เปิดหวูด รถไฟจีน-ลาว ขับเคลื่อนทุนไทยรุกตลาด 8.5 แสนล้าน

REUTERS/Phoonsab Thevongsa/File Photo

จีนในฐานะคู่ค้าอันดับ 1 ของประเทศไทย จัดเป็นตลาดสำคัญอันดับต้น ๆ ของผู้ส่งออกและนักลงทุนในแทบทุกอุตสาหกรรม ด้วยจำนวนประชากรมากกว่า 1,300 ล้านคน ทำให้ “ตลาดจีน” มีความต้องการบริโภคสินค้ามหาศาล เพียงแค่ไตรมาส 1/2565 ทั้ง 2 ประเทศมีการค้าขายกันมากถึง 856,484.6 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 17% ของตลาดทั้งหมด

และจะยิ่งมีโอกาสเติบโตมากขึ้นในอนาคตหลังการเปิดให้บริการในเส้นทาง “รถไฟจีน-ลาว” เชื่อมต่อเส้นทางหนองคายของไทย นับเป็นโอกาสและช่องทางส่งผ่านสินค้าและเคลื่อนย้ายการลงทุนที่สำคัญของทั้ง 3 ประเทศ

ด่านจีนยังไม่ 100% เต็ม

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้จัดงานเสวนาออนไลน์ “REGIONAL FORUM คว้าโอกาสการค้าและการลงทุนจากรถไฟจีน-ลาว” โดย นายณัฐ วิมลจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครคุนหมิง ประจำประเทศจีน (สคต.จีน) กล่าวว่า ปัจจุบันการใช้เส้นทางขนส่งรถไฟจีน-ลาวยังใช้ได้ไม่เต็มศักยภาพ 100% เนื่องจากระบบการตรวจสอบสินค้าเกษตรฝั่งประเทศจีนนั้น “ยังไม่แล้วเสร็จ”

จากเดิมที่คาดว่าน่าจะเห็นเป็นรูปธรรมในช่วงกลางปีนี้ แต่อาจเลื่อนไปถึงช่วงปลายปี 2565 จึงจะเสร็จและสามารถใช้การได้ ดังนั้นการขนส่งโดยอาศัยเส้นทางรถไฟจีน-ลาว จึงยังไม่สามารถส่งตรงเข้าจีนได้ ยังต้องอาศัยเปลี่ยนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ที่ด่านชายแดนและขนส่งทางบกเพื่อเข้าจีนอีกต่อหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม รถไฟจีน-ลาวยังเป็นโอกาสสำหรับการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อการผลิตสินค้าและส่งออก และสินค้าที่ไม่ได้อยู่ใน list ที่จีนยังไม่ได้เปิดให้ส่งผ่านก็สามารถใช้เส้นทางรถไฟได้ ดังนั้นตลาดจีนถือว่าเป็นตลาดสำคัญของประเทศไทย ผู้บริโภคจีนให้ความสนใจสินค้าไทย

เช่น กลุ่มเครื่องดื่ม, หมอนยางพารา, อาหารทะเล, สินค้าด้านสุขภาพ รวมไปถึงผลไม้สดจากไทย อีกทั้งยังเป็นโอกาสในการส่งเสริมการท่องเที่ยวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ในอนาคต

“นโยบายการใช้ระบบตรวจสอบตามมาตรการ Zero COVID ที่จีนให้ความสำคัญต่อเรื่องความปลอดภัยของประชากร ด้วยการเพิ่มความเข้มงวดการตรวจสอบในระบบนี้กับทุก ๆ ประเทศที่ส่งสินค้าเข้าจีน โดยมีบทลงโทษเจ้าหน้าที่จีนที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ถึงขั้นไล่ออกและจำคุก

ส่งผลให้มีการตรวจสอบสินค้าอย่างเข้มงวด มีการใช้มาตรการการเปิด-ปิดด่านบ่อยครั้ง เมื่อเจอโควิด-19 ปนเปื้อนมากับสินค้า เช่น ด่านโมฮานระงับส่งสินค้าชั่วคราวไปถึง 2 ครั้ง แต่เป็นการระงับเฉพาะบางสินค้าที่พบเชื้อโควิดและเฉพาะรายเท่านั้น” นายณัฐกล่าว

ใช้เงินสกุลบาท-หยวนทำธุรกรรม

ด้าน นายสุพัฒน์ อำไพธนากร หัวหน้าสำนักงานตัวแทนธนาคารแห่งประเทศไทย ณ กรุงปักกิ่ง กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามูลค่าการค้า-การลงทุนไทย-จีน เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการใช้เงิน “ดอลลาร์” ชำระค่าสินค้าคิดเป็นสัดส่วน 90% และเป็นการชำระเงินด้วยเงิน “หยวน” เพียง 6%

ทั้งที่สกุล “บาท-หยวน” ผันผวนน้อยกว่า “บาท-ดอลลาร์” ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถควบคุมต้นทุนได้ง่าย ดังนั้นทางธนาคารกลางของทั้ง 2 ประเทศจึงมุ่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ ภาคเอกชน ปรับเปลี่ยนมาใช้สกุลเงิน “บาท-หยวน” ทำธุรกรรมให้มากขึ้น

นายอรรจน์สิทธิ สร้อยทอง ผู้อำนวยการกองพัฒนาผู้ประกอบการไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า กำลังอยู่ระหว่างศึกษาโอกาสในการส่งเสริมการลงทุนตามแนวเส้นทางรถไฟ รวมถึงการส่งเสริมและให้สิทธิพิเศษเพิ่มในเขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคายและเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย ซึ่งจะมีส่วนช่วยเสริมเรื่องระบบโลจิสติกส์และกระจายสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟลาว-จีนเพื่อส่งออกไปจีนด้วย สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ BOI จะมุ่งส่งเสริมระยะแรก

เช่น สินค้าเกษตร โลจิสติกส์ แวร์เฮาส์รวบรวมสินค้า อาจเป็นการลงทุนเองหรือเป็นการร่วมทุนก็ได้ และในระยะเวลาอีก 2-3 ปีข้างหน้า BOI จะมีการส่งเสริมสนับสนุนกิจการท่องเที่ยวเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจีนและ สปป.ลาว ที่จะเดินทางเข้ามาไทยและเชื่อมโยงไปยังจังหวัดต่าง ๆ เช่น ขอนแก่น อุดรธานี รวมถึงการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านด้วย

รถหัวลากลาวทำต้นทุนพุ่ง

นายจรินทร์ บุตรธิเดช กรรมการ บริษัท ไอซีแอลอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ทั้งทางเรือ ทางบก ผ่าน สปป.ลาวเข้าจีนตอนใต้ และรถไฟจีน-ลาว กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่สามารถส่งสินค้าตรงผ่านเส้นทางรถไฟเข้าถึงจีนได้ ยังคงอาศัยการเปลี่ยนถ่ายขึ้นรถบรรทุกขนส่งอยู่ ทำให้ต้องใช้เวลาขนส่งเพิ่มขึ้น

หากเชื่อมโยงรถบรรทุกหัวลากได้จะลดระยะเวลา-ค่าขนส่งได้เพิ่ม ส่วนการส่งผ่านตู้แช่รักษาอุณหภูมิช่วยเก็บรักษาสินค้านั้น ก็มีความเสี่ยงที่เชื้อโควิด-19 จะมีอายุอยู่ได้นานขึ้น จีนจึงมีการเข้มงวดกับสินค้า โดยมีการสุ่มตรวจ

หากพบติดเชื้อเกิน 60% จะระงับการนำเข้าสินค้านั้น ในเบื้องต้นกำหนด 3 วัน และจะมีการสุ่มตรวจอีก หากยังพบโควิด-19 ก็จะระงับการนำเข้าสูงสุดเป็นเวลา 1 เดือน

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องการเปลี่ยนถ่ายรถหัวลากนั้น ผู้ประกอบการจะต้องใช้ “รถบรรทุกลาวเท่านั้น” และจะเปลี่ยนถ่ายขนส่งที่สถานีเวียงจันทน์ใต้ จะมีทั้งค่าใช้จ่ายและใช้เวลาเพิ่มขึ้นเป็น 8-12 วัน (เท่ากับทางบก ทั้ง ๆ ที่ควรเร็วกว่า) ค่าใช้จ่ายช่วงต้นที่รถไฟวิ่งจะมีค่าบริการ 450 เหรียญ/ตู้ 40 ฟุต, ค่ารถหัวลาก 120 เหรียญ, ค่าเปลี่ยนถ่ายรถ 200 เหรียญ รวมค่าใช้จ่าย 770 เหรียญหรือประมาณ 25,000-30,000 บาท

ซึ่งยังไม่รวมค่าเฟสที่ตกวันละ 58,000 บาท/ตู้ขนาด 40 ฟุต แต่ที่แพงกว่านั้นคือ ค่ารถบรรทุกหัวลาก ส่วนค่ารถไฟในจีนถูกมาก ระยะทางจากโมฮาน-หวางเจียงหมิงซี ราคาอยู่ที่ 29,000 บาท หรือหากจะไปเมืองอื่นค่าบริการก็ไม่แพง ดังนั้นหากหักเรื่องของค่ารถหัวลากจาก สปป.ลาวไปจีนลงได้ก็จะลดต้นทุนการขนส่งได้มากกว่านี้

ส่วน นายยุทธพล ทวะชาลี รองประธานหอการค้าขอนแก่น ในฐานะผู้จัดการทั่วไป บริษัท สิทธิโลจิสติกส์ (สปป.ลาว) จำกัด กล่าวว่า ปัญหาต้นทุนค่าขนส่งผ่านรถไฟลาว-จีนที่มีหลายขั้นตอน ทั้งค่าดำเนินการปลายทาง-ค่ารถหัวลาก-ค่ายกตู้คอนเทนเนอร์ขึ้นลงใส่รถบรรทุกลงจากรถไฟ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมี “ค่ามัดจำตู้คอนเทนเนอร์” ค่าขนส่งพิธีการต่าง ๆ ทำให้ค่าขนส่งแพงขึ้นอีก และเมื่อมีการเปลี่ยนถ่ายใช้รถบรรทุกก็ยังมีปัญหาติดขัดจากนโยบาย Zero COVID ของจีนอีก ทำให้มีรถขนส่งตกค้าง เนื่องจากสามารถปล่อยรถได้เพียงวันละ 20 คัน การขนส่งล่าช้า เสี่ยงที่สินค้าเกษตรจะเน่าเสีย

ดังนั้นผู้ประกอบการจำเป็นต้องศึกษาเปรียบเทียบต้นทุนก่อนการขนส่ง เลือกเส้นทางที่เหมาะสม เพื่อจะสามารถบริหารจัดการส่งออกสินค้าได้