อาหารสัตว์เลี้ยงดาวรุ่งส่งออก หันปรับสูตรใช้ชิ้นส่วนไก่หนุนดีมานด์โต 3%

อาหารสัตว์ไทยผงาดขึ้นท็อป 3 โลก โตก้าวกระโดดโกยรายได้แสนล้านปีกระต่าย ดันวัตถุดิบ by product “ไก่” ขึ้นแท่นดาวรุ่งครัวของโลกเติบโต 3% กรมปศุสัตว์เร่งหนุนจัดตั้งศูนย์บริการด้านอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเบ็ดเสร็จ อำนวยความสะดวกครบวงจร หนุนอาหารสัตว์ลดก๊าซมีเทนรับเทรนด์โลก

นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ปี 2566 สินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงจะเป็นสินค้าโปรดักต์แชมเปี้ยนของไทย เพราะยังมีโอกาสเติบโตและสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกมาก ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยขยายโอกาสทั้งในประเทศและตลาดโลก เนื่องจากอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยมีคุณภาพมาตรฐาน โดยเฉพาะอาหารสัตว์เลี้ยงชนิดเปียก ตอบโจทย์ตลาดผู้เลี้ยงสัตว์ที่ให้ความนิยมเลือกอาหารที่มีคุณภาพให้กับสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะอาหารแมวเติบโตอย่างก้าวกระโดด 15%

“เทรนด์ความนิยมการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเพิ่มมากขึ้น พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปในช่วงโควิด ส่งผลให้ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงเติบโตสูง ที่ผ่านมาไทยสามารถส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงได้ 6 หมื่นล้านบาท (พ.ย. 65) ตลาดหลักคือ อเมริกา ยุโรป จีน ปัจจุบันส่งออกเป็นอันดับ 3 ของโลก และอาจจะขยับขึ้นเป็นอันดับ 1 ในอนาคต และหากนับรวมอาหารสัตว์ อย่างอาหารไก่และอาหารวัวซึ่งมีการส่งออกจำนวนมาก คาดว่าปี 2565 จะมีมูลค่าส่งออกรวม 1 แสนล้านบาท”

นายสมชวนกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยได้หันมาใช้วัตถุดิบหลักคือไก่ จากเดิมที่ส่วนใหญ่เน้นใช้วัตถุดิบที่เหลือจากการผลิต (by product) จากเศษปลาทูน่า เพราะไก่สามารถนำมาผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงได้ทุกชิ้นส่วนและมีมูลค่าสูง หลายโรงงานในประเทศไทยขยายกำลังผลิต แตกไลน์ธุรกิจนำวัตถุดิบชิ้นส่วนไปทำเรื่องของอาหารสัตว์เลี้ยง (Pet food) จึงส่งผลให้แนวโน้มความต้องการสินค้าไก่เพิ่มขึ้น คาดว่าจะเติบโต 3% เพราะไม่เพียงแต่เป็นสินค้าส่งออกมูลค่าแสนล้านบาท แต่ยังเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงด้วย

ทั้งนี้ ปัจจุบันการผลิตไก่ของไทยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 70% ขณะที่การใช้ภายในประเทศสัดส่วน 30%

“ไก่จะยังเป็นดาวเด่นปี 2566 เพราะปริมาณความต้องการบริโภคของตลาดญี่ปุ่น จีน และสหภาพยุโรป มีแนวโน้มนำเข้าเนื้อไก่จากไทยเพิ่มขึ้น ตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ และการขึ้นทะเบียนโรงงานเพิ่มขึ้นของญี่ปุ่น มาเลเซีย ซึ่งแม้ปีที่ผ่านมาวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน การส่งออกไก่ได้รับอานิสงส์ เนื่องจากยูเครนไม่สามารถส่งออกเนื้อไก่และข้าวสาลีได้

ทำให้ราคาเนื้อไก่ในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งสินค้าไก่เนื้อสามารถเพิ่มปริมาณได้เร็ว มีกำไร ต่างจากวัวนม ไก่ไข่ ที่ต้นทุนสูงและรอบการเลี้ยงนานกว่า เช่นเดียวกับดาวเด่นอาหารสัตว์เลี้ยง มีโอกาสเติบโตและสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกมาก ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยขยายตลาดทั้งในประเทศและตลาดโลก โดยจุดเด่นจากอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยมีคุณภาพมาตรฐาน”

สำหรับแผนการส่งเสริมการผลิตอาหารสัตว์นั้น ล่าสุดกรมได้จัดตั้งศูนย์บริการด้านอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเบ็ดเสร็จ (Pet Food Service Center) เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ เกษตรกร และประชาชนทั่วไปที่มาขอรับบริการด้านอาหารสัตว์เลี้ยงแบบครบวงจร ทั้งการขออนุญาตขึ้นทะเบียน การออกใบรับรอง การออก Health Certificate การส่งออก ภายใต้ คุณภาพ มาตรฐาน และเงื่อนไขที่ประเทศคู่ค้ากำหนด

ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้ถือเป็นโอกาสของเกษตรกรไทยและภาคธุรกิจที่จะรักษาตลาดเดิมไว้และเร่งพัฒนาเพื่อขยายตลาดทั่วโลก และยังจัดตั้งศูนย์บริการอาหารสัตว์กรมปศุสัตว์ (Feed Center) ตลอดจนมีทีมหน่วยบริการจัดการอาหารสัตว์เคลื่อนที่ Feeding Management Mobile Unit (FMMU) ให้คำแนะนำการจัดการด้านอาหารสัตว์ เพื่อการจัดการอาหารสัตว์ที่มีความแม่นยำ (precision feeding) ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนได้อีกด้วย

ขณะเดียวกัน ในส่วนของการผลิตอาหารสัตว์ (ปศุสัตว์) ที่ผ่านมามีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับสูงขึ้น และการใช้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งกรมปศุสัตว์ให้ความสำคัญกับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด และจากการรายงานพบว่าภาคปศุสัตว์มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 5% ของปริมาณการปล่อยก๊าซท้้งหมด ทางกรมได้มีแนวทางส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจ Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG ในกระบวนการผลิตและการจัดการ เพื่อไม่ให้ของเสียที่ปล่อยออกมาเป็นสาเหตุก๊าซมีเทน


โดยได้เริ่มต้นที่การนำมูลสัตว์ในฟาร์มมาทำไบโอแก๊ส เพื่อให้เป็นพลังงานสะอาด ลดต้นทุนด้านพลังงานได้บางส่วน และยังดำเนินการควบคู่ไปกับการวิจัยอย่างต่อเนื่องเรื่องอาหารสัตว์ เพื่อเป็นตัวช่วยในระบบย่อยอาหารของสัตว์ โดยเฉพาะวัว หากเกิดก๊าซจากระบบย่อยที่ไม่สมบูรณ์จะสร้างก๊าซมีเทนไม่น้อย อีกทั้งได้แนะนำเกษตรกรใช้อาหารสัตว์ที่มีส่วนผสมของโปรไบโอติกส์ที่ย่อยง่ายและเป็นประโยชน์ต่อสัตว์ ปศุสัตว์ แทนการให้กินอาหารทั่วไป