โบรกเกอร์แรงงานเถื่อนระบาดรับกฎหมายต่างด้าว

พ.ร.บ.แรงงานใหม่ มีจุดบอด บริษัทนำเข้าแรงงานเถื่อนผุดเกลื่อนเมือง รับลงทะเบียนแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงานแจงไร้กฎหมายควบคุม จี้ตรวจสอบ บริษัท-นายจ้าง เร่ขายโควตา หวั่นกระทบชื่อเสียงประเทศ อันดับเทียร์ไม่ขยับ ที่ประชุม ครม. สั่งเปิดศูนย์ One Stop Service 11 จุด บรรเทาปัญหาแรงงานขาด

แม้ปัญหาการขาดแรงงานอาจจะดูคลี่คลายลงไปบ้าง ล่าสุด บรรดานายจ้างและลูกจ้างได้ทยอยเดินทางไปขึ้นทะเบียน ตามศูนย์รับแจ้ง ที่กระทรวงแรงงานเปิดไว้รับรับถึง 101 แห่ง ทั่วประเทศ ซึ่งจะสิ้นสุดการลงทะเบียนในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ แต่อีกด้านหนึ่งก็กลับมีปัญหาใหม่เกิดขึ้นตามมา

โบรกเกอร์เถื่อนระบาด

แหล่งข่าวจากบริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ ที่ขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 เมื่อปลายเดือนมิถุนายน แต่ได้เลื่อนการบังคับใช้ออกไปเป็น 1 มกราคม 2561 เพื่อผ่อนผันและอำนาจความสะดวกให้แรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง ส่งผลภาพรวมของบริษัทนำเข้าคนต่างด้าวมีปริมาณงานที่มากขึ้น โดยเฉพาะงานเรื่องเอกสาร งานแก้ไขเอกสาร เป็นงานในลักษณะที่เป็นเอาแรงงานเข้าประเทศมาโดยไม่ถูกต้องมาทำให้ถูกกฎหมาย แต่หลังจากที่รัฐบาลมีประกาศผ่อนผันออกมาปริมาณก็เริ่มชะลอลง ส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากนายจ้างมีเวลาตั้งตัวและมีช่องทางมากขึ้น

ตอนนี้นายจ้างและผู้ประกอบการอยู่ระหว่างการเร่งปรับตัว ซึ่งอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ ได้รับผลกระทบน้อย เนื่องจากได้มีการปรับตัวมาเป็นระยะ ๆ แล้ว เช่น กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับสัตว์ปีก ผู้ส่งออกรายใหญ่ ได้มีการทำเอ็มโอยูแรงงานกับประเทศเพื่อนบ้านมาระยะหนึ่งแล้ว จึงไม่ค่อยมีผลกระทบหนัก จะกระทบหนักส่วนใหญ่เป็นบริษัทรายย่อย บรรดาเอสเอ็มอีซึ่งจะกระจายอยู่ในทุกภูมิภาค ธุรกิจโรงสี อุตสาหกรรมเกษตร รวมถึงบรรดาร้านอาหารที่ใช้พนักงานเป็นคนต่างด้าว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นปัญหาในตอนนี้ก็คือ มีบริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ ที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมการจัดหางาน หรือโบรกเกอร์เถื่อน เกิดขึ้นจำนวนมาก เนื่องจาก พ.ร.ก.แรงงานฉบับใหม่ ไม่ได้เข้ามาควบคุมในส่วนนี้ แต่จะควบคุมเฉพาะบริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ ที่ขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจำนวน 81 บริษัท และโบรกเกอร์เถื่อนเหล่านี้ก็จะเรียกค่าบริการที่สูง คือ ตั้งแต่ 9,000-12,000 บาท จากปกติที่แรงงานต่างด้าวจะเสียค่าใช้จ่ายเพียง 2,360 บาท และเนื่องจากโบรกเกอร์เหล่านี้ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง เวลาเกิดปัญหาขึ้นหรือเกิดมีการหลอกลวงและมีความเสียหายเกิดขึ้นก็จะไม่สามารถตรวจสอบหรือตามหาคนมารับผิดชอบได้

นอกจากที่เป็นคนไทยแล้ว ยังมีชาวเมียนมาจำนวนหนึ่งที่แผงตัวเข้ามาทำเป็นโบรกเกอร์ในลักษณะนี้ด้วย และส่วนมากจะเปิดบริษัทดำเนินการกระจายอยู่ในหลาย ๆ พื้นที่ไม่ว่าจะเป็นย่านพระประแดง มหาชัย ปทุมธานี นนทบุรี

“กระทรวงแรงงาน และกรมการจัดหางานเองก็รับทราบปัญหานี้ดี แต่ก็บอกว่าทำอะไรไม่ได้ และให้เหตุผลเพียงว่า ไม่มีกฎหมายบังคับหรือควบคุม”

โควตาแรงงานมีปัญหา

ขณะที่แหล่งข่าวจากบริษัทนำคนต่างด้าวอีกรายหนึ่ง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นอกจากนี้ ที่ผ่านมายังมีปัญหาเรื่องของการพิจารณาโควตาให้กับนายจ้างที่ต้องการใช้แรงงานต่างด้าว เนื่องจากการพิจารณาให้โควตาของนายทะเบียนที่ไม่มีมาตรฐานและไม่ได้พิจารณาจากข้อเท็จจริง ตัวอย่างเช่น ที่ผ่านมา มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ขายสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยื่นขอโควตาจำนวน 1,000 คน แต่นายทะเบียนให้นำเข้าได้เพียง 200 คน ตรงกันข้ามบริษัทขนาดเล็กที่ใช้แรงงาน 50-60 คน แต่ยื่นขอโควตาไป 200 คน นายทะเบียนก็อนุมัติโควตา 200 คน และบริษัทดังกล่าวก็นำโควตาแรงงานส่วนเกินที่เหลือไปขายต่อ

“เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้บุกไปจับกุมแรงงานเถื่อนที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งบริษัทนี้ทำธุรกิจรีไซเคิลอุปกรณ์อีเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กยื่นขอโควตาและนำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้ามาจำนวนหนึ่ง หลังจากที่นำเข้าแรงงานไปลงที่โรงงานแล้วก็เอาส่วนที่เหลือก็เอาไปขายต่อให้กับผู้ที่ต้องการใช้แรงงานต่างด้าว ปัญหาที่เกิดขึ้น หากกระทรวงแรงงานยังไม่เข้ามาดูแลหรือเร่งแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวก็จะกลับไปเหมือนเดิม และจะต้องมานั่งแก้ปัญหาอีกมากมาย ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลได้กระตุ้นและผลักดันให้นายจ้างต้องทำให้ถูกต้อง หน่วยงานราชการเองก็ต้องปฏิรูปด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริง หากไม่แก้ไขอาจจะส่งผลกระทบกับเรื่องเทียร์ได้” แหล่งข่าวกล่าว

เปิดศูนย์ One Stop Service

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า เพื่อเป็นการแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลนในช่วงเวลานี้ รัฐบาลมีมาตรการให้กระทรวงแรงงานดำเนินการเพิ่มเติม โดยตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค.-7 ส.ค. 2560 ให้นายจ้างและลูกจ้างเดินทางไปแจ้งข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง โดยนายจ้างแจ้งว่ามีลูกจ้างอยู่กี่คนทำงานในตำแหน่งใดบ้างเพื่อเก็บข้อมูลไว้ ที่สำนักงานจัดหาแรงงานในจังหวัดต่าง ๆ และใน กทม. 11 จุดประกอบด้วย 1.กระทรวงแรงงาน 2.ไอทีสแควร์ หลักสี่พลาซ่า ถ.แจ้งวัฒนะ 3.กรมยุทธศึกษาทหารบก ตรงข้ามสถานีรถไฟสามเสน 4.สวนกีฬา รามอินทรา เขตบางเขน 5.ธัญญาพาร์ค เขตสวนหลวง 6.หอประชุม มหาวิทยาลัยกรุงเทพสุวรรณภูมิ เขตลาดกระบัง 7.สถานีขนส่งสายใต้ ชั้น 2 เขตตลิ่งชัน 8.กองความปลอดภัยด้านแรงงาน เขตตลิ่งชัน ตรงข้าม สน.ตลิ่งชัน 9.อาคารสโมสรวังนันทอุทยาน กองทัพเรือ เขตบางกอกน้อย 10.สำเพ็ง 2 พาร์ค เขตบางแค 11.ศูนย์กีฬาบางขุนเทียน เคหะชุมชนธนบุรี 3 ถนนพระราม 2 เขตบางขุนเทียน

กัมพูชา-พม่าไม่ต้องกลับประเทศ

พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า หลังจากแจ้งเสร็จเรียบร้อย จะมีการเปิดศูนย์ One Stop Service สำหรับคนกัมพูชา และเมียนมา ที่เข้าเมืองมาโดยผิดกฎหมายเดิมจำเป็นต้องกลับประเทศต้นทาง แต่กระทรวงแรงงานได้เจรจากับประเทศต้นทางให้สามารถส่งเจ้าหน้าที่มาตั้งศูนย์ร่วมกับเจ้าหน้าที่ไทยในประเทศไทยได้ แรงงานต่างด้าวกัมพูชาและพม่าไม่จำเป็นต้องกลับไปยังประเทศต้นทาง ซึ่งศูนย์ดังกล่าวสามารถตรวจสัญชาติ ตรวจดวงตราวีซ่า ตรวจสุขภาพ อนุญาตให้ทำงานได้ในประเทศไทย แต่สำหรับประเทศลาวยังหาข้อตกลงไม่ได้ แรงงานลาวยังต้องกลับไปดำเนินการที่ประเทศต้นทางตามเดิม แต่ทั้งนี้ หากเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และนายจ้างไม่มีการมาแจ้งข้อมูลภายในวันที่ 24 ก.ค.-7 ส.ค. 2560 แม้จะมีศูนย์ One Stop Service ก็ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะไม่ได้แจ้งความประสงค์เอาไว้ แรงงานต่างด้าวจะต้องกลับไปทำเรื่องที่ประเทศต้นทางตามเดิม อย่างไรก็ตาม ศูนย์ One Stop Service สำหรับคนกัมพูชา และพม่า จะตั้งอยู่จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561 เท่านั้น