ธุรกิจไทยเกาะรถไฟจีน-ลาว แห่ลงทุนคึกคัก รับสิทธิบีโอไอ 16 ปี

ทุนไทยเกาะ “รถไฟจีน-ลาว” ค้าชายแดนครึ่งปีแรกกวาด 120,000 ล้านบาท บิ๊กธุรกิจ Vientiane Logistics Park ทุ่ม 20,000 ล้านบาท พัฒนา “ท่าเรือบกท่านาแล้ง” เปิดบริการถ่ายสินค้าเชื่อมรถไฟไทย เสริมแกร่งนโยบาย “ลาว Land Lock สู่ Land Link” อัดสิทธิ BOI ลาวสูงสุด 16 ปี ดึงไทยลงทุนเกษตร-อาหารแปรรูป-ฮาลาล-ยาและเวชภัณฑ์

หลังจาก สปป.ลาว เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจครั้งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน 2565 พุ่ง 23.6% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ค่าเงินกีบอ่อนค่าจาก 200,000-300,000 กีบต่อ 1,000 บาท เป็น 400,000-500,000 กีบต่อ 1,000 บาท ส่งผลทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบต่าง ๆ ปรับตัวสูงขึ้น

ขณะที่ลาวเองก็กำลังการแปลงโฉมประเทศตามนโยบาย “Land Lock” สู่ “Land Link” ด้วยการใช้ “รถไฟจีน-ลาว” เชื่อมโยงเส้นทางเศรษฐกิจที่สำคัญระหว่างยุโรป-จีน-อาเซียน และการบริหารจัดการเศรษฐกิจภายใน

ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจลาวในช่วงครึ่งปีแรกขยายตัว 3.4% พร้อมตั้งความหวังไว้ว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง หากจีนคลายล็อกมาตรการปิดประเทศ ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางผ่านเส้นทางรถไฟเพิ่มขึ้นก็จะช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวและการค้า เชื่อว่า GDP ลาวตลอดทั้งปี 2565 จะขยายตัวได้ 3.4% นั่นหมายความว่า สปป.ลาวจะไม่ซ้ำรอยประเทศศรีลังกา

ค้าชายแดนสะพัด 2 แสนล้าน

ดร.จตุรงค์ บุนนาค ประธานสภาธุรกิจไทย-ลาว เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากเปิดบริการเส้นทางรถไฟจีน-ลาวทำให้การขนส่งเคลื่อนย้ายนักท่องเที่ยวจากเวียงจันทน์สู่หลวงพระบางและสู่เมืองท่องเที่ยวอย่าง “วังเวียง” ได้รวดเร็วและสะดวกสบายมากขึ้น ตั้งแต่ สปป.ลาวเปิดประเทศในวันที่ 9 พฤษภาคม-31 กรกฎาคม 2565 ปรากฏมีนักท่องเที่ยวไทย-ลาวข้ามไปมาระหว่างกันถึงฝ่ายละ 250,000 คน รวม 500,000 คน

คาดการณ์จะมีเม็ดเงินสะพัดมากกว่า 800 ล้านบาท ทำให้ทางจีน-ลาวต้องเพิ่มเที่ยวรถไฟจาก 2 เที่ยวเป็น 3 เที่ยวในวันธรรมดา และเป็น 4 เที่ยวในวันหยุด และเพิ่มการจำหน่ายตั๋วยืนเพื่อรองรับ หากจีนคลายล็อกในเดือนตุลาคม 2565 ตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์จะยิ่งมีการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น

ในส่วนการค้าชายแดนระหว่างไทย-ลาว ครึ่งปีแรก 2565 มีมูลค่า 120,000 ล้านบาท ไม่นับรวมการค้าข้ามพรมแดนไปจีน ซึ่งด่านยังปิดอยู่ ดังนั้นคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังการค้าชายแดนจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 200,000 ล้านบาทได้ โดยหลักสำคัญไทยจะต้องเร่งผลักดันการเปิด “ด่านตามประเพณี” เพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบันไทย-ลาวมีด่านการค้าระหว่างกัน 49 ด่าน

แต่เปิดอย่างเป็นทางการ 10 กว่าด่านเท่านั้น และไทยต้องเร่งวางยุทธศาสตร์การค้าร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านให้เร็วขึ้น จากที่ผ่านมาจะเห็นว่าฝ่ายลาวมี 3 ยุทธศาสตร์หลักชัดเจนและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ได้แก่

1) ยุทธศาสตร์เป้าหมายการเป็น “แบตเตอรี่ออฟเอเชีย” มุ่งพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าเชื่อมโยง ซื้อขายไฟฟ้าในอาเซียน

2) ยุทธศาสตร์ลดการนำเข้าสินค้า ด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ 18 แห่ง และเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะ 1 แห่ง คือ “Vientiane Logistics Park” ที่ดึงดูดนักลงทุนเข้าไปตั้งฐานผลิตสินค้า จนปัจจุบันมีมากกว่า 500 บริษัท เข้าไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ

โดยเฉพาะนักลงทุนจากจีนและเวียดนามที่เข้าไปเป็นจำนวนมาก ไม่นับรวมการลงทุนในสินค้าเกษตร ที่ปัจจุบันลาวมีพื้นที่ปลูกทุเรียนนับหมื่นไร่บริเวณปากเซ โดยการเข้าไปของนักลงทุนจีนและเวียดนาม และทางวังเวียงก็กำลังเริ่มปลูก อนาคตจะส่งออกผ่านเส้นทางรถไฟมากขึ้น

และ 3) ยุทธศาสตร์ Land Lock สู่ Land Link เชื่อมโยงโลจิสติกส์ ไม่ใช่แค่รถไฟจีน-ลาว แต่ยังมีเส้นทางตัดผ่านตะวันตก-ตะวันออกที่เชื่อมจาก “เวียงจันทน์” ไปยัง “ท่าเรือหวุนอั่ง” ประเทศเวียดนาม ที่จะสามารถขนส่งสินค้าผ่านไปจีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง สหรัฐได้ จุดนี้จะใกล้เคียงกับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

หากไทยสามารถเชื่อมโยงส่งสินค้าไปได้ รัฐบาลต้องเร่งโครงการก่อสร้างสะพานรถไฟแห่งที่ 2 และการพัฒนาท่าเรือบกฝั่งไทย ซึ่งอาจจะเชื่อมโยงกับนักลงทุน Vientiane Logistics Park ฝั่งลาว แต่ควรจะมีฝั่งของไทยด้วย เพราะสินค้าเกษตรจะสามารถระบายได้เร็วขึ้น

ทุนไทยเตรียมบุก

ล่าสุด สภาธุรกิจไทย-ลาว ได้จัดคณะนักธุรกิจ 30 คน ทั้งจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (คุณไพรัช บูรพชัยศรี) หอการค้าจังหวัดอุดรธานี และหอการค้าหนองคาย เข้าพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมคนใหม่ และเดินทางไปพบ ประธานหอการค้าลาว พร้อมทั้งได้มีการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจที่เวียงจันทน์ และหลวงพระบาง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งประสบความสำเร็จไปหลายคู่

“นักธุรกิจไทยมองว่า ขณะนี้เป็นโอกาสเข้าไปขยายการลงทุน ถ้าเราจะไปจับจองพื้นที่ต้องไปตั้งแต่ตอนนี้ เพราะเศรษฐกิจลาวเริ่มกลับมาคึกคัก เริ่มจากท่องเที่ยวมาก่อนร้านอาหาร โรงแรมธุรกิจที่เกี่ยวข้องเริ่มตามกลับมาเปิด ราคาอสังหาริมทรัพย์ตอนนี้จะไม่สูงมาก และค่าเงินกีบอ่อนค่าด้วย เรามองข้อมูลมูดีส์เป็นข้อมูลประกอบ แต่เราไม่ได้ไปปล่อยกู้อะไรให้เขา เราไปค้าขาย ซึ่งมีปัจจัยอื่น ๆ อีก”

ตี๋ จี่ เส็ง
ตี๋ จี่ เส็ง

เงินเฟ้อไม่สะเทือนแผนลงทุน

ด้าน นายตี๋ จี่ เส็ง (Tee Gee Seng) รองประธาน-ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Vice President-Property Development) บริษัท Vientiane Logistics Park จำกัด หรือ VLPs กล่าวว่า VLP เป็นผู้พัฒนาและให้บริการเชื่อมต่อโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ (international logistic connecter) รายแรกในเวียงจันทน์

ปัจจุบันดำเนินก่อสร้างโครงการท่าเรือบก (Dry Port) “ท่านาแล้ง” และเขตโลจิสติกส์ (Logistics Park) นครหลวงเวียงจันทน์ (VLP’s Project) บนพื้นที่ 2,000 ไร่ งบประมาณลงทุน 727 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 24,000 ล้านบาท เพื่อเชื่อมโยงรถไฟจีน-ลาว

“โครงการท่าเรือบกนี้เกิดขึ้นจากการริเริ่มศึกษาของไจก้า ญี่ปุ่น เป้าหมายตอนแรกเพื่อรองรับการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์มาจากฝั่งไทย วันละ 800 ตู้ ซึ่งเกิดก่อนที่จะมีโปรเจ็กต์รถไฟจีน-ลาว แต่เมื่อมีรถไฟจีน-ลาวเข้ามาก็เปรียบเสมือนเราได้รับอานิสงส์เพิ่มมากขึ้น

แม้ว่าปัจจุบันจะมีปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ แต่ไม่ได้กระทบต่อต้นทุนและแผนการก่อสร้างเฟส 1 คืบหน้าไปแล้ว 95% เหลืออีก 5% จากนั้นจะทยอยก่อสร้างอีก 4 เฟส จะแล้วเสร็จในปี 2027 ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน และทำให้เกิดการจ้างงาน 20,000 อัตรา” นายตี๋กล่าว

ทั้งนี้ โครงการ VLP ประกอบด้วย โครงสร้างพื้นฐานหลักเพื่อรองรับและอำนวยความสะดวกการค้า มีท่าเรือบก รวมถึงประตูเข้าและออก, ป้ายหยุดรถบรรทุก, ศุลกากร, CFS, ลานตู้คอนเทนเนอร์, คลังสินค้า, คลังตู้คอนเทนเนอร์, สถานีรถไฟ, อาคารปฏิบัติการ และบริการส่วนใหญ่ประกอบด้วยการจัดการเทอร์มินอล การจัดการคอนเทนเนอร์ และสายการเดินเรือ

2) เขตเศรษฐกิจพิเศษ (EPZ) ช่วยให้สามารถนำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์ และวัตถุดิบสำหรับการผลิต/การผลิตสินค้าสำหรับตลาดต่างประเทศสะดวกมากขึ้น 3) เขตการค้าต่างประเทศ เขตปลอดภาษีการค้า การค้าเสรีและคลังสินค้า

4) ศูนย์คลังสินค้าและกระจายสินค้า บริการต่าง ๆ อาทิ จัดเก็บ การรวมบัญชี การกระจายสินค้า การจัดการสินค้าคงคลัง และการจัดการคลังสินค้า และ 5) ฟาร์มแท็งก์หรือศูนย์รวมถังเชื้อเพลิงสำหรับการนำเข้าและจัดเก็บเชื้อเพลิงจากประเทศไทย ศูนย์นี้ทำหน้าที่เป็นศูนย์จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศ

ดึงลงทุนเชื่อมโยงภูมิภาค

นายตี๋กล่าวว่า ลาวมีศักยภาพสามารถเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์ในภูมิภาค และยิ่งมีการใช้ความตกลง RCEP ซึ่งมีลาวเป็นหนึ่งในสมาชิกก็จะเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น และการที่ลาวมุ่งจะเปลี่ยนจากการเป็นประเทศ “land lock” ให้กลายเป็นพื้นที่ “land link” หลังจากใช้รถไฟจีน-ลาว และผู้ที่มาลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่ 8 ปี จนถึงสูงสุด 16 ปี

เช่น การลงทุนค้าปลีกอาจจะได้ 8 ปี ส่วนการลงทุนผลิตได้ 16 ปี และสามารถขนส่งผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ลาว เชื่อมต่อไปยังจีน และต่อเนื่องไปยุโรปได้ การผลิตในลาวยังได้รับสิทธิประโยชน์การลดภาษีนำเข้า Everything bus Arms ด้วย

ส่วนปัญหาการติดขัดเรื่องการเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าที่ขนาดรางรถไฟของไทยที่มีขนาด 1 เมตร และของลาวมีขนาด 1.43 เมตรนั้น ล่าสุด VLP ได้เปิดทดสอบการให้บริการ (เทสต์รัน) จุดให้บริการเชื่อมโยงยกตู้คอนเทนเนอร์ขนถ่ายสินค้าระหว่างรถไฟจากไทยและรถไฟจีน-ลาว

บริเวณเวียงจันทน์ดรายพอร์ต เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เพื่อเป็นทางเลือกบริการ สามารถเลือกได้ทั้งแบบ railway to railway หรือจะขนส่งผ่านรถบรรทุกมาจากแหลมฉบังฝั่งไทย แล้วขนขึ้นรถไฟจีน-ลาว ก็ได้ปรากฏ “ต้นทุนไม่ต่างกัน” ทั้งยังเป็นจุดบริการเดียวกัน ซึ่งจะช่วยรถระยะเวลาการขนส่งได้

จูงใจ “นักลงทุน” อุตฯเป้าหมาย

นายตี๋กล่าวว่า บริษัทมีเป้าหมายจะดึงดูดลูกค้าและนักลงทุนในสินค้าเป้าหมายคือ สินค้าเกษตร (คัดเกรด บรรจุ และจัดเก็บสินค้าเกษตร ซื้อขายสินค้าเกษตร นำเข้า/ส่งออกผลไม้ สินค้าเกษตรปลอดสารเคมี) และศูนย์กระจายสินค้า (DC) สินค้าและผลิตภัณฑ์ฮาลาล

รวมถึงการรับรองฮาลาลอาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ประกอบอาหาร นมถั่วเหลือง อาหารกระป๋องการแปรรูปอาหารแช่แข็ง สัตว์ปีก การแปรรูปเนื้อสัตว์ และอาหารทะเลสินค้ายาและเภสัชกรรม รวมการผลิตยานำเข้าและจัดจำหน่ายยาชุด PPE ผลิตภัณฑ์ เคมี GMP รับรอง เป็นต้น

ทั้งนี้ จากสถิติปัจจุบันมีการขนส่งสินค้าจากรถไฟจีน-ลาว วันละ 10 ขบวน ขบวนหนึ่งจะมีความยาว 26 ตู้ หรือ 35 ตู้ หรือสูงสุดถึง 70 ตู้ ขึ้นอยู่กับขนาดของตู้บรรทุก สำหรับช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) 2565 มีการขนส่งสินค้าผ่านรถไฟจีน-ลาว จำนวน 26,388 กล่อง คิดเป็นปริมาณคอนเทนเนอร์ทั้งหมด 42,591 TEU