“ชนินทร์ ชลิศราพงศ์” แจ้งเกิด ส.การค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย

ชนินทร์ ชลิศราพงศ์
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

กระแส Pet Humanization หรือการดูแลสัตว์เลี้ยงในระดับเดียวกับสมาชิกในครอบครัวมาแรงมาก ช่วงการระบาดโควิด-19 ทำให้ผู้คนหันมาเลี้ยงสัตว์เพื่อคลายเหงาระหว่างล็อกดาวน์ หนุนให้ธุรกิจสัตว์เลี้ยงเติบโตอย่างต่อเนื่อง

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์” นายกสมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย (Thai Pet Food Trade Association : TPFA) ในโอกาสเปิดตัวสมาคมอย่างเป็นทางการ ถึงทิศทางอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงไทยที่กำลังก้าวสู่อันดับ 3 ขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลก

ที่มาการตั้ง “สมาคม”

อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยง พัฒนาใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มีการลงทุนเพิ่มต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการมีการลงทุนสร้างโรงงานและเพิ่มกำลังผลิตโดยได้รับการส่งเสริมของบีโอไอ คิดเป็นมูลค่ารวมกันกว่า 1 หมื่นล้านบาท

ซึ่งสมาคมจัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2562 แต่จากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 จึงไม่ได้เปิดตัว แต่วันนี้จึงเป็นวาระเหมาะสมเปิดตัวสมาคมอย่างเป็นทางการ ตอนนี้มีสมาชิก 10 บริษัท ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตที่ต่อยอดจากอุตสาหกรรมทูน่า ใช้วัตถุดิบ by product จากทูน่าที่ไทยเป็นผู้ผลิตเป็นอันดับ 1 ของโลกอยู่แล้ว และวัตถุดิบจากไก่ 2 แสนตันต่อปี

นอกจากนั้นก็นำเอาผลผลิตทางการเกษตรที่ไทยมีอยู่มากมายมาผลิต จึงมีการใช้วัตถุดิบจากในไทยเองถึง 95% ที่สำคัญคือ เราใช้วัตถุดิบหลากหลายชนิดระดับ human grade มาผลิต ซึ่งช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตของเกษตรกร และชาวประมงในประเทศ และสร้างทีมงานผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาสูตรอาหารสำหรับสุนัขและแมว และบรรจุภัณฑ์ให้ตรงความต้องการตลาด

สินค้าคุณภาพสูงผ่านมาตรฐานสากลต่าง ๆ ขยายกำลังการผลิต สร้าง innovation ต่าง ๆ ทั้งรับจ้างผลิตและมีแบรนด์ตัวเอง จึงได้รับความเชื่อมั่นและความไว้วางใจจากลูกค้าทั่วโลก

สมาคมมีพันธกิจส่งเสริมและผลักดันนโยบาย 3 ด้าน ได้แก่ การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ความปลอดภัยอาหารมาตรฐานทางจริยธรรมและสิทธิมนุษยชน ตลอดจนการเจรจาการค้าและวิชาการให้เกิดการยอมรับ และแก้ไขปัญหาทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

การทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้ตลอด supply chain ให้เติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการนำเอาแนวนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) มาใช้

ธุรกิจดาวรุ่งสวนกระแส ศก.

“ต้องบอกเลยว่า สถานการณ์โควิด-19 เป็นที่มาของโอกาสการเติบโตของสมาคมจริง ๆ เพราะคนอยู่บ้านมากขึ้น อยู่บ้านแล้วเหงาทำให้เลี้ยงสัตว์มากขึ้น ที่น่าสนใจอีกข้อคือ แม้สภาพเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้โสด แต่งงานลดลง มีลูกน้อยลง น้องหมาน้องแมว

จึงเป็นหนึ่งในสมาชิกของครอบครัวมากขึ้น ไม่น่าเชื่อเลยว่า อาหารคนแพงขึ้นแค่ไหน อาหารน้องหมาน้องแมวยิ่งแพงกว่า แต่คนเลือกที่จะจ่ายแพงและเลือกอาหารที่ดีที่สุดให้กับสัตว์เลี้ยง วันนี้ประชากรสัตว์เลี้ยงน่าจะอยู่ประมาณ 15-20% ของประชากรโลก มีสัตว์เลี้ยงในโลกกว่าพันล้านตัว ผมคิดว่านี่เป็นโอกาสที่ดีของธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงไทย”

อดีตอุตสาหกรรมการผลิตและการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยไม่ได้เติบโตมากขนาดนี้ แต่ปัจจุบันกำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยการส่งออกขยายตัวในระดับตัวเลขสองหลักในทุกเดือน ติดต่อมา 35 เดือน หรือเกือบ 3 ปีต่อเนื่อง หลัก ๆ เลยคือผลจากโควิด

มีผลทำให้คนอยู่บ้าน และเลี้ยงสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว นก และอื่น ๆ เพื่อเป็นเพื่อนคลายเหงา ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยเราเป็นผู้ผลิตอันดับ 3 ของโลก รองแค่ 2 ประเทศคือ เยอรมนีและอเมริกา เท่านั้น

แนวโน้มส่งออกปี’65

ปีนี้ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงเติบโตสูงมาก แค่ 9 เดือนแรกของปีนี้ ส่งออกแล้ว 74,975.65 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.41% ปัจจุบันส่งออกไป 80 ประเทศทั่วโลก โดยตลาดส่งออกสําคัญ คือ สหรัฐอเมริกา 21,520.36 ล้านบาท (+59.11%) ญี่ปุ่น 8,411.20 ล้านบาท (+6.56%) และอิตาลี 4,821.45 ล้านบาท (+52.59%)

โดยเป็นสินค้าอาหารสุนัขและแมว 65,279.63 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41.05% อาหารสัตว์อื่น ๆ 9,696.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.06%

ยังไม่ครบปี เราสามารถทำเงินให้ประเทศแล้วถึง 75,000 ล้านบาท มากกว่าช่วงที่ผ่านมาทั้งปี เป็นอัตราเติบโต 34% และขยายตัว 37 เดือนต่อเนื่อง 3 ปีเต็ม คาดว่าในปีนี้ เราจะสามารถส่งออกมากกว่า 1 แสนล้านบาทแน่นอน ส่วนปีหน้าก็น่าจะใกล้เคียงปีนี้

ซึ่งก็ยังเป็นตัวเลข 2 หลัก เราเองก็ตั้งเป้าหมาย เนื่องจากแนวโน้มตลาดโลกดี และอุตสาหกรรมของเราโตไปได้เรื่อย ๆ ประเทศไทยจะเป็นอันดับ 1 ของโลก ภายใน 5 ปี

ส่งออกโตต่อเนื่องสองหลัก

จากการคาดการณ์ที่กังวลกันว่า ปีหน้า 2566 จะเจอภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) ที่ตอนนี้คู่ค้าหลัก ตลาดสหรัฐ ที่เจอทั้งวิกฤตเงินเฟ้อ ก็คิดว่าภาพรวมตลาดโลกอาจจะเบาลงบ้าง แต่ผมมองว่าเป็นสิ่งที่แปลกมาก ว่าคนไม่ลดค่าใช้จ่ายอาหารสัตว์เลี้ยงเลย เพราะเขารักเหมือนลูก ยังไงก็ต้องจ่าย เพราะเขากลัวว่าถ้าอาหารไม่ดีก็เข้าโรงพยาบาล ยิ่งจ่ายหนักกว่า

หากมองสัดส่วนการเลี้ยง ตลาดน้องหมาน้องแมวโตในสัดส่วนใกล้เคียงกัน เพียงแต่น้องหมาทานเยอะกว่า แต่ด้วยเทรนด์การเลี้ยงแมว การเลี้ยงน้องเเมวจึงมีมากขึ้น ก็ขยับขึ้นมาใกล้เคียงกันเเล้ว ต้องบอกว่าตลาดมีข้อแตกต่างตรงนี้ ตลาดของน้องแมวตอนป่วย การรักษาแพงกว่า ส่วนน้องหมา ปริมาณอาหารเยอะกว่า ตัวใหญ่ ดังนั้นก็มีสัดส่วนที่ต่างกันนิดหนึ่ง

“แนวโน้มการเติบโตของสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทยยังสามารถขยายตัวได้เป็น double digit อีกหลายปี ปีนี้ดูจากตัวเลข 9 เดือน น่าจะส่งออกได้มากกว่า 1 แสนล้านบาท ส่วนในประเทศน่าจะ 3-4 หมื่นล้านบาท เฉพาะอาหารสัตว์เลี้ยงเท่านั้น ไทยมีข้อได้เปรียบจากต้นทุนและคุณภาพ

ทั้งยังได้รับการยกเว้นภาษีตามข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ซึ่งธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับสัตว์เลี้ยง นอกจากอาหารสัตว์เลี้ยงแล้ว หากรวมอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งหมด น่าจะรวม 3 แสนล้าน และจะโตขึ้นทุกปี ทุกเดือน

ส่วนอาหารสัตว์เลี้ยงตอนนี้ตลาดอีเมอร์จิ้งมาร์เก็ตมาแรง เป็นตลาดใหม่อย่าง จีน ตะวันออกกลาง จากที่ก่อนหน้านี้ เขายังไม่เจอสินค้าไทยเพราะเดินทางมาดูสินค้าไม่ได้

ต่อไปนี้จะร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ไปโปรโมต แม้ยังไม่โปรโมตมาก เขาก็รู้จักมากอยู่แล้ว จึงคิดว่าโอกาสยังมีอีกมาก เพราะการเติบโตสูง ส่วนปัจจัยเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็น ต้นทุนการผลิต ตอนนี้ถือว่าไม่มีสิ่งที่น่าห่วง ยิ่งอัตราค่าเงินบาทอ่อน 38 บาท ก็ยิ่งช่วยเข้าไปใหญ่”

ขอรัฐหนุน “บีโอไอ”

เรากำลังขยายกำลังการผลิต เพราะทุกกลุ่มโรงงานกำลังผลิตล้น เต็มแล้ว ดังนั้น ขอให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมนี้ให้มากขึ้น เพราะจะเห็นว่าอัตราการขยายตัวของอุตสาหกรรมนี้ ตัวเลขเติบโตไม่ตํ่ากว่าสองหลักต่อปี

ขอให้ให้สิทธิประโยชน์การลงทุนเพื่อให้สามารถขยายต่อโรงงาน เนื่องจากต้นทุนเดิมคือโรงงานปลาทูน่า ซึ่งไทยเป็นเบอร์ 1 เพื่อขยายต่อการลงทุนเกี่ยวเนื่อง อาหารสุนัขและแมวเป็นอันดับต้นของโลกในอนาคต ที่ไทยเองบริษัทใหญ่ ๆ ก็ลงทุนด้านนี้

ขณะเดียวกัน สมาคมคุยกับท่านรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ว่า ปีหน้าต้องขยับงาน Pet Fair จากการเชิญ 50 ประเทศเป็น 100 ประเทศ ขยายการเจรจาคู่ธุรกิจ รองรับการลงทุนให้ใหญ่ขึ้น โดยทำงานกับภาครัฐ ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย