั้งทางบก-ทางน้ำ

ส่วนการเดินทางในประเทศไทย ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องเร่งเตรียมพร้อมรับมือจำนวนนักท่องเที่ยว โดยการออกแบบเส้นทางทั้งทางบก ทางอากาศเชื่อมต่อไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในไทย

พร้อมย้ำว่า ปัจจุบันมีผู้ให้บริการทัวร์ฝั่งไทยและลาวหลายรายทำแพ็กเกจการท่องเที่ยวรถไฟจีน-ลาวแล้ว และเพื่อลดอุปสรรคขอแนะนำให้ผู้ประกอบการไทยหาพันธมิตรตามเส้นทาง เพื่อให้นักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างสะดวกปลอดภัย และแข่งขันกันด้วยคุณภาพมากกว่าด้านราคา